“ความเข้าใจ”ที่ได้แต่หวัง โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกทำให้อารมณ์เสียอีกแล้ว คราวนี้ท่านหงุดหงิดเพราะถูกถามถึงความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความหงุดหงิดรุนแรงในอารมณ์ของท่านผู้นำน่าจะเป็นเรื่องที่ท่านบ่น “เป็นเหมือนกันทุกเรื่อง สื่อเอาอีกข้างมาว่าข้างนี้ เอาข้างนี้ไปให้ข้างโน้น หาเหตุอยู่เช่นนี้ไม่มีวันจบ ไม่ต้องไปถามเรื่องใต้ เรื่องที่กรุงเทพฯ เรื่องการเมืองก็เหมือนกัน ตราบใดที่ยังปล่อยให้คนเหล่านี้ คนที่มีคดีออกมาพูดออกสื่อทุกวัน”

ท่านหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติถามว่า “มันทำได้หรือไม่ เคยมีหรือไม่ที่ประเทศไหนทำ ก็มีแต่ประเทศไทยนี่แหละที่คนอยู่ในคดีออกมาพูดทุกวัน คดีกองเป็นหลายๆ คดีแต่ก็ยังออกมาพูด สื่อเองนำเสนอข่าวแล้วเอามาใส่ผม แล้วผมก็ต้องสวนกลับไป ทางโน้นก็สวนกลับมา สนุกกันนักหรือ”

“มันไม่มีวันจบ ไม่มีปรองดองกันได้” พล.อ.ประยุทธ์เหมือนจะท้อ แต่ยังชี้วิธีการแก้ปัญหาตามแบบที่ท่านเชื่อว่า “วันนี้จะปรองดองได้อย่างเดียวคือการใช้กฎหมาย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้นคือกระบวนการปรองดอง แล้วว่ากันไปตามขั้นตอน ถ้าไม่เข้ากระบวนการยุติธรรม ผมยังนึกไม่ออกว่าจะปรองดองด้วยวิธีใด”

Advertisement

ยิ่งฟังยิ่งเกิดความรู้สึกน่าเห็นใจ ในฐานะผู้นำประเทศที่มีอำนาจในระดับเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ใช้อำนาจได้ตามใจเท่าที่อยากจะใช้ ย่อมเป็นที่คาดหวังของคนทุกหมู่ทุกเหล่าว่า “ทุกปัญหาจะจบลงที่ท่าน ด้วยอำนาจที่ล้นเหลือของท่าน”

ด้วยเหตุนี้เอง “ทุกความรู้สึกอึดอัดคับข้องที่เกิดจากการได้เห็นความผิดปกติอย่างที่เคยเป็นมา หรืออย่างที่ควรจะเป็น เสียงเรียกหาท่านเพื่อให้ช่วยใช้อำนาจที่เบ็ดเสร็จอยู่ในตัวท่านมาจัดการให้จึงโหยหวนอยู่ทั่ว ดังแรงบ้าง เบาบางตามความเจ็บช้ำในใจของแต่ละคน”

แต่ถึงอย่างไร จะมีอำนาจล้นเหลือขนาดไหนท่านผู้นำก็ยังเป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งสามารถรับเรื่องราวได้ต่างๆ อย่างจำกัดอันเป็นความปกติของคนเรา

Advertisement

แรงกดดันที่มากมาย ภายใต้ข้อจำกัดทำให้เกิดความตึงเครียด

ในปัญหาของสื่อที่ “เอาเรื่องของคนโน้นไปถามคนนี้ เอาความคิดของคนนี้ไปสอบทานจากคนนั้น” หากมองอย่างเข้าใจจะพบว่าเป็น “การทำหน้าที่โดยปกติของสื่อในยุคสมัยที่ต้องปกป้องตัวเองด้วยการไม่เสี่ยงที่จะคิดเอง วิธีการสอบทานความถูกต้องที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมในยุคสมัยเช่นนี้ คือเอาความคิดของคนนี้ไปสอบทานกับคนนั้น คนโน้น แล้วเอามานำเสนอเพื่อให้ประชาชนตัดสินเอาเองว่า ข้อสรุปทางความคิดที่ควรจะเป็นความถูกต้องนั้นคืออะไร สื่อในยุคสมัยที่กังวลว่าความคิดความอ่านของตัวเองจะก่ออันตรายต่อความสุขสงบของชีวิต เหมือนจะไม่มีวิธีอื่นที่จะหาความถูกต้องสำหรับการอยู่ร่วมกันนอกจากวิธีให้แต่ละความคิดสอบทานและตัดสินกันเอง”

และเนื่องจากธรรมชาติของวิธีการเช่นนี้คือทำให้เกิดการถกเถียงกันไม่รู้จักจบ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจท่านผู้นำที่เรื่องราวเหมือนจะถูกต่อความยาวสาวความยืดออกไปแบบไม่รู้จักจบ

กระทั่งท่านคิดว่า “คนที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา เป็นจำเลยไม่ควรจะมีสิทธิในการออกมาพูด สื่อไม่ควรใส่ใจ” 

แต่ก็อีกนั่นและ “กระบวนการยุติธรรม” ที่ท่านผู้นำอยากให้ทุกคนใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ความแตกแยก

ใน “ขบวนการ” นั้น ประกอบด้วย “ผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ตัดสิน กฎหมาย กติกาที่ใช้ตัดสิน” 

เรื่องราวคดีความต่างๆ ที่เกิดจากขึ้นในยุคสมัยเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องของ “ความผิดที่มีรูปธรรมที่ชัดเจน” อย่างเช่น การทำร้าย ฆ่าฟัน ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฉ้อโกง กันชัดๆ เท่านั้น

การกล่าวหากันในทาง “ความคิด การกระทำที่เกิดจากนโยบายซึ่งมาจากความคิด” การตัดสินว่าผิดถูก มีเรื่องทัศนคติของ “ผู้ตัดสิน” เข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันต่อไป อย่างยากที่จะจบสิ้น

ด้วยเหตุที่ต้องอาศัยศรัทธาอย่างสูงยิ่งในการยอมรับ

เมื่อจิตใจเกิดการไม่ยอมรับขึ้นมา แต่ไม่สามารถขัดขืนได้เลย

ย่อมต้องคิดพึ่งพาผู้มีอำนาจที่ใจโน้มเอียงไปเชื่อว่าจะพึ่งได้

และอำนาจในฐานะ “รัฏฐาธิปัตย์” ของท่านย่อมโดดเด่นเห็นชัดไม่ต่างต่างจากไม้ท่อนเดียวที่ต้องโผเข้าหาในยามจะจมลงแม่น้ำ หรือทะเลลึก

เพราะรับรู้ถึงอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่มีอยู่ในมือท่าน ถนนทุกสายจึงหวังพึ่งพา

จึงเป็นเรื่องน่าเห็นใจยิ่งที่ก่อภาระที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้าแก่ท่าน

แต่ลองนึกอีกที พวกเขาจะทำอย่างไรได้ แม่ว่าจะเป็น “สื่อมวลชน” หรือ “ผู้ต้องคดีผู้โหยหาความปรองดอง”

เป็น “ความปรองดอง” ที่ไม่ใช่ในความหมายที่ “คนอีกฝ่ายสะใจไม่รู้จบ ขณะที่อีกฝ่ายเจ็บร้าวไปเสียทุกครั้ง”

…………………

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image