โรฮีนจา-เบงกาลี? เรื่องของใคร ชื่อไหนก็คือมนุษย์

ชาวปากีสถานเดินขบวนประท้วงปฏิบัติการของรัฐบาลเมียนมาต่อชาวโรฮีนจา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 ที่เมืองการาจี /AFP

ความน่ากังวลของปัญหาชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ยังคงไม่ลดน้อยลง หลังความรุนแรงกลับมาปะทุอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา

ทางออกจากความตายที่คร่าชีวิตผู้คนในรัฐยะไข่ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตยังไม่แน่ชัด ทำให้มีคนลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังบังกลาเทศล่าสุด 3.7 แสนราย

แน่นอนบังกลาเทศไม่สามารถรองรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากได้ มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 หลังจากนี้ เพราะลำพังค่ายพักพิงผู้อพยพในบังกลาเทศก็รองรับสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ได้ไม่เพียงพอแล้ว

ที่สำคัญผู้อพยพย่อมต้องการความมั่นคงในชีวิต การเดินทางต่อเพื่อแสวงหาอนาคตจึงเป็นทางเลือกสำคัญ

Advertisement

แม้เมียนมายืนยันว่าจะไม่กระทบไทย แต่การอพยพหลั่งไหลไปประเทศต่างๆ เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

หลังความขัดแย้งในรัฐยะไข่กลับมาปะทุอีกครั้ง พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสถานการณ์และขอให้ไทยเรียกโรฮีนจาว่า “เบงกาลี” ซึ่งรองนายกฯก็รับมาบอกต่อด้วยดีและยังย้ำทางสื่อถึงสองครั้งว่าให้เปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ตามรัฐบาลเมียนมา

ความโหดร้ายที่ทำลายชีวิตผู้คนจำนวนมาก เกิดขึ้นท่ามกลางความเงียบงันของประชาคมอาเซียนที่ยังคงยึดคำที่ว่าจะไม่ก้าวก่ายการเมืองภายในกัน

Advertisement

ขณะที่เมียนมายืนยันว่าเป็นปัญหาความมั่นคงที่ต้องจัดการกับ “ผู้ก่อการร้าย” หลีกเลี่ยงการเจรจา และโต้ตอบกับผู้ใช้อาวุธ

มีเพียงนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่เข้าร่วมประท้วงเรียกร้องให้ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจาเมื่อปลายปีที่แล้ว และเร็วๆนี้ที่อินโดนีเซียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าพบนางออง ซาน ซูจีหารือเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

เกิดคำถามขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศมุสลิมว่านี่เป็นปัญหาความมั่นคงหรือวิกฤตมนุษยธรรม จนถึงคำถามที่ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่?”

เกิดการประท้วงในโลกตะวันออก อาทิ อินโดนีเซีย ปากีสถาน อินเดีย อิหร่าน เรียกร้องให้ช่วยเหลือชาวโรฮีนจาและยึดคืนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจาก นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐซึ่งนิ่งเฉยต่อปัญหาดังกล่าว

ซูจีเปิดเผยเพียงว่าเมียนมาทำงานเพื่อปกป้องสิทธิชาวโรฮีนจา และระบุว่ามีข้อมูลผิดพลาดจำนวนมากแพร่ออกไปเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ของผู้ก่อการร้าย และต่อมาซูจีได้ยกเลิกการเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ หรือยูเอ็นจีเอ

ส่วนหนึ่งจากวงเสวนาของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ และสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ที่ผ่านมา มีเนื้อหาน่าสนใจที่เกี่ยวข้องหลายประเด็น

ค่ายผู้อพยพกูตูปาลอง บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 /AFP

เรียก ‘เบงกาลี’ ล้มล้างประวัติศาสตร์ ผลักเป็นอื่น

ความน่ากังวลเกิดขึ้นเมื่อรัฐเมียนมาพยายามใช้ “ชื่อเรียก” บิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์และใช้เป็นเหตุผลในการปราบปราม

ศิววงศ์ สุขทวี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ CRSP มีความเห็นว่า การกล่าวหาว่าเป็นผู้อพยพชาวเบงกาลีหรือผู้ก่อการร้าย เป็นการสร้างความชอบธรรมในการก่ออาชญากรรมของกองทัพและรัฐบาลเมียนมา

การจินตนาการรัฐอาระกันในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐชาติสมัยใหม่เมียนมาที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์พม่า(Burman) นับถือพุทธแบบเถรวาทได้ทำลายสังคมอาระกันที่ดำรงอยู่ในอดีต และเป็นพื้นฐานปัญหาความขัดแย้งในวันนี้

“อาระกันมุสลิมเดินทางเคลื่อนย้ายตลอดประวัติศาสตร์ ในฐานะชุมทางเชื่อมโยงระหว่างอ่าวเบงกอลที่เคยเป็นเส้นทางการค้าสำคัญกับดินแดนตอนเหนือของอินเดีย ผ่านลุ่มน้ำคงคาและสินธุ เข้ากับดินแดนพม่าตอนใน อาระกันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผู้คน ทั้ง ฮินดู พุทธมหายาน อิสลาม รวมถึงพุทธเถรวาทที่เพิ่งเข้ามาเมื่อพม่ามีอำนาจเหนืออาระกัน

“ชาวโรฮีนจาเป็นพลเมืองพม่าพร้อมการเกิดขึ้นของรัฐเอกราชพม่า จนนายพลเนวินรัฐประหารแล้วเปลี่ยนชื่อจากรัฐอาระกันเป็นรัฐยะไข่ เปลี่ยนชื่อกลุ่มชาติพันธุ์เป็นยะไข่ นำไปสู่การแก้กฎหมายสัญชาติที่ทำให้การสูญเสียชีวิตทางการเมืองและสังคม”

ศิววงศ์ไม่ปฏิเสธว่ามีการใช้อาวุธในพื้นที่ แต่เขามองว่ากองทัพพม่ามีการปะทะกับหลายกลุ่มชาติพันธุ์ตลอดเวลา การจับอาวุธสู้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อมีที่ยืนในสังคม

และเมื่อมองข้อเรียกร้อง เวลา และสถานที่ของปฏิบัติ เขามองว่าเป็นการโต้ตอบปฏิบัติการของกองทัพเมียนมามากกว่า

“แม้เราจะยอมรับการใช้ความรุนแรงได้ลำบาก แต่รัฐยังมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพลเรือนในดินแดนของตน การใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองไม่ใช่การปราบปรามการก่อการร้าย”

ศิววงศ์ สุขทวี-ดร.ศราวุฒิ อารีย์

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เสริมเรื่องเบงกาลีว่า โรฮีนจาส่วนใหญ่อาจมีเลือดผสมเบงกาลีอยู่ เบงกาลีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรเยอะมาก หลากหลายทั้งด้านวัฒนธรรมและศาสนา ส่วนคำว่า “โรฮีนจา” พัฒนามาจากการพยายามสร้างอัตลักษณ์ในพื้นที่อาระกัน เกี่ยวเนื่องประวัติศาสตร์ท้องที่ มีหลักฐานว่าชาวโรฮีนจาดำรงอยู่ในพื้นที่มายาวนาน

“การที่เมียนมาพยายามบอกว่าคนกลุ่มนี้คือเบงกาลี คือการบอกว่าเป็นคนอพยพมาจากบังกลาเทศ เพื่อความชอบธรรมในการผลักดันออกไป

“ขณะที่โลกส่วนใหญ่เรียกว่าโรฮีนจา ทั้งในรายงานของสหประชาชาติและรายงานองมหาวิทยาลัยต่างๆในโลกตะวันตก และมีประเด็นทิศทางเดียวกันว่า เมื่อคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นพลเมืองทำให้ถูกดขี่ มีการมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พยายามล้มล้างประวัติศาสตร์คนเหล่านี้” ดร.ศราวุฒิกล่าว

ภาพ AFP

ความรับผิดชอบใน ‘อาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ’

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน เผยว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่งและสหประชาชาติเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกับชาวโรฮีนจาว่าเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ” อาจเข้าข่ายการทำลายล้างชาติพันธุ์ และการอพยพทำให้ชาวโรฮีนจาตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และคุกคามทางเพศ

“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิบอกว่าเขาคือใคร ไม่ใช่คนอื่นบอกว่าเขาคือใคร”

อังคณาบอกว่า สิ่งที่ต้องเรียกร้องเมียนมาคือความรับผิดชอบในการปกป้องพลเมืองในรัฐต่ออาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดในรัฐยะไข่

“รัฐที่ไม่ต้องการถูกแทรกแซงระหว่างประเทศก็ต้องปกป้องพลเมืองตนเอง โดยองค์กรระหว่างประเทศให้คำแนะนำ แต่หากล้มเหลวสหประชาชาติต้องสามารถยื่นมือเข้าไปคุ้มครองมนุษยธรรมในการปกป้องพลเมืองได้ โดยไม่ใช่การแทรกแซงอำนาจอธิปไตยแต่เป็นการช่วยเหลือ

“อาเซียนต้องมีบทบาทคุ้มครองพลเมืองอาเซียนด้วย ต้องคัดแยกผู้ละเมิดสิทธิออกจากผู้ถูกละเมิดอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลอาเซียนต้องสร้างความยึดโยงกับประชาชน อาเซียนต้องเห็นคุณค่าของพลเมืองอาเซียน ต้องไม่อดทนต่อการเลือกปฏิบัติ” อังคณายืนยัน

อังคณา นีละไพจิตร-ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี

แก้ไขแบบไม่แตะปัญหา คือ ‘อาเซียน’

แม้อาเซียนมาความพยายามคุยปัญหาโรฮีนจาบ้าง แต่เป็นเพียงส่วนผู้อพยพที่ไปขึ้นฝั่งที่ประเทศอื่น ไม่ได้แตะปัญหาโดยตรง

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ชี้ว่าเรื่องโรฮีนจาไม่ใช่ปัญหาปกติ ตั้งแต่ปี 2555 อาเซียนมีความพยายามพูดคุยเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเทศที่โดนผลกระทบอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เมื่อมีคนหนีภัยความตายเข้ามา

“ขณะนั้น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นเลขาธิการอาเซียน ผลักดันให้มีการพูดคุยกันเพราะเห็นว่าปัญหาจะขยายไปประเทศอื่นไม่ใช่เพียงเรื่องภายในของเมียนมา แม้ประเทศสมาชิกต้องเคารพเส้นอธิปไตยระหว่างกันแต่อาเซียนต้องมีข้อตกลงกับเมียนมา ไม่ทำให้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ดร.สุรินทร์บอกว่าถ้าไม่แก้ แทนที่จะหนีอย่างเดียว โรฮีนจาจะจับอาวุธขึ้นสู้ ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นจริงๆ กลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม”

ดร.ศรีประภาเผยว่า ความพยายามพูดคุยเรื่องนี้ในอาเซียนมีมาเรื่อยๆ จนเมียนมายอมคุยด้วย แต่ไม่ใช้คำว่า “วิกฤตการณ์โรฮีนจา” แต่จะคุยเรื่อง “การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทางทะเล” และปัญหาค้ามนุษย์ เป็นภาษาที่รับกันได้มากที่สุด การพูดคุยที่ผ่านมาก็ไม่ใช้คำว่า “โรฮีนจา”

“แต่เรื่องนี้ต้องแก้ที่รากเหง้าปัญหา คือการเลือกปฏิบัติต่อโรฮีนจาในเมียนมา การถอนสัญชาติโดยใช้กฎหมายตั้งแต่ปี 1982 และมีความรุนแรงเกิดขึ้น การประชุมทุกครั้งไม่สามารถใช้คำว่าโรฮีนจาได้ และไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็พูดชัดเจนว่านี่คือการก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติ หากไม่ดูปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างแท้จริง เรื่องการอพยพหนีตายจะยังดำรงอยู่”

นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจับมือกับนักบินก่อนไปปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้อพยพโรฮีนจาในบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 9 กันยายน /AFP

ดร.ศรีประภา ยืนยันว่า การที่โรฮีนจาจะเป็นพลเมืองหรือไม่ ไม่ใช่ปัญหา “เพราะไม่ว่าจะเบงกาลีหรือโรฮีนจาก็เป็นมนุษย์”

“จากการที่ได้คุยกับผู้ใหญ่ระดับสูงในเมียนมาหลายคนพูดตรงกันว่า ถ้าคนกลุ่มนี้หยุดเรียกตัวเองว่าโรฮีนจาและยอมรับว่าเป็นเบงกาลี ปัญหาจะแก้ได้ง่ายขึ้น ตอนสำรวจประชากรในเมียนมามีความพยายามให้โรฮีนจาเรียกตัวเองว่าเบงกาลี ซึ่งโอกาสได้สัญชาติจะมีมากขึ้น แต่ถ้ายังเรียกตัวเองว่าโรฮีนจาอยู่ ทางผู้ใหญ่เมียนมาที่ได้พูดคุยเขาบอกว่ารับไม่ได้ แต่ในทางรัฐศาสตร์ถือว่าชื่อเป็นการนิยามอัตลักษณ์ตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าเขาเรียกตัวเองว่าอะไร

“น่าสนใจว่ารองนายกฯของไทยลุกขึ้นมาบอกว่าต่อไปนี้เราต้องเรียกว่าเบงกาลี และใช้ภาษาแบบเดียวกับอองซานซูจี ซึ่งเมื่อปลายปีที่แล้วอองซานซูจีให้สัมภาษณ์ทีวีสิงคโปร์บอกว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องอาศัยเวลาและพื้นที่ น่าสนใจ เป็นวาทกรรม Time and Space เช่นที่รองนายกฯไทยก็บอกว่าต้องให้เวลาและพื้นที่กับเมียนมา” ดร.ศรีประภากล่าว

ชาวโมรอกโกประท้วงการปราบปรามชาวโรฮีนจา ที่เมืองราบัต วันที่ 8 กันยายน 2560 /AFP

หวั่น ‘ขบวนการติดอาวุธ’ ใช้เป็นข้ออ้าง

อีกหนึ่งความน่าสนใจคือความเคลื่อนไหวในโลกมุสลิมช่วงที่ผ่านมา

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ รองผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เปิดประเด็นว่า แม้ไทยจะมีปัญหาชายแดนใต้ หรือมุสลิมในฟิลิปปินส์จะมีปัญหาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ประชาคมมุสลิในอาเซียนหรืออภูมิภาคอื่นไม่เคยลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรม

ครั้งนี้ต่างไปที่มุสลิมในหลายประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซียเดินขบวนครั้งใหญ่ เพื่อเรียกร้องให้ช่วยเหลือโรฮีนจา

ปีเตอร์ แมนดาวิลล์ ผู้เขียน Transnational Muslim Politics: Reimagining the Umma ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมและความสัมพันธ์ของโลกมุสลิมข้ามชาติก่อให้เกิดจินตนาการประชาคมมุสลิมข้ามชาติระดับโลก โดยประชาคมมุสลิมเดิมขาดสะบั้นออกจากกันเมื่อตะวันตกเข้ามาแบ่งรัฐชาติสมัยใหม่ ในยุคอาณานิคมและหลังอาณานิคม แต่หลังสงครามเย็นภาวะโลกาภิวัฒน์ทำให้กลับมารวมกันด้วยเทคโนโลยี วันนี้เราจึงเห็นการเชื่อมโยงของประชาคมมุสลิมโลก

“ตัวแสดงประเด็นโรฮีนจามีทั้งที่เป็นรัฐอย่างในประเทศมหาอำนาจอิสลาม ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน อิหร่าน ขณะที่การเคลื่อนไหวในมาเลเซียและอินโดนีเซียก็มีส่วนสร้างสำนึกการกลับสู่ประชาคมมุสลิมอีกครั้ง วันนี้โรฮีนจาเป็นปัญหาสำคัญและอ่อนไหวมากในโลกมุสลิม และการสร้างเครือข่ายประชาคมมุสลิมคงไม่พัฒนาเฉพาะการพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในโลกมุสลิมเท่านั้น แต่อนาคตจะพูดปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มน้อยอื่นๆ ด้วย”

โลกมุสลิมเคลื่อนไหวโดยสันติวิธีกดดันเรียกร้องสิทธิชาวโรฮีนจา แต่ในตัวแสดงหลากหลาย ดร.ศราวุฒิเผยความน่าเป็นห่วงว่าประเด็นนี้จะขยายปัญหาความรุนแรง เมื่อกลุ่มขบวนการติดอาวุธข้ามชาติ กลุ่มทาลิบัน อัลเคด้า หรือไอเอส จะพยายามใช้โรฮีนจาอธิบายว่าเป็นปัญหาของมุสลิมด้วย ประเด็นนี้อาเซียนต้องระวังว่าจะเป็นปัญหาลุกลามในตะวันออกกลาง

“กรณีโรฮีนจาน่าห่วงที่หลายคนใช้คำว่า ‘พุทธ’ กับ ‘มุสลิม’ แต่ผมคิดว่าเป็นประเด็นการเมือง เราต้องพยายามคลี่คลายปัญหาให้เร็ว อย่าทำให้เป็นสมรภูมิของนักรบญิฮาด เยาวชนในมาเลเซียหลายคนมีความต้องการไปรบในดินแดนอาระกัน แม้แต่เชชเนียซึ่งไกลมากก็บอกว่ามีคนจะมาร่วมรบกับชาวโรฮีนจา”

ดร.ศราวุฒิเน้นย้ำว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นมนุษยธรรมในพื้นที่รัฐอาระกัน น่าเป็นห่วงหากในอนาคตจะเป็นการนำปัญหาไปเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย โดยลืมถึงรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา

“ก่อนเกิดประเด็นความมั่นคงเรื่องการก่อการร้าย จึงต้องรีบเคลียร์ปัญหาให้เร็วที่สุด”

ผู้อพยพโรฮีนจาที่ค่ายกูตูปาลองในบังกลาเทศ หลังการเดินทางข้ามชายแดน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 /AFP

‘หยุดฆ่าพวกเรา’ เสียงจากโรฮีนจาในไทย

สุดท้ายคำร้องขอจากชาวโรฮีนจาในไทยซึ่งเปิดเผยว่าครอบครัวเขามีผู้เสียชีวิต 3 คน จากเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ล่าสุด

ฮะยี อิสมาอิล ผู้จัดการเครือข่ายสันติภาพชาวโรฮีนจาแห่งประเทศไทย

ฮะยี อิสมาอิล ชาวโรฮีนจาในไทยซึ่งครอบครัวเสียชีวิตจากปฏิบัติการในรัฐยะไข่

เขายืนยันว่าเรียกตัวเองว่า “โรฮีนจา” มาตลอด เพิ่งได้ยินการเรียก “เบงกาลี” ไม่กี่ปีมานี้

“เราเป็นชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่ในรัฐอาระกันมาหลายรุ่น ทั้งตัวผมและพ่อแม่ปู่ย่าตายาย สมัยก่อนรัฐบาลพม่าก็ยอมรับว่าเราเป็นโรฮีนจา ในใบเกิดผมก็เขียนว่าโรฮีนจา แต่เขาบังคับให้เปลี่ยนชื่อเราเป็นเบงกาลี ซึ่งผมไม่เข้าใจ แต่พวกเราไม่ยอมรับอยู่แล้ว”

ฮะยีกล่าวว่า คนไทยจำนวนมากยังไม่รู้ว่าโรฮีนจาคืออะไร ซึ่งโรฮีนจาก็มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ทัศนคติแง่ลบที่ชาวไทยมีต่อโรฮีนจาส่วนใหญ่เป็นความเข้าใจผิด ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องจะมีมุมมองที่ยอมรับกว่านี้

“ชาวโรฮีนจาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน We are human, We need human rights. ”

ฮะยีเน้นย้ำและอยากสื่อสารไปยังรัฐบาลพม่า และทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยว่า พวกตนต้องการสิทธิมนุษยชน เรื่องสัญชาติว่ากันทีหลัง ตอนนี้เหตุการณ์ด่วน พี่น้องของตนไม่มียารักษาโรค ไม่มีอาหาร รอความตายอยู่ อีกชุดที่ไปบังกลาเทศแล้วก็ลำบากเหมือนกัน

“อยากให้นานาประเทศช่วยเหลือด่วน ขอให้มองชาวโรฮีนจาเป็นมนุษย์ ขอให้หยุดฆ่าทันที ตอนนี้ยังมีการฆ่าที่บ้านเกิดของเรา”

ภาพ AFP
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image