“วีระ”ร้องดีเอสไอ เอาผิดคดีฟอกเงินปล่อยกู้กรุงไทยทุกราย แฉเส้นทางเงินเข้าออกธนาคาร-มูลนิธิรัฐบุรุษ-พล.ร.ท.

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น เดินทางมายื่นเรื่องต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เพื่อให้ตรวจสอบธุรกรรมการเงินและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทย โดยระบุว่า คดีดังกล่าวศาลแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ลงโทษผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องเครือกฤษดามหานคร โดยผู้บริหารธนาคารกรุงไทยมีทั้งหมด 5 คนถูกดำเนินคดี 3 ราย ติดคุกคนละ 18 ปี ส่วนอีก 2 รายไม่ถูกดำเนินคดี รวมทั้ง ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกรายหลายที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี แต่คดีนี้ยังไม่จบยังมีผู้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนดังกล่าวอีกหลายคน ซึ่งร่วมถึงนายพานทองแท้ ชินวัตร แต่ไม่ใช่นายพานทองแท้คนเดียว มีอีกหลายคนที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ไม่อยากให้ดีเอสไอมีการเลือกปฏิบัติ ในคดีทุจริตฟอกเงินของธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)

นายวีระ กล่าวว่า ที่ผ่านมาดีเอสไอยังไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด เชื่อว่าอาจจะมีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและผิดกฎหมายโดยเลือกดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งคดีนี้มีผู้กรรมการผู้บริหารธนาคารกรุงไทยเกี่ยวข้องทั้งหมด 5 ราย แต่ถูกดำเนินคดีเพียง 3 ราย เหลืออีก 2 ราย ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งดีเอสไอมีเอกสารข้อมูลอยู่แล้ว มีเส้นทางการเงินที่สามารถตรวจสอบได้ และตนมีข้อมูลเอกสารรายละเอียดทั้งหมด สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งความผิดดังกล่าวถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ จำเป็นต้องดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง และคดีดังกล่าวยังเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเงิน เป็นธุรกิจที่ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ทำให้ธนาคารกรุงไทยและผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ จึงขอเรียกร้องให้ดีเอสไอ ดำเนินการตามกฎหมายฐานฟอกเงินกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย

”ดีเอไอสามารถใช้เอกสารหลักฐานชุดนี้ได้เลย ดำเนินการทางคดีได้เลย เส้นทางการเงินปปง.ก็ชัดเจนที่ส่งมายังดีเอสไอ ขนาดผมยังมีเลย และอยากให้ตรวจสอบตรงไปตรงมา อย่าเว้นให้ใครทั้งสิ้น เดี๋ยวเจ้าหน้าที่รัฐก็มาร้อง กับผมอีก เพราะเขาเห็นว่าผู้บังคับบัญชาเลือกปฏิบัติ หรือไม่”นายวีระกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพาดพิงมูลนิธิรัฐบุรุษและนายทหารคนหนึ่ง มีการรับโอนเงิน นั้นมีข้อมูลในการยื่นให้ตรวจสอบด้วยหรือไม่ นายวีระกล่าวว่า “ทำไมละ ต้องดำเนินคดี ไปเว้นได้ยังไง ผมมีรายละเอียดหมดมีหลักฐาน มีการโอนเงินเข้ามูลนิธิแห่งนี้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2546 และโอนอีก 1 แสนให้กับพล.ร.ท.คนหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2546 มีหมดรายละเอียดหลักฐานเท่าที่ดีเอสไอมี เพราะไม่เช่นนั้นจะเขียนคำฟ้องได้อย่างไร”

Advertisement

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกดีเอสไอ กล่าวภายหลังรับเอกสารจากนายวีระ ว่า ตามเอกสารข้อมูลที่นายวีระยื่นเรื่องมาว่ามีผู้บริหารธนาคารกรุงไทยเกี่ยวข้องกับการทุจริตอีก 2 รายนั้น ทางดีเอสไอเพิ่งเห็นข้อมูลเช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ที่มีบางส่วนยื่นข้อมูลมา ทางดีเอสไอได้มีการส่งเรื่องไปยังสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนให้ดำเนินการแล้ว ซึ่งขั้นตอนการสอบสวนประเด็นเรื่องการฟอกเงินก่อนหน้านี้ การสอบสวนเสร็จสิ้นและมีการส่งให้อัยการดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ส่วนข้อมูลที่นายวีระยื่นข้อมูลเพิ่มเติมในวันนี้จะมีการส่งเรื่องเพื่อใช้ในการสืบสวนต่อไป ส่วนกรณีของนายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นเรื่องของทาง ปปง.ที่ส่งข้อมูลกล่าวหามาเพิ่มเติม เป็นเรื่องที่ ปปง. จะดำเนินการ ถ้าเห็นว่าข้อมูลครบถ้วนจะมีการนัดมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป ส่วนเรื่องรายละเอียดการสอบสวนขอให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำร้องนายวีระ ระบุถึงการโอนเงิน ว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับโอนเงินและรับเงินจำนวนได้รับจากการกระทำความผิดดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคลและนิติบุคคลจำนวน 200 ราย ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางการเงินเจเข้าธนาคารกรุงเทพ สาขาศรีย่าน เมื่่อวันที่ 8 มีนาคม2547 จำนวน 10,500,000 บาท เข้าบัญชีชื่อ….และเส้นทางการเงินผ่านจำเลยที่22 เข้าธนาคารกรุงเทพ สาขาศรีย่าน ชื่อบัญชี …เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 เพื่อซื้อหุ้น ทอท.และเส้นทางการเงินผ่านจำเลยที่22 จ่ายเป็นเช็คเงินสด จำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่… เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับผู้บริหารธนาคารกรุงไทยที่มีอำนาจลงรายชื่ออนุมัติ 5 ราย ประกอบด้วย 1.ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ 2.วิโรจน์ นวลแข 3.มัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา โดยทั้ง 3 ราย ถูกดำเนินคดี ศาลสั่งจำคุกคนละ 18 ปี ส่วนอีก 2 ราย คือ 1.นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และ 2.นายอุตตม สาวนายน ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image