“เพื่อนมิตรไทยอเมริกัน” ผูกสัมพันธ์สองแผ่นดิน (1)

กสญ.ธานี แสงรัตน์ กับน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการ

คนไทยไปตั้งรกรากในต่างประเทศกันมานานแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นประเทศแห่งความหวังและความฝันของคนไทยจำนวนมากในอดีต ใครที่เดินทางไปอเมริกาย่อมจะได้พบเห็นเด็กไทยอเมริกันจากครอบครัวที่มีพ่อแม่เป็นชาวไทย หรือมีพ่อหรือแม่เป็นชาวไทย เยาวชนที่ถือเป็นคนไทยอเมริกันรุ่นที่ 2 นี้ได้ไปใช้ชีวิตและเติบโตอยู่ในรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐ บางครั้งบางคราก็เดินทางกลับมาเยี่ยมญาติพี่น้องที่ประเทศไทย แต่ก็เป็นเพียงการกลับมาเยี่ยมเยียนเครือญาติและท่องเที่ยวกับครอบครัวช่วงสั้นๆ เท่านั้น
ด้วยตระหนักว่าเยาวชนเหล่านี้ถือเป็นทรัพยากรบุคคลอันล้ำค่า หากเขาได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ ทำความเข้าใจกับ ‘รากเหง้า’ ของความเป็นไทย รวมถึงอัตลักษณ์ของประเทศที่ตนเองมีเชื้อสายสืบเนื่องมา ก็น่าจะช่วยให้เกิดความผูกพันและความตระหนักรู้ถึงความเป็น “ไทย” ในสายเลือดของพวกเขาได้มากขึ้น

นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดในการจัดทำโครงการ “เพื่อนมิตรไทยอเมริกัน” ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครลอสแอนเจลิส กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลอสแอนเจลิส และสถาบันการศึกษาหลายแห่งทั่วประเทศไทย ที่ได้นำนักศึกษาเยาวชนไทยอเมริกันรุ่น 2 รวม 7 คน เดินทางมาร่วมสอนภาษาตามสถาบันศึกษาในภาคต่างๆ เป็นเวลาราว 2 เดือน

นายธานี แสงรัตน์ กงสุลใหญ่ไทย ณ นครลอสแองเจลิส เล่าให้ฟังว่า เป้าหมายของโครงการที่เพิ่งจัดทำขึ้นเป็นปีแรกนี้ก็เพื่อให้เยาชนไทยอเมริกันรุ่นที่ 2 ได้เดินทางมาทำความรู้จักกับประเทศไทยในลักษณะเดียวกับที่ทางสหรัฐมีโครงการ Peace Corps ที่เข้ามาทำงานด้านการพัฒนา แต่โครงการเพื่อนมิตรไทยอเมริกันจะเน้นให้เด็กๆ ใช้ภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันซึ่งถือเป็นจุดแข็งของชุมชนไทยที่อเมริกาเพื่อตอบโจทย์ประเทศไทยที่ขาดแคลนภาษาอังกฤษ แต่ไม่อยากให้เด็กๆ มาเพียงฉาบฉวยแต่อยากให้ได้มารู้จักและลงลึกกับชุมชนที่ไปอยู่ เพื่อให้ลูกหลานเยาวชนคนไทยรุ่นที่ 2 ได้มาเชื่อมโยงและเรียนรู้ซึ่งกันและกันกับเยาวชนและคนไทยในประเทศ

โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากอดีตท่านทูตหลายประเทศที่ปัจจุบันผันตัวไปเป็นคณบดีสถาบันการทูตและการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต ท่านคณบดีสมปอง สงวนบรรพ์ ที่ได้ช่วยเป็นแกนหลักในการประสานงานที่ไทย และยังติดต่อประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งยินดีที่จะรับนักศึกษาเยาวชนไทยเหล่านี้ให้ไปร่วมเป็นครูฝึกสอนและทำกิจกรรมอีกมากมายเพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้และซึมซับความเป็นไทยในแผ่นดินแม่ได้อย่างเต็มที่

Advertisement

ครั้งแรกที่ได้พบกันก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ น้องๆ ทั้งหมดดูจะตื่นเต้นกับการที่ได้เดินทางมายังประเทศไทยแบบที่ไม่มีผู้ปกครองมาด้วย หลายคนบอกว่ามาก็เพราะพ่อหรือแม่สนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการ บางคนไม่เคยกลับมาเมืองไทยนานเป็นสิบปี บางคนก็อยากจะมาเพื่อรู้จักประเทศไทยมากขึ้น เพราะเมื่อมากับครอบครัวส่วนใหญ่ก็มักจะใช้ชีวิตอยู่แต่ในกรุงเทพหรือในเมืองท่องเที่ยวบางแห่งเท่านั้น แต่การมาเที่ยวกับมาใช้ชีวิตเป็นแรมเดือนย่อมแตกต่างกัน แน่นอนว่าน้องๆ ทั้ง 7 คน สามารถพูดและฟังภาษาไทยได้ แต่ไม่คล่องแคล่วเท่าภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาหลักที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

จากที่ได้พูดคุยกันทำให้รู้สึกว่าถึงน้องๆ จะเกิดและเติบโตอยู่ในสหรัฐ แต่ความเป็นไทยในสายเลือด ได้รับการเลี้ยงดูใกล้ชิดแบบครอบครัวคนไทย แต่ก็มีจิตวิญญานแห่งการผจญภัยแบบที่ได้เติบโตมาในสังคมตะวันตก การได้ออกไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัดหรือแม้แต่ในมหาวิทยาลัยรังสิตเพื่อเข้าร่วมโครงการของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับน้องๆ ทุกคน

เราได้พบกันอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยรังสิต หลังจากที่ได้พบกันครั้งแรกกว่า 2 เดือน รอยยิ้มที่ได้เคยเห็นก็ยังคงไม่จางหาย แต่สิ่งที่มากไปกว่าเสียงหัวเราะยังมีน้ำตาแห่งความผูกพันและมิตรภาพมากมายที่ทุกคนได้พบ รวมถึงความประทับใจที่น้องๆ แต่ละคนผลัดกันเล่าให้ฟัง

Advertisement

ประสบการณ์ร่วมระหว่างการสอนหนังสือของน้องๆ ทุกคนดูจะไม่ต่างกันเท่าใดนัก หลักๆ คือนักศึกษาและเด็กไทยมักจะค่อนข้างอายที่จะพูดภาษาอังกฤษ เหตุผลสำคัญคือกลัวว่าจะพูดผิดแล้วจะโดนเพื่อนแซว จึงชอบที่จะมาถามครูหลังชั้นเรียน กระนั้นก็ดูเหมือนทุกคนพร้อมและอยากที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

นายกวิน สายเชื้อ ชายหนุ่มเพียงคนเดียวได้เดินทางไปสอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่าการมาร่วมโครงการครั้งนี้ทำให้ได้เพื่อนและได้ประสบการณ์หลายอย่าง ระหว่างอยู่ที่เชียงใหม่กวินไม่เพียงแต่จะสอนภาษาอังกฤษ แต่ยังได้สอนเรื่องการสื่อสารและภาษาญี่ปุ่นพ่วงไปด้วย แถมยังมีเวลาว่างไปเปิดคลาสสอนเต้นฮิปฮอป กวินบอกว่าช่วงที่ยากที่สุดคือสัปดาห์แรกที่ไปถึง เพราะไม่มีใครบอกว่าต้องทำอะไรอย่างไร แต่พอถึงสอนไปนักเรียนก็ชอบมากและยังขอให้อาจารย์ฝึกหัดอยู่ต่อด้วย

กวิน

น.ส.เจนนิเฟอร์ สันติเจริญนนท์ หรือเจน ไปสอนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกว่าชอบโครงการนี้มาก ทุกอย่างที่ได้พบเห็นเป็นสิ่งใหม่สำหรับเธอทั้งหมด สิ่งที่ได้จากโครงการนี้คือคอนเนคชั่น ทำให้มีเพื่อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนจีน เวียดนาม หรือกัมพูชา ที่สำคัญคนไทยเป็นคนมีน้ำใจและเป็นกันเอง เหมือนเราเป็นคนในครอบครัว ซึ่งไม่เหมือนกับเวลาที่อยู่ในสหรัฐ

เจน

น.ส.สิรินดา สุวรรณานนท์ หรือแทมมี่ ซึ่งไปสอนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพร้อมกับเจนเป็นคนเดียวที่ไม่ได้เดินทางกลับกรุงเทพพร้อมกับเพื่อนๆ คนอื่น เพราะถูกกองบิน 21 จ.อุบลราชธานี ที่เชิญให้ไปเป็นวิทยากรในโครงการอบรมภาษาอังกฤษระดับต้นสำหรับข้าราชการกองบิน 21 ขอตัวให้อยู่ช่วยสอนภาษาอีก เนื่องจากทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น ซึ่งก็สมกับความตั้งใจในการจัดทำโครงการของสถานกงสุลใหญ่ที่มุ่งหวังให้น้องๆ ได้สร้างเครือข่ายที่ประเทศไทยเป็นอย่างดี

แทมมี่

น.ส.อัญชนิกา เพชรเบญจกุล หรือแองจี้ ที่ไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ บอกว่า ทุกๆ คนดูแลแองจี้ดีมาก ก่อนจะรับว่าตอนแรกที่รู้ว่าจะต้องลงไปอยู่ภาคใต้ พ่อแม่ของเธอเป็นห่วงมาก เพราะได้ยินข่าวเรื่องระเบิดที่ภาคใต้ แต่ที่สงขลาปลอดภัย และต้องคุยกับพ่อแม่ทุกวัน เธอได้สอนภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยและสอนเด็กๆ อนุบาล รวมถึงมัธยม

แองจี้

แองจี้กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการคือได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยมากขึ้น ได้ไปดูวิถีชีวิตของผู้คน ไปกรีดยาง เข้าค่ายวัฒนธรรมที่มีนักศึกษาจากชาติต่างๆ มาอยู่รวมกัน แต่สิ่งที่ทำให้มีความสุขมากคือความอบอุ่นที่ได้รับซึ่งแตกต่างกันมากกับที่สหรัฐ วันสุดท้ายที่สนามบิน มีเพื่อนๆ มาส่งเป็นสิบคน ตอนนี้แองจี้รู้แล้วว่าถ้ากลับมาไทยก็มีเพื่อนที่เราจะไปหาเขาได้ และกำลังดูว่าในอนาคตจะมาช่วยเหลือหรือทำงานร่วมกันต่อไปได้อย่างไร ก่อนจะบอกว่าคิดว่าตัดสินใจถูกที่มาเข้าร่วมโครงการนี้ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะมาอีก อยากให้เด็กไทยที่เกิดในสหรัฐมีประสบการณ์แบบนี้ที่ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image