บริหาร จัดการ ศึกษา จาก เรือเหาะ รับผิด รับชอบ

ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงหนังสือ “ระบบบังคับบัญชา” ของ พล.อ.สายหยุด เกิดผล ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในระหว่างดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด”

คนในวงการทหารก็รับรู้ถึงการแบ่งสายการบริหารเป็น 2 สาย

สาย 1 เรียกว่าสายบังคับบัญชา สาย 1 เรียกว่าสายอำนวยการ อย่างที่รับรู้กันในภาษาปากว่าฝ่ายเสนาธิการ

แต่ทั้งหมดนี้ถือว่า “ผู้บังคับบัญชา” เป็นที่สุด

Advertisement

ในกองทัพบก คือ ผู้บัญชาการทหารบก ในกองทัพเรือ คือ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในกองทัพอากาศ คือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ

นั่นก็คือ เป็นผู้อยู่ในฐานะ “ตัดสินใจ”

เช่นเดียวกับภายใต้ระบบคณะรัฐมนตรีอันประกอบด้วย “รัฐมนตรี” จากหลายๆ กระทรวง หมายเลข 1 ย่อมเป็น “นายกรัฐมนตรี”

สายการบังคับบัญชาดำรงอยู่เช่นนี้

ตอนที่เกิดเรื่องการอนุมัติป่าเสื่อมโทรมที่ห้วยเม็ก จังหวัดขอนแก่น อาจเป็นการริเริ่มขึ้นจากระดับพื้นที่ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปยังสำนักงานปลัดกระทรวง

แต่คนที่เซ็นอนุมัติคือ “รัฐมนตรี”

ถามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องรับผิดชอบหรือไม่ ตอบได้เลยว่าเมื่อลงนามเห็นชอบไปแล้วก็ต้องรับผิดชอบ

แต่จะรับผิดชอบระดับไหนก็แล้วแต่จิตสำนึก

เช่นเดียวกับกรณีที่มีการดำเนินโครงการระบบเฝ้าตรวจทางอากาศ ซึ่งรับรู้กันผ่านกระบวนการจัดซื้อ “เรือเหาะ”

ถามว่าเมื่อเกิดความรับผิดชอบขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

อาจเป็นอย่างที่มีบางท่านระบุว่า “กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กรมข่าว กรมยุทธการ กรมขนส่ง ที่มีหน้าที่จะต้องดำเนินการ ถ้าตรวจสอบต้องตรวจสอบให้หมด” ก็ถูกต้อง

แต่คำถามก็คือ ใครกันที่เป็นผู้ “อนุมัติ” และ “ลงนาม”

เมื่อเกิดกรณีรถไฟสร้างความเสียหาย ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างสูง เคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง

นั่นเป็นกรณีที่ญี่ปุ่น

กระนั้น สังคมก็ให้ความสนใจและให้การยกย่อง ชมเชย เพราะเท่ากับว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้แสดงสปิริต

เป็น “สปิริต” อันสะท้อน “ความรับผิดชอบ”

บทบาทและความหมายในทางหลักการก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมท่านนั้นตระหนักในบทบาทและความหมายของการเป็น “ผู้บังคับบัญชา”

รู้ว่าตนเอง คือ หมายเลข 1 ในสายงานที่ตนได้รับมอบหมาย

สถานะและความเป็น “ผู้บังคับบัญชา” ที่ดี จึงมิได้หมายความว่าจะ “รับชอบ” อย่างด้านเดียว หากแต่จะต้องพร้อมที่จะ “รับผิด” ด้วยในขณะเดียวกัน

เช่นนั้นแล้วจะต้องมี “ผู้บังคับบัญชา” ไปทำไม

ไม่ว่ากรณีของ “เรือเหาะ” อันกลายเป็น “เรือเหี่ยว” ตามความรับรู้ของสังคม ไม่ว่ากรณีของ “ป่าเสื่อมโทรม” ที่ห้วยเม็ก จังหวัดขอนแก่น

เป็นทั้ง “หินลองทอง” และ “สันปันน้ำ”

1 สะท้อนให้เป็นประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนและผลักดันโครงการขนาดใหญ่ซึ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์

1 สะท้อนให้เห็นความรับรู้ ความเข้าใจในเรื่อง “ระบบบังคับบัญชา”

ในที่สุดแล้ว แต่ละก้าวย่างก็เผยแสดงให้เห็นถึง “สปิริต” และคุณธรรมของการบังคับบัญชาอันแหลมคมยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image