เวทีเยาวชนยื่น 5 ข้อแก้ปัญหาเด็กเปราะบาง แฉขบวนการค้ายาเสพติดเปิดร.ร.ติวเด็กขนยา

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ห้องปริ้นบอลลูม 3 โรงแรมปริ้นพาเลซ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) และศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘เสียงเล็ก ๆ จากเด็กถูกเท’ พาเด็กและเยาวชนให้หลุดพ้นภาวะเปราะบาง ซึ่งมีเครือข่ายเด็ก เยาวชนที่เผชิญภาวะเปราะบาง เข้าร่วมกว่า 150 คน

 

นโยบายรัฐไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานว่า เด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีคุณค่าของประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่าเด็กและเยาวชนไทยบางส่วน ต้องเผชิญสภาพปัญหาและบริบทที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ให้สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ที่มีความอ่อนแอ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกชักจูง ครอบงำ และคุกคามจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งนี้ พม.เป็นหน่วยงานหลักด้านสังคมจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะดำเนินการเพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี กฎหมาย ตลอดจนอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องต่อไป

Advertisement

 

แฉโรงเรียนสอนเทคนิคขนยา

Advertisement

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเปราะบาง คือกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง โดยที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เป็นเด็กที่หลุดจากความคุ้มครองและช่วยเหลือจากรัฐ มีตั้งแต่เด็กเยาวชนไร้สัญชาติ ลูกแรงงานต่างด้าว ยากจนพิเศษ ถูกดำเนินคดี แม่วัยรุ่น ฯลฯ เหล่านี้เมื่อต้องหลุดจากระบบการศึกษา ไม่มีรายได้ ก็จะถูกชักชวนจากขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเด็กเดินยา โสเภณีเด็ก แรงงานเด็ก โดยเฉพาะด้านยาเสพติดที่ได้เงินง่ายได้เงินเร็ว ซึ่งจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในภาคเหนือ พบว่ามีขบวนการฝึกสอนเด็กเดินยา โดยจัดตั้งในลักษณะโรงเรียนเล็กๆ สอนเทคนิคการขนยาเสพติดอย่างไรไม่ให้ถูกจับ อาทิ ซ่อนในช่องคลอด หากถูกจับให้รับสารภาพว่าทำครั้งแรก ขณะที่ครอบครัวของเด็กที่ถูกจับจะได้รับการดูแลอย่างดี มีเงินทองดูแลให้ ทำกันเป็นธุรกิจครอบครัว ฉะนั้นหากจะแก้ปัญหานี้รัฐต้องรู้ทันและเข้าใจ อย่ามองเพียงว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กมีปัญหา หรือเด็กที่เรียกร้องสิทธิ

 

ยื่น 5 ข้อแก้ปัญหาเด็กเปราะบาง

ศ.สมพงษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากการเปิดเวทีรับฟังเสียงเด็กและเยาวชนเปราะบางต่างๆ ใน 4 ภูมิภาค 35 เครือข่าย รวบรวมเป็นข้อเสนอให้ พม.ดังนี้ 1.ต้องมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนภาวะเปราะบางในระดับพื้นที่ เพื่อนำสู่การวางทิศทางแก้ปัญหา โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.)ในการประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากที่สุด 2.พัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง เพื่อเป็นตัวช่วยภาครัฐ โดยดึงความร่วมมือจากภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ ดึงทุนจากภาคเอกชน โดยแชร์ข้อมูล แชร์บุคลากร เพื่อเป็นตัวช่วยการทำงานของศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก รวมถึงพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านเด็กเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง 3.การปลดล็อกเงื่อนไขและข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น รอยต่อทางการศึกษาระหว่างช่วงชั้น ที่ต้องมีบัตรประชาชน 4.การปรับปรุงกองทุนที่มีอยู่ให้มุ่งเป้าสู่การพัฒนามากกว่าการสงเคราะห์ รวมถึงการฝึกอาชีพขั้นสูงที่มีงานรองรับมากกว่าฝึกอาชีพที่ไม่สามารถอยู่ได้จริง และ5.เปิดพื้นที่ให้กับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง เช่น สนับสนุนกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าและการยอมรับให้กับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของเยาวชนภาวะเปราะบางในสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับระดับตำบล

นางสาวคำแลง

 

 

เด็กไร้สัญชาติเรียนดีแต่หมดสิทธิสอบหมอ

ภายในงานยังมีการเสวนาจากเด็กกลุ่มเปราะบางที่น่าสนใจ นางสาวคำแลง เยาวชนไร้สัญชาติ อายุ 20 ปี นักเรียนชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ขณะนี้ตนอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ แม้ว่าจะเกิดที่ประเทศไทย แต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ที่ผ่านมาพยายามยื่นเรื่องขอมีสัญชาติไทย แต่ติดปัญหาที่ต้องมีพ่อแม่มายืนยันการเกิด ซึ่งพ่อที่แยกทางจากแม่ ก็แจ้งว่ามีลูกเพียงคนเดียวคือลูกที่เกิดกับครอบครัวใหม่ ทุกครั้งเวลาไปร่วมกิจกรรมภายนอก ตนมักใส่เสื้อกันหนาวปิดไว้ เพราะมีแต่ชื่อไม่มีนามสกุล ทำให้รู้สึกอายเมื่อมีคนมาถามว่าทำไมมีแค่ชื่อ และการไม่มีสัญชาติทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการเรียนต่อ เพราะคณะที่อยากศึกษาต่อคือ คณะแพทย์และสายสุขภาพ ซึ่งมีการระบุคุณสมบัติว่าไม่รับเด็กที่ไม่มีสัญชาติ และไม่มีสิทธิกู้ยืมกองทุนช่วยเหลือทางการศึกษา (กยศ.)

“ดิฉันเรียนสาขวิทย์-คณิต อยูที่โรงเรียนห้องสอนศึกษา ในพระอุปถัมภ์ฯ มีเกรดเฉลี่ย 3.8 ฝันอยากเป็นหมอหรือพยาบาล แต่สมัครสอบ กสพท.ไม่สามารถทำได้ เพราะระบุชัดเจนผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย และกำลังหมดเขตรับสมัครในวันที่ 30 กันยายนนี้ ก็รู้สึกเสียใจที่ไม่มีโอกาส เพราะไม่มีสิทธิ” นางสาวคำแลง

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image