ตั้งโต๊ะรับต่างด้าวทำงานเรือประมงอีก3หมื่น เปิดทางควบใบอนุญาตเรือพาณิชย์

ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ..ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งออกตาม มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ตามร่างประกาศกรมประมงจะเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวภาคการประมง เพื่อให้สามารถทำงานในเรือประมงได้ หลังจากมีแรงงานประมงไม่สามารถจดทะเบียนของกระทรวงแรงงานได้ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เบื้องต้นผู้ประกอบการประมงนายจ้างและลูกจ้าง สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคม 2560 ที่สำนักงานประมงจังหวัด และสถานที่กรมประมงกำหนดใน 22 จังหวัดชายทะเล โดยนายจ้างที่ลงทะเบียนจะต้องระบุจำนวนแรงงานที่ต้องการ ตำแหน่งงาน สิทธิประโยชน์ด้วย

ขณะที่ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน 2560 จะเปิดให้แรงงานพิจารณาตำแหน่งงานที่ต้องการ และหากมีการตกลงจ้างงาน ต้องทำสัญญาจ้าง ตรวจโรค และจัดทำหนังสือคนประจำเรือ ช่วงเดียวกัน คาดว่าจะมีการเจรจาตกลงทำสัญญาจ้างกับแรงงานต่างด้าวไม่น้อยกว่า 30,000 คน จะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในเรือประมงได้ระดับหนึ่ง จากข้อมูลสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ระบุขณะนี้ขาดแรงงานประมาณ 74,000 คน

นายอดิศร กล่าวว่า ภายในเดือนตุลาคม กระทรวงเกษตรฯ จะเริ่มใช้หลักเกณฑ์ให้มีการควบรวมใบอนุญาตในการทำประมงพาณิชย์ จากเดิมไม่เคยมีมาก่อน เพื่อสร้างสมดุลของทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล สมดุลของจำนวนเรือทำประมง และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่มีจำนวนวันทำประมงน้อยต่อปี ลดความเสี่ยงทำประมงผิดกฎหมาย และไม่ให้เรือจับสัตว์น้ำเกินกว่าที่ผลิตได้ หลักการคือ เปิดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่ตรวจวัดเรือแล้วมีขนาดเปลี่ยนแปลงไป สามารถนำปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตของเรือประมงลำอื่นมาควบรวมกับปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตของใบอนุญาตฯของตนเอง หรือใบอนุญาตฯของผู้อื่นได้

“มีเงื่อนไขคือ 1.การควบรวมใบอนุญาต เป็นการควบรวมปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงจะต้องทำในกลุ่มสัตว์น้ำเดียวกัน 2.ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ 1 ใบ สามารถกระจายปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตให้กับใบอนุญาตฯ เพื่อนำไปควบรวมได้หลายใบ 3.เรือประมงที่ใบอนุญาตฯ ถูกนำไปควบรวมแล้ว ต้องถูกนำไปทำลาย ”

Advertisement

นายอดิศร กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีเรือประมงพาณิชย์ที่ขึ้นทะเบียน 8,655 ลำ (ยกเว้นเรือปั่นไฟ) เมื่อตรวจวัดเรือแล้วพบว่า มีเรือ 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1.เรือที่มีขนาดเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น ไม่เกิน 10% มี 7,807 ลำ ซึ่งมีขนาด 10 -100 ตันกรอสส์ ซึ่งปีนี้จะไม่ถูกลดวันทำการประมง ส่วนปี 2561-62 จะได้รับวันทำการประมงสูงสุด ส่วนกลุ่ม 2.เป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเกิน 10% จำนวน 848 ลำ ซึ่งปีนี้จะถูกลดวันทำการประมง หากต้องการวันทำการประมงสูงสุด ต้องนำเรือไปควบรวม คือไปขอซื้อใบอนุญาตจากเรือกลุ่มที่ 1 ซึ่งจะได้ใบอนุญาตและปริมาณสัตว์น้ำที่ได้รับอนุญาตจากเรือนั้นๆ มาบวกเพิ่มให้เรือที่ควบรวมได้มีวันทำประมงสูงสุดตามข้อกำหนด หากเรือประมงพาณิชย์ไม่ประสงค์จะควบรวมก็สามารถทำการประมงตามวันทำการประมงที่ได้รับจัดสรรไว้ได้ แต่อาจส่งผลต่อการพิจารณาได้รับใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ในรอบที่จะมาถึง

นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่าช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ มีเรือประมง 3-4 พันลำต้องหยุดเดินเรือ เพราะขาดแรงงาน ทำให้ขาดเงินหมุนเวียนในระบบ ซึ่งเป็นรายได้รวมค่าใช้จ่ายของเรือประมง รวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ตรงนี้จะทำเศรษฐกิจฟื้นได้อย่างไร และเรือประมงขาดแรงงานประมาณ 74,000 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image