ขรรค์ชัย-สุจิตต์ พาสำรวจ “ท้องพระเมรุ” กลางกรุงศรีอยุธยา เผยเส้นทางแห่พระบรมศพ เล่าเรื่องถนนสายปวศ.

เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 19 กันยายน ที่พระราชวังโบราณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา “มติชนทีวี” ถ่ายทอดสดรายการ “ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทัวร์ทอดน่องท่องเที่ยว” ตอน “สนามหลวงยุคกรุงเก่า ท้องพระเมรุ กลางกรุงศรีอยุธยา” ผ่านทางเฟซบุ๊ก “มติชนออนไลน์” ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เลิศธรรมธร

เริ่มต้นจากบริเวณลานกว้างหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท นายสุจิตต์ ได้เริ่มต้นเล่าถึงพื้นที่โดยรวมในบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นเขตพระราชวังหลวง มีพระราชฐาน 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นใน เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินและมเหสี , ชั้นกลาง เป็นพระที่นั่งสำหรับว่าราชการ และชั้นนอก เป็นสถานที่ราชการ และลานการละเล่นพิธีกรรม เรียกว่า “สนามหน้าจักรวรรดิ” ตั้งชื่อตามพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท ซึ่งสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าปราสาททอง เมื่อ พ.ศ.2175 โดยเป็นที่ตั้งพระบรมศพและที่ประทับประกอบพระราชพิธีประจำปี

“สนามหน้าจักรวรรดิ ยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ ถึงกำแพงวังด้านทิศใต้ ผ่านหน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ มีประตูวังออกไปท้องพระเมรุอยู่หน้าวิหารมงคลบพิตร สนามนี้มีการละเล่นในพิธีกรรม กฎมณเทียรบาลบอกว่า เดือนห้า พระราชพิธีออกสนามใหญ่ ซึ่งตรงกับทุกวันนี้คือสนามหลวง” นายสุจิตต์กล่าว พร้อมเดินชมพระที่นั่งซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานที่ก่อจากอิฐเท่านั้น

จากนั้น นายสุจิตต์ และนายขรรค์ชัย มุ่งหน้าไปยัง “วัดพระศรีสรรเพชญ์” ซึ่งเป็นวัดในวังหลวง ต้นแบบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วในยุครัตนโกสินทร์ แล้วเดินเท้าต่อไปยัง “อนุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง” ซึ่งหล่อด้วยโลหะทองแดง ทองเหลือง และรมด้วยน้ำยาสีเขียว โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมจารึกที่ฐาน มีเนื้อหาว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

Advertisement

นายสุจิตต์กล่าวว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นวีรบุรุษในตำนานแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่มีตัวตน แต่มีหลายองค์มาจากลุ่มน้ำโขงทางบก และเมืองจีนทางทะเล

ต่อมา นายสุจิตต์และนายขรรค์ชัย พากันเดินไปในจุดที่เป็น “ท้องพระเมรุ” ซึ่งมีหลักฐานระบุว่างานพระเมรุเผาศพเจ้านายแรกมีในยุคพระเจ้าปราสาททอง โดยกล่าวกันว่าโปรดให้สร้างพระเมรุมาศบริเวณที่ว่างทางใต้วิหารพระมงคลบพิตร

“จดหมายเหตุการพระศพกรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์ ทรงพรรณนาการอัญเชิญพระศพมาทางชลมารค แล้วแห่ไปตั้งไว้บนพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ เมื่อครบกำหนดจึงเชิญไปยังพระเมรุมาศที่ท้องพระเมรุ คำว่าพระเมรุ มาจากเขาพระสุเมรุ สร้างเลียนแบบปราสาทนครวัดของกัมพูชาซึ่งเป็นเทวสถานที่เป็นสุสาน คือนอกจากเป็นที่สถิตของเทพในศาสนาพราหมณ์แล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิในโลงหินหรือหีบหินด้วย” นายสุจิตต์กล่าว

Advertisement

จากนั้น นายสุจิตต์และนายขรรค์ชัยเดินต่อไปยังถนนหน้าวังหลวงซึ่งเอกสารสมัยอยุธยาเรียกว่า “มหารัถยา” ปูด้วยศิลาแลง เป็นเส้นทางกระบวนแห่รับราชทูตต่างชาติ กระบวนแห่พยุหยาตราทางสถลมารค ชลมารค รวมถึงแห่พระบรมศพด้วย

“ประวัติศาสตร์ไทยในตำราเรียนมีแต่สงคราม ไม่มีประวัติศาสตร์สังคมที่มีชีวิตและสีสัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย” นายสุจิตต์กล่าว

ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการถ่ายทอดสด ได้มีกลุ่มผู้ติดตามชมสดในสถานที่จริงเข้าพูดคุยและขอถ่ายภาพร่วมกับวิทยากรทั้ง 2 รายเป็นจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image