‘ผู้พิพากษา’แนะญาติเหยื่อ99ศพ ร้องป.ป.ช.ไต่สวนใหม่ แนบคำตัดสินศาลฎีกาถือเป็นหลักฐานใหม่

เมื่อวันที่ 18 กันยายน แหล่งข่าวผู้พิพากษา ให้ความเห็นทางกฎหมายและอธิบายถึงการสิทธิตามกฎหมายในการดำเนินคดีต่อผู้ที่ทำให้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่และสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อปี 2553 ว่า ในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้การกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในความผิดอาญาที่สืบเนื่องจากการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ ต้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน แล้วส่งอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเองแล้ว แนวการปฏิบัติย่อมเป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา ต้องรอดูว่า ป.ป.ช.จะดำเนินอย่างไร โดยกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้อัยการสูงสุด สั่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนใหม่ แต่กฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.ไว้พิจารณาเอง กรณีมีหลักฐานใหม่ในเรื่องที่ชี้มูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นไปแล้ว

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า เรื่องนี้มองว่าญาติผู้เสียชีวิต ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง ชอบที่จะร้องต่อ ป.ป.ช.ได้ว่ากรณีมีข้อที่ควรหยิบมาวินิจฉัยไต่สวนใหม่ จากข้อมูลการเสียชีวิตว่าน่าจะเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลฎีกามีคำพิพากษาล่าสุดว่าเป็นอำนาจ ป.ป.ช.ไต่สวน มิใช่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ส่วน ป.ป.ช.ทำได้มากน้อยเพียงใดก็วินิจฉัยต่อไป การกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองข้อหาผิดต่อแหน่งหน้าที่ราชการ มาตรา157 ร่วมกับความผิดอาญาต่อชีวิต ยังไม่เคยมีการฟ้องต่อศาลฎีกาฯมาก่อน แต่มิใช่ว่าการกล่าวหาทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจะพ่วงความผิดอาญาอื่นมิได้ เช่น หากพฤติการณ์บ่งชี้เป็นความผิดสืบเนื่องจากการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งแล้วทำให้เสียทรัพย์ หรือประมาทเป็นเหตุให้เสียชีวิต ย่อมวินิจฉัยตามขั้นตอนที่กฎหมายให้อำนาจไว้

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า แม้ในส่วนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาในฐานะผู้สั่งการ ยังจะมีปัญหาว่าดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ป.ป.ช.ได้อีกหรือไม่ แต่กฎหมายมิได้ตัดสิทธิญาติ ผู้เสียหายโดยตรงที่จะดำเนินคดีอาญาในส่วนของกำลังพลทหารหรือตำรวจที่ประจำการในพื้นที่นั้นๆฐานะผู้ปฏิบัติการว่ามีส่วนทำให้เสียชีวิตหรือไม่ หลังจากที่ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตจากการไต่สวนชันสูตรศพว่าถูกกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ทำให้เสียชีวิต ไม่ใช่การตายโดยธรรมชาติ แต่ยังไม่รู้ว่าใครยิงทำให้ตาย เป็นกระสุนจากเจ้าหน้าที่คนใด ก็ชอบที่ญาติผู้เสียชีวิตจะไปติดตามกับพนักงานสอบสวนซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือดีเอสไอตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำหรือมีส่วนกระทำจนเกิดการเสียชีวิต เพื่อจะรวบรวมพยานหลักฐานว่าในพื้นที่เสียชีวิตนั้นมีกำลังพลสังกัดใด อยู่หน่วยเดียวหรือหลายหน่วย หรือมีบุคคลอื่นนอกจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ การยิงปะทะนั้นเกิดขึ้นจากมีผู้ใดฝ่าฝืนพกพาอาวุธหรือไม่ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายเจ้าพนักงานเองแล้วส่งให้อัยการพิจารณา หากเป็นความผิดก็ยื่นฟ้องตามขั้นตอนต่อศาลอาญา หรือศาลอาญากรุงเทพใต้ หรือศาลยุติธรรมแห่งใดแห่งหนึ่งที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา หลังเกิดเหตุและศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการเสียชีวิตแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าคดีในส่วนนี้มีความคืบหน้าว่ายื่นฟ้องใครหรือไม่ หรือหากญาติ มีหลักฐานและข้อมูลบ่งชี้ตัวได้ว่าเจ้าหน้าที่นั้นชื่ออะไร สังกัดใดที่ได้กระทำการจนถึงแก่ชีวิต ญาติจะใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่นั้นเองก็ย่อมได้ โดยการดำเนินคดีในส่วนนี้มีอายุความ 20 ปีนับจากวันเกิดเหตุคือ ปี 2553 ขณะนี้คดีไม่ขาดอายุความ ยังมีเวลาถึงปี 2573

แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า ส่วนคดีแพ่งที่ญาติจะใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีละเมิดเรียกค่าเสียหายเยียวยาการสูญเสีย จากหน่วยงานราชการที่ถือเป็นนิติบุคคลรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในองค์กรนั้น ญาติผู้เสียชีวิตสามารถยื่นฟ้องได้ แต่เนื่องจากในการรวบรวมหลักฐานทางคดีอาญายังไม่ชัดว่าเจ้าหน้าที่หน่วยใดกระทำ ลำพังคำสั่งการไต่สวนชันสูตรศพยังไม่เพียงพอที่เป็นหลักฐานทั้งหมดให้ศาลวินิจฉัยแต่ยังต้องแสดงให้เห็นพฤติการณ์แห่งการกระทำละเมิดนั้นด้วย ทำให้การฟ้องคดีส่วนนี้อาจยุ่งยากลำบากในการหาพยานหลักฐาน หากคดีอาญายังไม่มีข้อมูลหลักฐานเพียงพอ โดยการฟ้องคดีแพ่งที่สืบเนื่องจากเหตุถูกละเมิดทางอาญา อายุความจะเกี่ยวเนื่องคดีอาญาด้วย คดีนี้เมื่อยังไม่มีการฟ้องคดีอาญา อายุความการฟ้องแพ่งต้องดูตามที่ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 บัญญัติไว้ คือสิทธิการฟ้องแพ่ง จะระงับสิ้นสุดลงไปตามอายุความคดีอาญา

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image