อ.จุฬาเผยเอกสารฮอลันดาเล่า ‘ก่อนกรุงแตก’ คนแห่หนีไปกัมพูชา ระบุพม่า ‘เยือกเย็น’

เมื่อวันที่ 15 กันยายน เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 ในหัวข้อ ‘250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของงานคึกคักอย่างมาก โดยมีคนในแวดวงวิชาการทยอยเดินทางมาถึงสถานที่จัดงานตั้งแต่ช่วงก่อนเวลาเริ่มงาน ทั้งนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และบุคคลทั่วไป รวมถึงนางแมรี โจ. แบร์นาร์โด-อารากน เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย

ในการอภิปรายหัวข้อ “เสียกรุงศรีอยุธยา สถาปนากรุงธนบุรี” พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถ้วย กล่าวว่า การมองประวัติศาสตร์อยุธยา อย่ามองเฉพาะประเทศไทย แต่ต้องดูความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วย สิ่งที่อยุธยาสูญเสียหลังพ่ายแพ้แก่กองทัพพม่าไม่ใช่เพียงซากปรักหักพัง แต่เป็นอารยธรรมที่งดงามตระการตา นอกจากนี้ได้กล่าวถึงผลกระทบจากเหตุการณ์เมืองจีนสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งทำให้กลุ่มคนจีนลี้ภัยมาตั้งรกราก เกิดการขาดแคลนสินค้าจีน รวมถึงมีการค้าขายกับกลุ่ม ‘ล้มชิงกู้หมิง’ อีกทั้งสำเภาสยามที่ค้าขายในระบบบรรณาการก็ได้ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ ต่อมาในยุคพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบว่าอยุธยามีการรับคนจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยมีการส่งเครื่องกระเบื้องจีน 2,288 ชิ้น ไปพร้อมบรรณาการไปฝรั่งเศส ซึ่งในยุคนั้นสยามคือ ‘มหานครแห่งบูรพา’ ของที่ส่งไปเป็นสินค้านานาชาติ มีของจากดินแดนต่างๆ มากมาย

ผศ. ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงหลักฐานจากเอกสารฮอลันดา โดยระบุว่า พ่อค้าช่วยส่งผ่านความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมไทยได้มาก สิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในปีท้ายๆของกรุงศรีอยุธยาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ พม่า พม่าทำทุกอย่างอย่างเยือกเย็น โดยสยามไม่ได้พยายามหยุดยั้ง ในขณะที่พม่าติดปืนบนเรือ ตั้งค่ายเตรียมการโจมตี ต่อมา ได้ทำลายหมู่บ้านแถวปากแม่น้ำ โกดังสินค้าของบริษัทวีโอซี ทำให้สูญเสียสินค้าจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเล่าอีกว่าผู้คนมากมาย ทั้งเจ้านายและคนธรรมดาหอบข้าวของหนีไปกัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image