เผยร่างใหม่ พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่มีกก.อำนวยการยุติธรรม ชง อสส. มีอำนาจสั่งไม่ฟ้อง ถอนฟ้องคดีอาญามูลเหตุการเมือง

เมื่อวันที่ 17กันยายน แหล่งข่าวระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยถึงการเเก้ไขล่าสุดถึง ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ. ปรองดอง ที่คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เคยยกร่างเมื่อเดือนมกราคม 2560 นั้น ว่าในร่างดังกล่าวต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายในสาระสำคัญ จากเดิมที่ให้คณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาเกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาความเสียหาย มาเป็นให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีบทบาทในในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาและเยียวยาความเสียหายแทน

แหล่งข่าวระบุว่า ตามร่างใหม่จะไม่มีคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาฯ แต่จะให้อัยการสูงสุดทำหน้าที่แทน โดยอัยการสูงสุดจะมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริง สอบสวนคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และกฎหมายให้อำนาจอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมืองได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ในส่วนของการเยียวยาความเสียหาย เเละร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่เเก้ไขใหม่นี้กำหนดให้อัยการสูงสุดมีหน้าที่เสนอข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหาย ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ส่วนหลักการอื่นที่สำคัญในร่างกฎหมายนี้ยังคงหลักการตามร่างกฎหมายเดิมไว้ เช่น ร่างกฎหมายนี้ใช้กับการกระทำความผิดอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

“แต่ไม่ใช้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ผู้กระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 ถึง 112 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันฯ และผู้กระทำความผิดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยหากไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิดเหล่านี้ให้ศาลมีอำนาจรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้ หรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ สำหรับคดีที่ถึงที่สุดแล้วก่อนวันที่ร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ ศาลก็มีอำนาจลดโทษ รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้ หรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ เช่นเดียวกัน เเละคงหลักเกณฑ์ในการเยียวยาความเสียหายไว้ สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขใหม่ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับร่างพ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ. …ฉบับเดิมที่มี นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน เดิมนั้นได้เคยยก มาทั้งสิ้น 33 มาตรา เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 มีใจความสรุปดังนี้ บุคคลที่จะได้รับประโยชน์ในร่างจะไม่รวมถึงผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ที่นำมาสู่การกระทำความผิดอาญาหรือเหตุการณ์ความรุนแรง การกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 หรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงให้มีคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จำนวน 11 คน ประกอบด้วย ผู้ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการอัยการ ผู้ตรวจการแผ่นดิน สถาบันพระปกเกล้า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สภาทนายความ และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยแต่งตั้ง ฝ่ายละ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสันติวิธีหรือสิทธิมนุษยชน จำนวน 2 คน ซึ่งทำการคัดเลือกกันเอง เป็นกรรมการ และให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการ

ให้คณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจหน้าที่ 1.รวบรวมข้อเท็จจริงข้อมูลคดีเกี่ยวกับการกระทำที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 22 ตุลาคม2557 ที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชนให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เสียหาย ผู้ถูกดำเนินคดีอาญา เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน

Advertisement

2กำหนดหลักเกณฑ์การจำแนกคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองคำนึงถึงความร้ายแรงของความผิด สัดส่วนการกระทำ รวผลกระทบต่อชาติและประชาชนด้วย 3.กำหนดมาตรการและหลักเกณฑ์การอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ถูกดำเนินคดีอาญาที่เป็นผู้ให้ความจริงอันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และแสดงความสำนึกเสียใจต่อผลของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น??4 จำแนกคดีอาญาตามหลักเกณฑ์ กำหนดมาตรการอำนวยความยุติธรรมแต่ละรายตามเหตุผลหรือเงื่อนไขที่เหมาะสมกับประเภทของการกระทำและความผิด??5.เสนอข้อมูลความเห็นการจำแนกคดีการใช้มาตรการในการอำนวยความยุติธรรมกับผู้ถูกดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานอัยการหรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดี โดยการเสนอดังกล่าวควรมีความเห็นของผู้เสียหายและผู้ถูกดำเนินคดีอาญาประกอบด้วย เเละเมื่อพนักงานอัยการได้รับเรื่องแล้ว ให้พนักงานอัยการเสนอความเห็นให้อัยการสูงสุดพิจารณามีคำสั่งโดยให้ถือเอาข้อมูลการจำแนกคดีอาญาและความเห็นในการใช้มาตรการในการอำนวยความยุติธรรมตามเหตุผลหรือเงื่อนไขดังกล่าวเป็นคดีที่มีเหตุที่อัยการสูงสุดจะใช้อำนาจสั่งหรือไม่สั่งคดี

เเละนอกจากนี้มาตรา 20 เเห่งร่างเดิมระบุว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อหาความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ศาลพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการมาตรา 18(5) ประกอบด้วย เเละให้ศาลมีอำนาจพิพากษาว่าผู้กระทำความผิดมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองรายนั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ แม้ว่าโทษจำคุกเกิน 5 ปี หรือศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้หากศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีเห็นว่าผู้ถูกดำเนินคดีอาญารายใดไม่ควรรับโทษจำคุกหรือควรได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ ก็ให้ถือเป็นเหตุผลหรือเงื่อนไขที่มีเหตุอันควรปรานีหรือเหตุบรรเทาโทษแล้วแต่กรณี เเละในกรณีที่คดีใดถึงที่สุดก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ เเละเป็นคดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ ผู้กระทำความผิด ผู้แทน บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภรรยา ผู้อนุบาล พนักงานอัยการหรือคณะกรรมการร้องขอให้ศาลมีอำนาจกำหนดเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นเสียใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติ

นอกจากนี้ ยังให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย รวมถึงทายาทผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บพิการ หรือทุพพลภาพ ผู้ที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวเนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และกำหนดหลักเกณฑ์การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image