สปสช.จัดสรรงบบัตรทองปี’61 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ-เข้าถึงบริการ

เมื่อวันที่ 17 กันยายน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 กันยายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 และหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขหน่วยบริการ ตามที่บอร์ด สปสช.ได้ให้ความเห็นชอบตามที่อนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนนำเสนอ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 171,373.67 ล้านบาท ดังนี้ 1.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 156,019.62 ล้านบาท ดูแลประชากร 48 ล้านคน โดยเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวหลังหักเงินเดือนภาครัฐ 111,179.08 ล้านบาท 2.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 3,218.24 ล้านบาท 296,900 ราย 3.บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 8,165.60 ล้านบาท 52,976 ราย 4.บริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 1,019.20 ล้านบาท 2,907,200 ราย 5.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,490.28 ล้านบาท 175 หน่วยบริการ 6.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 1,159.20 ล้านบาท 193,200 ราย และ 7.ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว 240 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการผู้ป่วยนอกทั้งในและนอกเขตกรุงเทพมหานคร 652,173 ครั้ง

นพ.ศักดิ์ชัยกล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2561 ยังได้ปรับปรุงการบริหารกองทุนฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาอุปสรรค อาทิ การปรับปรุงแนวทางการจ่ายค่ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ โดยในปี 2561 สปสช.จะจ่ายค่ายา วัคซีน เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษให้แก่เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์ตามแผนและวงเงินการจัดหาฯ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้วจากบอร์ด สปสช.11,252.71 ล้านบาท เพื่อให้เครือข่ายหน่วยบริการด้านยาและเวชภัณฑ์สนับสนุนให้กับหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่าย กรณีหน่วยบริการใดที่ไม่อยู่ในเครือข่ายจะจ่ายชดเชยเป็นเงินตามอัตราที่ สปสช.กำหนด การเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการคัดกรองและตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และบริการตรวจคัดกรอง และตรวจยืนยันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มอายุ 50-70 ปี เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image