สพภ.เดินหน้าดึงวิสาหกิจชุมชนออกแบบบรรจุภัณฑ์ท้องถิ่นใหม่เสริมแกร่งชิงตลาด

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(สพภ.)กล่าวว่า ขณะนี้สพภ.มีกำลังเดินหน้าส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้สามารถนำความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนท้องถิ่นมาพัฒนาสร้างรายได้อย่างมั่นคงและมีทิศทาง  ผ่านโครงการ“พัฒนานักออกแบบระดับชุมชน” นับเป็นอีกก้าวการพัฒนาและหนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาขึ้นเป็นผู้ประกอบการที่แข่งขันในตลาดได้ด้วยตนเองในอนาคต

โดยจะเน้นด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ดูดีเหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งที่ผ่านพบว่าชุมชนมีพัฒนาการในการออกแบบบรรจุภัณฑ์แก่สินค้าของตนต่างกัน บางชุมชนสามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ได้จริง บางชุมชนอยู่ระหว่างการปรับปรุงพัฒนา ต้องใช้เวลาในการพัฒนา แต่เชื่อมั่นในศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของชุมชนท้องถิ่นในการค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะตนมาปรับประยุกต์ให้เกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์

ทั้งนี้จะมีโครงการในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยที่ในปีต่อๆ ไป และขยายไปยังวิสาหกิจชุมชนอื่นๆในเครือข่ายความร่วมมือให้มากขึ้น เช่น สมาชิกธนาคารธกส. ในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่ง SAME, กรมการพัฒนาชุมชน  เครือข่ายสมาชิก สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือสปก. เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นโดยอาศัยแนวความคิดและกรอบการทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการผสานการดำเนินธุรกิจของกลุ่มวิสาหกิจเข้าไว้กับการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี รวมถึงการอาศัยความร่วมมือจากผู้มีความรู้ความชำนาญในสายงานต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุน จะส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวิสาหกิจชุมชน ให้เพิ่มศักยภาพ ผลงาน และผลกำไร ให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน บนฐานการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ต่อไป

Advertisement

ในยุคของการแข่งขันทางการค้าปัจจุบันที่มีผู้ผลิตมากราย  ลำพังการมุ่งผลิตสินค้าคุณภาพอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ  หีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ที่เก๋ไก๋สะดุดตา ได้กลายมาเป็นจุดสร้างความดึงดูดใจให้ผู้บริโภคให้หันมาซื้อสินค้า และคงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้ผลิตรายใหญ่ในการสรรหา ว่าจ้างนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มาแต่งแต้มสีสันให้กับสินค้าของตน  ในทางตรงกันข้าม การออกแบบบรรจุภัณฑ์กลับเป็นเรื่องยากและไกลตัว สำหรับผู้ผลิตรายย่อยหรือวิสาหกิจชุมชนที่เป็นการรวมกลุ่มกันของสมาชิกในชุมชนโดยมีเป้าหมายเพื่อการจัดการทุนของชุมชนหรือฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานกับภูมิปัญญาสากลให้กลายเป็นนวัตกรรมของชุมชน ปัญหาที่วิสาหกิจชุมชนจำนวนมากกำลังประสบอยู่ คือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและบริการไม่โดนใจผู้บริโภค”

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สพภ. หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า

Advertisement

เบโด้ (BEDO) เป็นหน่วยงานเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับความหลากหลายทางชีวภาพที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นเจ้าของ ทั้งในรูปแบบสินค้าและบริการ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก ในช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สพภ. ได้จัดโครงการ “พัฒนานักออกแบบระดับชุมชน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป้าหมายของ สพภ. รู้จักวิธีคิดรูปแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชนตนเอง โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับภูมิปัญญาภายในท้องถิ่น พร้อมกับแนวทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สมัยใหม่ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้มีความโดดเด่นและแตกต่าง สู่การเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอนาคต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพพร้อมกับการพัฒนาศักยภาพในเชิงธุรกิจ เพื่อให้สามารถพัฒนาและเติบโตสู่การเป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เข้มแข็ง

สำหรับโครงการพัฒนานักออกแบบระดับชุมชนได้เปิดโอกาสให้ชุมชนที่อยู่ในเครือข่ายของ สพภ. จำนวน 25 ชุมชน ได้เข้าร่วมการอบรมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และร่วมกิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสินค้าชุมชน โดยให้ความสำคัญด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่ต้องผลิตได้จริง มีความสวยงามและมีความคิดสร้างสรรค์ในด้านของการนำทรัพยากรภายในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์  และยังให้ความสำคัญด้านคุณภาพบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพด้านการปกป้องสินค้าทั้งด้านคุณภาพและความเสียหายจากการขนส่ง รวมถึงขนาดของบรรจุภัณฑ์ต้องสอดคล้องกับประเภทของอุปกรณ์เกี่ยวกับโลจิสติกส์โดยเฉพาะพาหนะขนส่งประเภทต่างๆ และที่สำคัญคือการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถประหยัดต้นทุนด้านการลดช่องว่างของพื้นที่ทั้งด้านขนส่งและการเก็บรักษา

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ได้บอกเล่าแนวคิดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาออแกนิคไว้อย่างน่าสนใจว่า “ตนเองและสมาชิกอยากให้คนที่รักสุขภาพได้มีโอกาสดื่มชาที่มีเอกลักษณ์ มีรูป รส กลิ่น สี ที่ดูดี อีกทั้งบรรจุภัณฑ์ที่นำเสนอสินค้าทั้งหมด 4 ชิ้น ซึ่งประกอบด้วยชาที่ถูกบรรจุอยู่ในกล่องเล็กๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความสวยงามของธรรมชาติที่สวยงามและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดตาก สามารถจัดเรียงกันเป็นภาพต่อที่สวยงาม มีตัวอักษรเบลสำหรับผู้พิการทางสายตาให้ได้ทราบว่าผลิตภัณฑ์ข้างในคืออะไร ขอบคุณ สพภ. ที่ได้ให้โอกาสในการเข้าร่วมโครงการ ตนเองเชื่อว่าสิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้จะสามารถนำมาต่อยอดและผลักดันให้เกิดบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามในระดับชุมชนได้ต่อไป”

นอกจากนั้นตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์หนองสลาบ ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตข้าวดอยออแกนิค ได้กล่าวว่า “ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ข้าวของกลุ่มมีโอกาสในการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นการขยายตลาดให้กลุ่ม ดังนั้นผลิตภัณฑ์จึงจำเป็นต้องมีบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายแต่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม และถ้าสามารถแปลงเป็นของฝาก สามารถขายให้กับนักท่องเที่ยว หรือของฝากในโอกาสสำคัญในรอบปีได้ก็จะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการพัฒนานักออกแบบระดับชุมชนครั้งนี้ ได้จุดประกายความคิดในการพัฒนาตัวบรรจุภัณฑ์ข้าวของกลุ่มที่นอกจากจะเป็นการพัฒนาจากตัวบรรจุภัณฑ์ที่เคยเป็นถุงพลาสติกให้เป็นกล่องที่ทำให้ให้สามารถปกป้องผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้น

ยังสามารถให้รายละเอียดความรู้ให้กับผู้บริโภค  มีรายละเอียดการใช้งาน และสามารถนำไปต่อยอดในการแปลงเป็นของฝากเพื่อขายนักท่องเที่ยว และเป็นของฝากในโอกาสสำคัญๆ ในรอบปีได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image