‘เจมส์ ธีรดนย์’ เผยผลจากโปรเจ็คต์ S คือแขนหัก,รักษาตัวกับจิตแพทย์ และความหวัง

เพราะความชื่นชอบในซีรีส์ “ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น” ซีซั่นแรกที่ออกอากาศแท้ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ เจมส์ ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ ยื่นใบสมัครเข้าวงการ แล้วก็ได้รับเลือกให้แสดง “ฮอร์โมนส์ ซีซั่น 2″ ในปี 2557 ก่อนจะตามมาด้วยอีกหลายต่อหลายเรื่อง ก่อนจะมาถึง “โปรเจ็คต์เอส เดอะ ซีรีส์ SOS Skate ซึม ซ่าส์” ที่กำลังออกอากาศทางช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ทุกวันเสาร์ เวลา 21.45 น. โดยรับบท “บู” ผู้ชื่นชอบการเล่นสเก๊ต และเป็นโรคซึมเศร้า

“กระแสตอบรับดีมากเลยครับ” เจมส์พูดด้วยความปลื้มปริ่ม หลังรับทราบปฏิกิริยาของผู้ชม หลังซีรีส์เพิ่งออกอากาศไปได้แค่ 2 ตอน

ก่อนเล่าว่าตอนแรกที่ผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ชวนให้เล่น เขายังไม่รู้อะไรมากไปกว่า ในเรื่องต้องเล่นสเก๊ตบอร์ด แต่เพียงแค่นั้น “ก็อยากเล่นแล้ว”

Advertisement

เหตุเพราะสเก๊ตบอร์ดเป็นกีฬาที่ชื่นชอบมาแต่ไหนแต่ไร แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ฝึกหัด

แต่ครั้นได้รู้เพิ่มว่า ตัวละครของเขาเป็นโรคซึมเศร้าด้วย เจมส์ก็ดีใจมากขึ้นไปอีก

“มันคือการพลิกคาแร็กเตอร์ มันคือหาตัวใหม่ ซึ่งเป็นบทที่ผมอยากได้มากๆ ต้องการมากๆ” นักแสดงที่มักถูกวางตัวให้เป็นวัยรุ่นจอมเฮี้ยวบอก

Advertisement

“คือผมจะเบื่อเหมือนกัน ถ้ามันไม่มีอะไรท้าทาย”

เล่าอีกว่าเขาน่ะหัดเล่นสเก๊ตบอร์ดทันทีที่ตอบรับงาน

“ตอนแรกซ้อมเอง ไถก็ล้ม ข้อมือพลิก ขาพลิก เป็นแผลตามแขน ตามขา เยอะมาก”

แถมแขนยังหักไปรอบหนึ่ง

แต่ไม่เข็ด เพราะแม้จะเข้าเฝือกไว้อย่างนั้นเขาก็ยังหมั่นซ้อม กระทั่งมาได้ครูซึ่งเป็นนักสเก๊ตบอร์ดมาสอนนั่นแหละ อะไรๆ ก็ค่อยๆ ดีขึ้น

รวมๆ แล้วเจมส์ว่าใช้เวลาหัดและซ้อมอยู่นานเกือบปีก่อนแสดงจริง

ส่วนโรคซึมเศร้า เขาก็ศึกษาตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าต้องสวมบทนี้เช่นกัน ศึกษาตั้งแต่ข้อมูลของโรค สาเหตุที่เป็น ยาที่ใช้ในการรักษา กระทั่งเข้าใจ แล้วก็กลายเป็น “บู” ดังที่ทุกคนได้เห็นในจอ โดยเจมส์พูดถึงเรื่องนี้ว่า

“ผมไม่เรียกว่าดีไซน์” นี่เขาพูดถึงการได้ “บู” มา

“มันคือการเล่นด้วยความเข้าใจ เล่นจากความรู้สึก ไม่ใช่จะเล่นประมาณนี้ อย่างนี้ จะได้ดูเศร้า แต่มันคือแบบ เฮ้ย! เรารู้สึกเศร้าจริงๆ แล้วรีแอ๊กออกไป”

ทั้งนี้ ก่อนที่จะ “เข้าใจ” เขาก็ได้ไปพบจิตแพทย์เพื่อขอข้อมูล รวมถึงได้พูดคุยกับผู้ที่เป็นโรคนี้จริงๆ

“ก่อนนี้ผมไม่ได้มีข้อมูลเท่าไหร่ รู้ว่าเป็นโรค แต่ไม่รู้ว่าคืออาการผิดปกติอะไร คนส่วนใหญ่ชอบมองว่าโรคซึมเศร้ามันแค่แบบอ่อนแอเอง เป็นความคิดของตัวเองที่ไม่สู้ แต่ที่จริงเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองด้วยไง คนที่เป็น เขาไม่ได้อยากเป็นหรอก เขาอยากหายจะตาย แต่ที่จิตเขาอ่อนแอ เพราะสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ”

ทั้งนี้ ก่อนจะเปิดกล้อง เขาพยายามหาความเป็นบูอยู่นาน ถ่ายจริงวันแรกก็ยังไม่พบดี แต่พอคิวที่ 2 ของการถ่ายทำ อยู่ๆ ก็ได้มา หลังจากวันนั้นทุกอย่างจึงโอเคมากขึ้น ความยากน้อยลง เหลือแต่ความเหนื่อยอันคงที่

“จะเหนื่อยร้องไห้” เขาว่า

เพราะ “บทนี้ผมร้องทุกคิวเลย 19 คิว”

เจมส์ยังเล่าบรรยากาศการทำงานให้ฟังด้วยว่า ระหว่างถ่ายทำ เขาจะสวมคาแร็กเตอร์ตัวละครตั้งแต่เข้ากองยันออกกองกลับบ้าน ระหว่างนั้นวันทั้งวันเขาจะไม่พูดกับใคร กินข้าวก็กินคนเดียว ใช้ชีวิตคนเดียว ตามมุมมืดของสถานที่ถ่ายทำ

เล่าอีกว่า ตอนถ่ายทำเสร็จ เขานึกว่าตัวเองสลัดบูออกจากความรู้สึกหมด แต่เอาจริงก็มีช่วงที่จูนคาแร็กเตอร์ไม่ออก เนื่องจากช่วงนั้นมีหลายสิ่งเข้ามาในชีวิต ทั้งการงาน ทั้งการเรียน สุดท้ายจึงต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษา

“ผมรู้จักโรคซึมเศร้าทุกอย่าง แล้วกลัวว่าเราจะเป็นหรือเปล่า เช็กอาการตัวเอง แล้วก็ไปหา”

ได้รับยามาจนตอนนี้ก็เป็นปกติดีแล้ว

บอกด้วยว่า ที่เคยได้ยินมาคือมีคนคิดว่าผู้ไปพบจิตแพทย์ คือคนบ้า ซึ่ง “ผิดมหันต์”

“ใครที่คิดแบบนี้อยู่ เลิกสักที มันแย่มาก มันไม่ใช่ คนไปหาก็ปกติ เป็นการไปนั่งระบายความเครียด มีคนรับฟังที่มีความรู้ จะได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง แค่รู้สึกไม่ดี ก็ไปหาได้แล้ว”

“คนที่คอยชี้ ว่าคนอื่นเป็นบ้า น่าจะไปหา”

“สังคมไทยควรเปิดกับโรคซึมเศร้า ควรเปิดใจกับจิตแพทย์ คนที่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการ ไปหาเถอะ ไปหาเร็วๆ ดีกว่าปล่อยให้เป็นมากกว่านี้แล้วไป มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ใช่เรื่องผิด มันคือความกล้า”

เจมส์ยังเผยด้วยว่า เขาตั้งใจกับงานชิ้นนี้มาก ดังนั้น นอกจากจะพยายามศึกษาเพื่อสวมบทตามคาแร็กเตอร์ให้ดีที่สุดแล้ว เพื่อให้ “เนียน” ยิ่งขึ้น เขาจึงรีดน้ำหนักตัวเองออกไปอีก 8 กิโลกรัม

“เวลาทำอะไร อยากทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ทำครึ่งๆ กลางๆ ไม่ใช่ว่าบทนี้เอาใครมาเล่นก็ได้ ผมจะเป็นบูแบบที่คนอื่นเล่นไม่ได้ เป็นบูแบบไม่มีใครก๊อบปี้ได้”

“เราต้องไปให้สุดในทุกทาง เพราะเราเลือกที่จะเป็นนักแสดงแล้ว แล้วเราไม่ได้อยากเหมือนคนอื่น ไม่อยากเป็นรองใคร”

เมื่อถามเจมส์ว่า ในความคิดเขาทำไมซีรีส์ตอนนี้จึงกับเอากีฬาสเก๊ตบอร์ดมาเข้าคู่กับโรคซึมเศร้า และคำตอบที่ได้จากเขาคือ “ผมรู้สึกว่ามันมีคีย์หลักอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน”

“สเก๊ตบอร์ดเป็นกีฬาที่ไม่ต้องแข่งกับคนอื่น แต่สู้กับตัวเอง โรคซึมเศร้าก็เหมือนกัน มันคือการสู้กับตัวเอง”

“แล้วอีกอย่างสเก๊ตบอร์ดกับโรคซึมเศร้า เหมือนเป็น 2 อย่างที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ยังไม่ได้รับการแพร่หลาย มันจะมีความโดนตัดสินอยู่เยอะมาก”

สำหรับซีรีส์เรื่องนี้ เจมส์ซึ่งในอีกสถานะคือนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า จุดหลักๆ แน่ๆ ที่เขาและทีมงานทำขึ้นมาคือ อยากให้คนดูสนุก

“แต่เราไม่ได้อยากให้แค่สนุก แล้วจบไป”

เพราะ “ถ้าแค่เอนเตอร์เทนคน มันไม่ได้อะไร”

“ผมรู้สึกว่าพอเราถือสื่ออยู่ในกำมือ เราทำอะไรกับสื่อได้มากกว่านั้น ให้ประโยชน์กับคนได้มากกว่านั้น ช่วยสังคมได้มากกว่านั้น”

ซึ่งเขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในส่วนคนดูซีรีส์เรื่องนี้จะได้รับประโยชน์เหล่านั้น ขณะที่ในส่วนคนทำคนอื่นๆ จะช่วยกันสร้างสรรค์งาน ที่สุดท้ายแล้วจะทำให้สังคมของเราดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image