สุจิตต์ วงษ์เทศ : สำนักชี ของราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์ ที่วัดเตว็ด อยุธยา

แผงนิทรรศการลวดลายปูนปั้นหน้าบันกุฏิวัดเตว็ด อยุธยา กำลังจัดแสดงขณะนี้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา โดยแนวคิดของ นายประทีป เพ็งตะโก (รองอธิบดีกรมศิลปากร) และฝีมือนายฤทธิเดช ทองจันทร์ (นายช่างศิลปกรรม ชำนาญการพิเศษ)

ลายปูนปั้นแบบฝรั่งบนหน้าบันกฏิวัดเตว็ด อยุธยา ซึ่งเป็นวัดขนาดไม่ใช่เล็กๆ อยู่ไม่ไกลจากวัดพุทไธศวรรย์ บริเวณเวียงเล็ก (เวียงเหล็ก?) ย่านปทาคูจาม

ทำให้คล้อยตามคำอธิบายของนักปราชญ์ ว่าวัดเตว็ดเป็นสำนักชีของกรมหลวงโยธาเทพ ราชธิดาองค์โปรดของสมเด็จพระนารายณ์

วัดร้างริมคลองคูจาม ชาวบ้านเรียกวัดเตว็ด

วัดเตว็ด ทุกวันนี้เป็นโบราณสถานวัดร้างอยู่ริมคลองคูจาม (ชาวบ้านเรียกคลองประจาม) ย่านปทาคูจาม (ไม่ไกลจากวัดพุทไธศวรรย์) ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของเจ้านายรัฐสุพรรณภูมิตั้งแต่ยุคก่อนอยุธยา (ก่อน พ.ศ.1893)

ชื่อวัดเตว็ด เป็นชื่อชาวบ้านเรียกขี้นเองเพราะไม่รู้ชื่อเดิมของวัด เนื่องจากเป็นคนกลุ่มใหม่จากที่อื่นโยกย้ายเข้ามาสมัยหลังมากแล้ว เมื่อเห็นเศษซากรูปปั้นต่างๆ และพระพุทธรูปเหมือนเจว็ด เลยเรียกเป็นเจว็ด, เตว็ด แต่ชื่อเดิมจริงๆ อย่างไรไม่พบหลักฐาน

Advertisement

เตว็ด (อ่านว่า ตะ-เหว็ด) หรือตระเว็ด, เจว็ด หมายถึงรูปผี หรือเทพารักษ์ที่อยู่ในศาลผี, ศาลพระภูมิ, หรือศาลเจ้า

กรมหลวงโยธาเทพ

กรมหลวงโยธาเทพ เป็นพระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์ มีบทบาทสำคัญมากในราชสำนักอยุธยา นักวิชาการมีงานวิจัยแล้วสรุปกว้างๆ จะยกมาดังนี้

“กรมหลวงโยธาเทพ ทรงเป็นหนึ่งในราชนารีจำนวนน้อยที่มีความสำคัญอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์อยุธยา พระนางดำรงพระชนม์อยู่ในช่วงสี่รัชสมัยในฐานะพระราชธิดา พระอัครมเหสี และพระราชชนนี ในพงศาวดารไทยมีการบรรยายถึงพระนางอยู่น้อยนิด

Advertisement

อย่างไรก็ดี ชาวฝรั่งเศสและดัตช์ที่พำนักอยู่กลับตรึงใจต่อพระนาง แม้พวกเขาจะไม่เคยพบพระนางตรงๆ พวกเขาก็ได้บันทึกข้อมูลอันไม่ปะติดปะต่อเอาไว้ แม้ข้อมูลจะกระจัดกระจายและบางเบา แต่ก็แสดงให้เห็นได้ว่าสตรีชั้นสูงของอยุธยาประสบกับข้อจำกัดของสถานะของพวกเธอ และยังต้องแสวงหาความเป็นไปได้ที่จะเข้าถึงโภคทรัพย์ ความรู้ และอำนาจอย่างไร”

[บทคัดย่อเรื่อง “กรมหลวงโยธาเทพ : พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์ กับเล่ห์เพทุบายในราชสำนักอยุธยา” ภาวรรณ เรืองศิลป์ เขียน, สุรเชษฐ์ สุขลาภกิจ แปล พิมพ์ในวารสารประวัติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 42 ฉบับสิงหาคม 2560-กรกฎาคม 2561 หน้า 47]

วัดตระเว็ด ของ น. ณ ปากน้ำ

น. ณ ปากน้ำ เรียกและสะกดว่า วัดตระเว็ด ตลอดทุกแห่งในหนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2510) โดยเชื่อว่าวัดนี้เป็นที่ประทับเมื่อบวชชีของเจ้านายสองพี่น้อง คือ กรมหลวงโยธาเทพกับกรมหลวงโยธาทิพ จะคัดมาให้อ่านพอสังเขปดังนี้

วัดตระเว็ด มีอาคารแบบฝรั่งยกพื้นไม้ ใต้ถุนสูง คนอยู่กันได้ เช่นเดียวกับตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ และวัดเจ้าย่าในคลองสระบัง อาคารที่เหลืออยู่เป็นแบบที่เรียกว่าทรงวิลันดา คือก่ออิฐถือปูนจากผนังขึ้นไปยันอกไก่ หน้าบันก่อปูน มีลายปูนปั้นแบบโรโคโค (Rococo) บ่งว่าได้รับอิทธิพลศิลปะฝรั่งเศสเต็มที่

วัดตระเว็ดนับเป็นชื่อชาวบ้านเรียก ด้วยเห็นมีเศษพระพุทธรูปหลงเหลืออยู่ ส่วนชื่อเดิมจะเป็นวัดอะไรไม่มีใครรู้ ดูภูมิฐานการก่อสร้าง การปั้นปูนอย่างวิจิตรพิสดาร อาจจะเป็นที่ประทับของกรมหลวงโยธาเทพ กรมหลวงโยธาทิพกระมัง ท่านบวชชีอยู่วัดพุทไธสวรรย์ สำนักนางชีย่อมจะอยู่ไปให้ไกลวัด

อีกประการหนึ่ง เหล่านางข้าหลวงและนางบริวารก็คงจะบวชตามเสด็จจนเป็นสำนักนางชีใหญ่โต สมัยนั้นคงจะรุ่งเรืองมาก ด้วยท่านเป็นเจ้านายที่พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์กลัวเกรงมาก สำนักนี้หลังจากสิ้นบุญของผู้เป็นเจ้าสำนักไปแล้ว ข้าหลวงและบริวารก็คงจะแตกฉานซ่านเซ็นไป และพระภิกษุสงฆ์คงจะมาครอบครองอยู่ต่อไป—-

เรื่องตำหนักกรมหลวงโยธาเทพกับกรมหลวงโยธาทิพนี้ มีผู้ชี้อีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ใกล้วัดมากเกินไป และไม่มีอะไรภูมิฐานให้เห็นว่าเป็นของโอ่อ่าใหญ่โต เทียบกับตรงวัดตระเว็ดแล้ว วัดตระเว็ดดูจะเหมาะสมมากกว่า

และข้อสำคัญ การตรวจดูแบบแผนศิลปะโบราณวัตถุที่นี่ ย่อมจะทำให้มีการอนุมานได้ว่า อาคารอุโบสถวิหารที่เรียกว่าทรงวิลันดานั้น ในสมัยต้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ยังมีลวดลายประดับหน้าบันเป็นแบบฝรั่งผสมไทย คือเป็นลายโรโคโค (Rococo) ผสมนกคาบ เห็นอิทธิพลค่อนไปทางฝรั่งมาก—-

อาคารวัดสมัยพระนารายณ์แท้ น่าจะดูแบบแผนวิหารศาลาการเปรียญจากวัดตองปุ ลพบุรี ซึ่งหน้าบันยังเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงลาดอยู่ เป็นแบบเรอนาซองส์ (Renaissance) ทรงวิลันดาแท้น่าจะเป็นวัดตระเว็ด หรือตำหนักกรมหลวโยธาเทพกับกรมหลวงโยธาทิพ กับอุโบสถวัดกลางสมุทรปราการ มากกว่าอย่างอื่น

[จบข้อความคัดจาก น. ณ ปากน้ำ]

กิจกรรมของมิวเซียม

นิทรรศการฯ วัดเตว็ด ที่จัดแสดงแผงเดียวในพิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา ผมเพิ่งเห็นโดยบังเอิญ (เพราะไม่รู้มาก่อนว่ามี) เมื่อเห็นแล้วอิ่มใจ เสมือนเปิดพื้นที่ย่านคลองคูจาม (พงศาวดารเรียกเมืองปทาคูจาม) ให้เป็นที่รับรู้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม

นับเป็นความเคลื่อนไหวถูกต้องดีงามในยามที่รัฐราชการของไทยไม่ใส่ใจให้พิพิธภัณฑ์ทำงานแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลความรู้สู่สาธารณะ เท่ากับ “ยามไร้เด็ดดอกหญ้า แซมผม” ไปก่อน

แต่ขอให้เข้าใจด้วยว่าข้อมูลความรู้ไม่อยู่ด้านเดียวแค่ประวัติศาสตร์ศิลปะแบบอาณานิคมเท่านั้น ยังมีเศรษฐกิจการเมืองและสังคมเกี่ยวข้องอย่างสำคัญด้วย

ปัญหาอยู่ที่นักวิชาการและผู้บริหารกรมศิลปากรไปไม่ถึงความรู้ด้านอื่น จึงไม่ยอมทำความเข้าใจโลกกว้าง และจักรวาลอันไพศาล ทำให้สังคมไทยเสียโอกาส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image