‘กลินท์ สารสิน’ ชู ‘ท่องเที่ยว’ ต่อยอด ‘อีอีซี’

กลินท์ สารสิน

จะพาไปรู้จัก “กลินท์ สารสิน” ให้มากขึ้นกว่านามสกุลของเขา ที่คนต่างรู้จักว่าเป็นลูกชายคนโตของ พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตอธิบดีกรมตำรวจ

วันนี้ กลินท์Ž ยัง สวมหมวกŽ หลายใบดังเช่นหลายปีก่อน ในวัย 56 ปี แต่กายภาพยังกระฉับกระเฉง ดูอ่อนกว่าตัวเลขจริงหลายปี

ณ ที่ทำการของหอการค้าไทย ถนนราชบพิธ เราเริ่มต้นบทสนทนากับ กลินท์Ž ในเรื่องของอีอีซีหรือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คนที่ 24 ประธานบอร์ดการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวข้องกับแผนงานพัฒนาอีอีซี ซึ่งคณะนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นรวมกว่า 500 ราย เพิ่งเดินทางมาไทยพบปะนายกรัฐมนตรี นักธุรกิจไทย และลงพื้นที่เยี่ยมชมระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

Advertisement

ถาม: ในฐานะประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าฯ เข้าไปมีส่วนร่วมกับอีอีซีอย่างไรบ้าง และทำอย่างไรให้เกิดเป็นรูปธรรม แล้วการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องอะไรกับอีอีซี
กลินท์: เมื่อต้องการให้เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตขึ้น 5-6% ต่อปี ทำให้คนมีรายได้อยู่ที่ 15,000 บาทต่อคน จากตอนนี้ 5,000-6,000 บาท ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้เติบโตแบบ Inorganic (โตจากภายใน) จึงมีอีอีซีขึ้นมา โดยเรามีฐานอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรให้มีจุดแข็งแล้วแข็งเพิ่มอีกได้ไหม ดูว่าจุดไหนไม่ Competitive (ไม่สามารถแข่งขันได้) ก็ย้ายออกไป หรืออะไรเป็นของใหม่ๆ ก็สร้างขึ้นมา โครงการนี้สำคัญที่จะดึงดูดคนมาลงทุนบ้านเรามากขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เรื่องคนก็เปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตบ้านเราจะเน้นด้าน Service (บริการ) เพิ่มมากขึ้น ประเทศเจริญแล้วมีภาคบริการต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) 70-80% บ้านเราแค่ 52% เท่านั้นเองของจีดีพี ในอนาคตเราจะขยายการบริการอย่างไร การค้าบริการก็ต้องมา

ส่วน Manufacturing (ภาคการผลิต) ก็สำคัญ ส่วนที่เป็นทางด้านใช้แรงงานจะย้ายไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ดังนั้นภาคการผลิตที่บ้านเราเกิดขึ้นในอนาคตที่เป็นเทรนด์ก็จะมี Automate (โดยอัตโนมัติ) มากขึ้น ใช้เครื่องจักรมากขึ้น ใช้ Robot (หุ่นยนต์) มากขึ้น คนก็ต้องปรับเป็น Control (ควบคุม) เครื่องจักร ดังนั้น Challenge (ความท้าทาย) ของเรา คือทำอย่างไรจะ Transfer (โอนย้าย) คนจากด้านเกษตรกรรมไปด้านบริการ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มจากเกษตรกรรมไปบริการ หรือว่าจากโรงงานที่ใช้ Labor Intensive (แรงงานอย่างเข้มข้น) ไปภาคบริการ นี่เป็นโจทย์ของเรา

อีอีซีเป็นจุดที่เรามี Opportunity (โอกาส) เพิ่มมากขึ้น เป็นตัวสร้างงานทั้ง New S-Curve (อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ) และธุรกิจเก่าๆ ก็ดี ทางด้านการบริการก็ดี เป็นจุดที่ในอนาคตบ้านเราก็ผันตัวเองไปสู่ยุค 4.0 ปัจจุบันผมมีส่วนร่วมอยู่ใน 1 จาก 6 คณะอนุกรรมการของอีอีซี คือคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีอีซี และผมมีตำแหน่งอยู่ใน ททท. (ประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ก็มีส่วนได้วางแผนทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

Advertisement

ต้องกลับมาดูว่าการท่องเที่ยวกับหอการค้าฯเกี่ยวข้องกันอย่างไร ตอนนี้หอการค้าฯมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีเป็นเจ้าของโรงแรม ร้านอาหาร และมีสภาหอการค้าฯที่มีสมาคมการค้าต่างๆ เป็นสมาชิก เช่น สมาคมโรงแรม สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวและบริการ ก็ต้องมาวางแผนว่าทำอย่างไรที่จะเกิดจุดเปลี่ยนของด้านท่องเที่ยวให้ได้เมื่อเกิดอีอีซี จุดแรก คือโลจิสติกส์ ทำอย่างไรการเดินทางถึงกันสะดวก ภาครัฐมีโครงการอยู่แล้ว ทั้งรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิมาดอนเมือง และอู่ตะเภาปลายทางใกล้เมืองพัทยา ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงจะทำ Tram (รถราง) เชื่อมเข้าเมืองพัทยาจากรถไฟความเร็วสูง เป็นโมเดลที่ดูจากหลายแห่งในยุโรป เช่น กรุงปราก

จุดเปลี่ยนอีกแห่ง คือพัทยาใต้ ควรจะมี Pataya on Pier (เมืองท่าพัทยา) ทำคล้ายๆ กับ Pier 39 ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา หรือคล้ายเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นเมืองท่า เอาท่าเรือเก่ามาปรับปรุงเป็นที่ช้อปปิ้ง ร้านอาหารต่างๆ มีจุดเล่นดนตรี เป็นจุดที่คนต้องมาเที่ยว พักผ่อนและเป็นจุดเด่นของโลก นอกจากนี้ได้ Plan (วางแผน) ไว้ว่าทำอย่างไรมี Cruise Terminal (จุดล่องเรือ) จากแหลมบาลีฮายเข้าไปปลายสุดต่อออกไปอีก 50-100 เมตร น้ำจะลึก 12-15 เมตร ตรงนั้นเรือสามารถจอดได้ เป็นเรือครุยส์ เรือแฟร์รี่ข้ามฟาก เหล่านี้คือ Project (โครงการ) ใหญ่ สามตัวหลักนี้ Link (ต่อ) ไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ หรือไปสนามบินอู่ตะเภาได้

ในอนาคตหากมีเมืองใหม่เกิดขึ้นมา จะต้องมีอีกเมืองหนึ่งคือ Pataya MICE City (เมืองแห่งการจัดประชุมสัมมนาและนิทรรศการ) เป็นอีกเมืองที่อยู่ใต้เมืองพัทยาออกมา ตรงนั้นจะเป็นจุดที่มีคมนาคมสะดวกขึ้น จัดโซนนิ่งให้ดี ไม่ใช่สะเปะสะปะ โซนไหนเป็นโซนท่องเที่ยว โซนไหนเป็นโซนพักผ่อนจริงๆ นอกจากนี้อาจจะมีเมือง Wealthness (เมืองแห่งสุขภาพ) คนสามารถมาพักผ่อน มาทำสปา มาบำบัด ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งอยู่ใกล้ๆ สวนนงนุช เหล่านี้ยังสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออก จังหวัดระยอง จันทบุรี ที่มีสวนผลไม้จำนวนมาก โดยภาพรวมแล้วเป็นโครงการที่คิดว่าสำเร็จได้

 

ถาม: ขยายแผนท่องเที่ยวที่สอดรับกับอีอีซีไปหลายจังหวัด
กลินท์: ตอนนี้มีจังหวัดฉะเชิงเทรา จะเป็นเมืองท่องเที่ยวชุมชน วัฒนธรรมเก่าๆ ขณะเดียวกันบางแสนมี Tourist Education Center (ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว) ของ ททท. และเชื่อมต่อมายังแถวศรีราชาซึ่งมีสนามกอล์ฟ กีฬาทางน้ำ ขี่ม้า ขี่จักรยาน สำหรับกิจกรรมที่มีหลากหลายนี้ รองรับทั้งครอบครัว ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายนักธุรกิจอย่างเดียว ตอนนี้เราเล็งทำ B-Leisure Destination คือจุดหมายปลายทางที่รองรับการทำธุรกิจ ร่วมกับการท่องเที่ยวพักผ่อน แถวพัทยา พัทยาเมืองใหม่ แถวศรีราชาก็กะเป็น B-Leisure Destination

 

ถาม: ภาพรวมสมาชิกหอการค้าไทยตื่นตัวแค่ไหนกับอีอีซี
กลินท์: ก็ Alert (ตื่นตัว) มาก แต่มีคนตั้งคำถามว่าทำไมมุ่งแต่ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคอีสาน ไม่ดูเลยหรือ ผมก็มีหน้าที่สื่อสารให้สมาชิกได้ทราบ ภาครัฐจะบุกทางด้านอีอีซี แต่ละภาคจะเอาโอกาสนี้ไปต่อยอดอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ตัดพ้อต่อว่า นอกจากนี้ในปลายปีนี้เราจะมีจัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาคที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 26-28 พฤศจิกายนนี้ ก็จะมาพูดถึงในทางปฏิบัติว่าจะเชื่อม Value Chain (ห่วงโซ่คุณค่า) หลักของเราได้อย่างไร จะใช้งานนี้กระตุ้นให้สมาชิกรู้จักอีอีซีมากขึ้น Theme (แนวคิด) งานจะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วมทำในการพัฒนาประเทศ

 

ถาม: สมาชิกหอการค้าไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศและหอการค้าต่างประเทศ จะทำให้เขาเข้ามาร่วมมือ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากแผนที่จะเชื่อมโยงกับอีอีซีอย่างไร
กลินท์: เพิ่งได้ลงพื้นที่เยี่ยมฉะเชิงเทราและชลบุรี ก็เล่าให้เขาฟังว่าเราอยู่ในอีอีซีแล้วนะ การเปลี่ยนแปลงก็จะมีทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว เราก็สื่อสารว่าในอนาคตเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป ต้องเตรียมตัวยอมรับ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมนายกสมาคมการค้า ซึ่งเป็นสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ก็มีการเชิญคุณคณิศ (นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาอีอีซี) มาเล่าให้ฟังว่าแผนรัฐบาลมีอะไรบ้าง และนายกสมาคมการค้าต่างๆ มีส่วนร่วมอะไรได้บ้าง โดยนายกสมาคมการค้าก็จะไปสานต่ออีกทีหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งหอการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นสมาชิกของเรา ก็มีบทบาทเชื่อมกับหอการค้าของประเทศต่างๆ

ช่วงนี้หลายประเทศมาอีอีซีทั้งนั้น เช่น หอการค้าไต้หวันก็มาแล้ว หอการค้าญี่ปุ่นก็มา ดึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นมาด้วย ซึ่งมี 500 คน เป็นเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้บางบริษัทมีสำนักงานอยู่ในไทยอยู่แล้ว จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งในการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้หอการค้าเกาหลีก็พาคนมา ยุโรปก็พาคนมา หอการค้าเหล่านี้ก็มีส่วนร่วม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เขาสนใจลงทุนค่อนข้างหลากหลาย บางคนสนใจด้านกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพ ชิ้นส่วนยานยนต์ และทางด้านอาหาร ซึ่งใช้เป็น Hub และส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน

 

ถาม: สิ่งที่สมาชิกหอการค้าไทยต้องการให้มีการปลดล็อก หรือช่วยเหลือ เพื่อเอื้อต่อการค้าการลงทุนในอีอีซี
กลินท์: มีหลายอย่างที่เขาบอกมา ภาครัฐก็พยายามออกกฎระเบียบกันอยู่ เช่น ใบอนุญาต สิทธิประโยชน์ทางภาษี และดูเรื่องความปลอดภัย และเรื่องคน ซึ่งสำคัญมาก มาลงทุนแล้วคนพอหรือไม่พอ เราเตรียมคนหรือยัง เรื่องภาษามีไหม แล้วจะให้คนต่างชาติเข้ามาได้ไหม เปิดให้คนญี่ปุ่นเข้ามาเพิ่มได้ไหม เอาคนไทยพูดภาษาญี่ปุ่นได้ไหม เหล่านี้ก็มีการถามเข้ามา หรือเปิดโรงเรียน Train (ฝึกอบรม) ได้ไหม เราสามารถร่วมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดฝึกอบรมได้ไหม โดยที่ผ่านมาก็เปิดหลักสูตรการท่องเที่ยวการบริการแล้ว

 

ถาม: อีอีซีกับสิ่งแวดล้อม โจทย์ใหญ่ของการพัฒนาเมืองใหม่ มองอย่างไร
กลินท์: เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เราทำอะไรก็ตามต้องล้อไปกับมาตรฐาน เรื่องบำบัดน้ำเสีย การทิ้งขยะ ในอนาคตจะฝั่งกลบน้อยลงๆ มีโรงไฟฟ้าเผาขยะและทำออกมาเป็นไฟฟ้ามากขึ้น เป็นเรื่องที่ดี การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็น Top Agenda เวลาสร้างเมืองใหม่ มลภาวะทางเสียง มลภาวะต่างๆ ต้องดูด้วย การจัดโซนนิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่บาร์เบียร์ทั่วเมือง หากจัดโซนนิ่งได้ยิ่งดี ให้สามารถดูแลควบคุมได้

 

ถาม: เข้ามาทำงานในฐานประธานหอการค้าไทยครบ 6 เดือนแล้ว ประเมินผลงานตัวเองอย่างไร และมีงานสำคัญแรกๆ ไหนที่จะสานต่อ
กลินท์: 6 เดือนแล้วหรือ ลืมนับเลย (หัวเราะ) ไม่อยากมองแค่ให้คะแนนตัวเอง แต่เป็นทีมงานมากกว่า คณะกรรมการพวกเรามากกว่า ผมว่าคณะกรรมการเรามาถูกทางแล้ว ได้จัดตั้งคณะทำงานหลายคณะแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นประชุมระดมสมองกันแล้ว โดยให้แต่ละคณะเลือกงานของตัวเองออกมา 2 อย่างแรกว่าจะทำอะไร จากนั้นจะรวมเป็นแผนใหญ่ จะทำอะไรต้องสำเร็จใน 2 ปี เป็นแผนระยะสั้น บางคณะอาจจะมีแผนระยะยาว แต่เรามี Project (โครงการ) อะไรที่นำมาเร่งทำและมี Impact (ผลกระทบ) สูง มีทั้งเรื่องที่เคยทำแล้ว และเรื่องใหม่อยู่ทั้งกลุ่มเกษตร อาหาร ของเดิมก็มีเช่น 1 ไร่ 1 แสน, 1 หอการค้าดูแล 1 สหกรณ์การเกษตร, 1 หอการค้าดูแล 1 ท่องเที่ยวชุมชน, 1 บริษัทดูแล 1 วิสาหกิจ พวกนี้คือแผนของเราอยู่แล้ว ส่วนแผนใหม่ตอนนี้ Check Stock (ตรวจสอบของที่มีอยู่) ว่าแต่ละเรื่องที่ทำมาแล้วอันไหนดีที่สุด จะเป็น Model (ต้นแบบ) ได้ ตอนนี้กำลังรวบรวม คาดว่าเดือนกันยายนนี้น่าจะเสร็จ พอรวบรวมเสร็จสิ่งไหนทำแล้วเกิดผลเป็นรูปธรรมดีก็จะนำไปเป็นต้นแบบและใช้กับทุกจังหวัด ขณะเดียวกันก็จะผลักดันงานหลักให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติด้วย ตามแนวคิด Trade and Service 4.0

เร็วๆ นี้ที่จะมีอินเตอร์เน็ต 75,000 หมู่บ้าน ครบในปีหน้า เมื่ออินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นมาแล้ว หอการค้าแต่ละจังหวัดจะทำอะไรต่อ จะมีส่วนร่วมอะไร จะไปสอนชาวบ้านอย่างไร จะทำอะไรต่อเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน ทำอย่างไรให้เพิ่มมูลค่าได้หรือไม่ ทำอย่างไรให้เขาสามารถเรียนรู้
เอาความรู้จากอินเตอร์เน็ตไปเชื่อมต่อยังช่องทางต่างๆ
เชื่อม E-commerce ได้ไหม

 

ถาม: นอกจากบทบาทในหอการค้าไทยและอีอีซีแล้ว คณะทำงานประชารัฐด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว และ MICE (คณะ D3) เห็นมีชื่ออยู่ด้วย เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร
กลินท์: เพิ่งได้ประชุมคณะทำงาน D3 ร่วมกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เราจะปรับปรุงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์อย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับยูเนสโกตั้งไว้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ โดยทำ Master Plan ออกมาว่าจะต้องทำอะไรกันก่อน ซึ่งต้องประชุมกันอีกครั้งให้แผนมีความชัดเจน

ผมมีตำแหน่งหนึ่งเป็นนายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ที่อยุธยามีหมู่บ้านญี่ปุ่นตั้งมากว่า 600 ปี พื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ใกล้วัดพนัญเชิงฯ จะปรับปรุงหมู่บ้านขึ้นมาใหม่ จัดเป็นศูนย์นิทรรศการ และมีบรรยากาศเป็นญี่ปุ่น นอกจากนี้เตรียมนำแอพพลิเคชั่นที่ให้โหลดฟรี แล้วเปิดแอพพ์พร้อมส่องกล้องดูสถานที่จริง ก็จะเห็นภาพเคลื่อนไหวที่เป็นภาพอดีตทับซ้อนกับปัจจุบันได้เลย เรียกว่า Virtual Reality คาดว่าเดือนตุลาคมนี้จะเสร็จ และในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะจัดงานลอยกระทงที่นั่น

 

ถาม: ทำงานด้านการท่องเที่ยวมามาก ได้เที่ยวบ่อยๆ หรือไม่ และงานอื่นๆ ด้านการท่องเที่ยวที่กำลังทำอยู่เป็นอย่างไร เช่นการท่องเที่ยวสีเขียว
กลินท์: ตอนนี้บ้านเรามีหลายกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาท่องเที่ยว การท่องเที่ยวสีเขียวก็รองรับกลุ่มที่ชอบธรรมชาติ โดยบอกเขาว่าการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติดีที่สุดคือช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ซึ่งเป็นหน้าฝน เขียวขจี ผลไม้ออกมาก อาหารหลากหลาย ต้องมาให้ได้ และเดือนมิถุนายนคนมาน้อยที่สุดของทั้งปี เราจึงพยายาม Promote (ส่งเสริม) การท่องเที่ยวสีเขียว

ส่วนตัวไม่ค่อยได้เที่ยวหรอก ไปหอการค้าแต่ละจังหวัด ก็ลงพื้นที่ทำงาน และพอเห็นสิ่งต่างๆ ก็นับว่าท่องเที่ยวไปในตัว เรียกว่า Work and Travel แต่ละจังหวัดก็จะดูจุดขายเป็นอย่างไร แต่ละจังหวัดเชื่อมต่อกันได้ไหม ศึกษานโยบายของ ททท. และของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเป็นอย่างไร สามารถต่อยอดได้อย่างไร

 

ถาม: ในวันที่ 21 กันยายนนี้ ท่านเป็นผู้ร่วมเสวนาบนเวที EEC แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลกŽ เตรียมแนวทางเนื้อหาอย่างไร
กลินท์: จะพูดถึง Master Plan ที่เกี่ยวกับอีอีซีว่าเป็นอย่างไร อยากฟังความคิดเห็นของผู้มาฟังด้วย เขากังวลเรื่องอะไร เกิดขึ้นจริงได้ไหม ผู้ฟังคิดว่าอันไหนเป็นอุปสรรคที่เขาคิด ตรงกับที่เราคิดหรือไม่

 

กฤชนก ศรีเมือง

 

หมายเหตุ: ในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวสู่ปีที่ 40 ได้จัดงานสัมมนา ในหัวข้อ “EEC แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” ในวันที่ 21 กันยายนนี้ เวลา 08.30-12.30 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ผู้สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ฟรีผ่านทาง https://www.foloart/eec2017/ และดูรายละเอียดเพิ่มเติมของงานที่ https://www.matichon.co.th/news/654661

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image