‘ผี’ที่ตามหลอกหลอนสังคมไทย โดย ปราปต์ บุนปาน

หน้าปก “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับล่าสุด ล้อเล่นกับประเด็นความหวาดกลัวต่อ “ผีเลือกตั้ง” โดยอ้างอิงไปถึงหนังไทยเรื่อง “เพื่อน..ที่ระลึก”

“เพื่อน..ที่ระลึก” เป็น “หนังผี” ซึ่งพูดถึงประเด็นคำสัญญา ความพลัดพราก และอารมณ์โกรธแค้น อันถือกำเนิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540

แน่นอนว่า “ผี” ในหนัง มิได้เป็นแค่ “ผี” หากยังเป็น “สัญลักษณ์” ที่จะเชื่อมโยงไปสู่นัยยะความหมายอื่นๆ

ณ พ.ศ.2560 น่าสนใจว่า “ผี” ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ เพื่ออธิบายถึงฝันร้าย บาดแผล การเติบโต และการพลิกฟื้นตัวตน จากวิกฤตเศรษฐกิจ (และ/หรือวิกฤตอื่นๆ ในสังคม)

Advertisement

แต่หากย้อนหลังกลับไปชมหนังไทยเมื่อเกือบ 2 ทศวรรษก่อน ดูเหมือนว่า “ผี” จะไม่ใช่ตัวละครประเภทแรกๆ ที่ถูกนำมาประกอบสร้างเป็นสัญลักษณ์ เพื่อใช้อธิบายหรือสื่อถึงความเข้าใจที่สังคมมีต่อวิกฤตเศรษฐกิจคราวนั้น

หนังไทยเรื่องแรกๆ ที่พยายามพูดถึงการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนในสังคมหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ก็ “อ้างอิงนอกบริบท” ไปยังเหตุการณ์ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและวีรกรรมของชาวบ้าน “บางระจัน” โน่นเลย

“พม่า” จึงกลายเป็นภาพแทนของศัตรูหรือภัยคุกคามจากภายนอก ที่เข้ามาก่อวิกฤตในสังคมไทย (อีกหน)

Advertisement

ก่อนที่ในอีกไม่กี่ปีต่อมา คนทำหนังไทยจะสร้างตัวละครประเภท “ผู้ร้ายฝรั่ง” (ซึ่งอาจเป็นภาพแทนของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์, ไอเอ็มเอฟ หรืออะไรทำนองนั้น) ขึ้นมาเป็นวัตถุรองรับมือเท้าและการเตะต่อย ของเหล่าฮีโร่ “ตลกคาเฟ่” เรื่อยไปจนถึง “นักบู๊ภูธร”

(“มือปืน/โลก/พระ/จัน” ไล่มาถึง “องค์บาก” และ “ต้มยำกุ้ง” คือ ตัวอย่างที่ดีของหนังกลุ่มนี้)

ต้องรอเวลานานถึงราวสองทศวรรษ “ผี” ใน “เพื่อน..ที่ระลึก” จึงกลายสถานะมาเป็นภัยคุกคามจากอดีตบาดแผล, ความผิดบาป, ความขัดแย้ง, การทรยศหักหลัง และการปิดบังความจริง อันเกี่ยวเนื่องกับวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

น่าคิดว่า “ผี” ในหนังไทยเรื่องนี้ ไม่ใช่คู่ขัดแย้งที่เป็นภาพแทนของ “คนอื่น” หรือ “ภัยคุกคามจากข้างนอก” 

แต่ “ผี” คือคนกันเองหรือเพื่อนสนิทเก่าแก่ ดีไม่ดี “ผี” อาจเป็นความรู้สึกผิดบาปในใจตัวเองเสียด้วยซ้ำ

หนังตั้งคำถามเอาไว้คมคายพอสมควรว่าท่ามกลางวงจรของวิกฤตการณ์บางอย่าง ที่ “มรดกบาป” ถูกส่งมอบจากคนรุ่นพ่อแม่มาสู่ลูกๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า

ในขณะที่หลายคนยังพยายามเดินหน้าท้าชนกับปัญหา ด้วยอารมณ์โกรธ/เกลียด/คลั่ง/แค้น จนก่อให้ระลอกความรุนแรงอันเนื่องมาจากภาวะขาดสติครั้งแล้วครั้งเล่า

เราจะสามารถเผชิญหน้ากับปัญหา ซึ่งหมายถึงการรับมือกับผลตกค้างของความผิดพลาดจากอดีต และบาดแผลของความบกพร่องในปัจจุบันได้อย่างไร โดยไม่ต้องสร้าง “ศัตรู” หรือ “ความเป็นอื่น” ขึ้นมาเป็นกระโถนคอยแบกรับความโกรธเกลียดชิงชังนานัปการ?

หรือเราจะรับมือกับปัญหาเหล่านั้น ด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติ และภูมิปัญญาแบบอื่นๆ ได้บ้างหรือไม่?

ข้อสำคัญประการหนึ่งที่หนัง “เพื่อน..ที่ระลึก” ละเลยจะกล่าวถึง ก็คือ ปัญหาของสังคมไทยร่วมสมัยนั้น มิได้กระจุกตัวอยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2560 ซึ่ง (หนังเชื่อว่า) อาจเทียบเคียงได้กับวิกฤตเศรษฐกิจ 2540

แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาของสังคมไทยมีมากมายหลากหลายกว่านั้นเยอะ และปัญหาทั้งหมดก็ค่อยๆ พัวพันทับซ้อนกันจนยุ่งเหยิงยากคลี่คลาย

ชุดคำถามที่ “เพื่อน..ที่ระลึก” ทิ้งค้างไว้ จึงอาจถูกนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปัญหาอื่นๆ ที่กำลังรายล้อมพวกเราอยู่ได้เช่นกัน

(“ปัญหากลัวการเลือกตั้ง” ดังที่หน้าปกมติชนสุดสัปดาห์ชวนคิดเอาไว้ ก็คงเป็นหนึ่งในนั้น)

………………..

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image