กอบศักดิ์ ภูตระกูล ‘ส่องอีอีซี’ 6 เดือนเห็นรูปธรรม

หมายเหตุ – บทสัมภาษณ์พิเศษ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้บรรลุตามเป้าหมาย

ความคืบหน้าล่าสุดของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนในพื้นที่อีอีซี

สาเหตุที่ต้องใช้รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (พีพีพี) เพราะการลงทุนแบบพีพีพีเป็นเรื่องที่สำคัญ การทำโครงการต่างๆ โดยใช้เพียงงบประมาณของรัฐมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณและเวลา จึงคิดกันเรื่องการร่วมทุน เพื่อให้เอกชนมาแบ่งเบาภาระและร่วมดำเนินการกับรัฐได้

ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำพีพีพีมาแล้วในการลงทุนรถไฟฟ้าหลายสาย ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงกระบวนการพีพีพีให้มีความกระชับขึ้น จากเดิมต้องใช้เวลาตั้ง 40 เดือน จากเริ่มจนเสร็จโครงการ ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 2-3 รัฐบาล ไม่มีทางสำเร็จได้เลย รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ภายในรัฐบาลของตนเอง ขั้นตอนจึงลดมาเหลือ 20 เดือน แต่ยังไม่ทันกับความต้องการของอีอีซีที่จะเดินไปข้างหน้า ทีมงานอีอีซีร่วมหารือกับ สคร.หาแนวทางให้โครงการที่จะลงทุนแบบพีพีพีในอีอีซีที่มีกฎเกณฑ์เฉพาะของตนเอง เพื่อให้สามารถทำซุปเปอร์ฟาสต์แทร็กได้ เรียกว่าอีอีซีแทร็ก ทำให้สามารถลดเวลาดำเนินการลงเหลือ 10 เดือน น่าจะทำเสร็จได้ใน 1 รัฐบาล ในช่วง 1 ปีข้างหน้าเราสามารถลงหลักปักฐานโครงการสำคัญๆ ได้

Advertisement

ขณะนี้ระเบียบใหม่การทำพีพีพีในพื้นที่อีอีซีรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดจะเป็นปลายเดือนนี้ หัวใจสำคัญคือ ความยั่งยืนของอีอีซี ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถลงทุนโครงการสำคัญๆ ได้เสร็จภายในรัฐบาลนี้หรือเปล่า หากลงทุนได้ รัฐบาลใหม่มาก็ไม่กังวลใจ เพราะว่าได้เปลี่ยนคุณค่าของอีอีซีไปแล้ว จะมีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ที่ทำให้มีคุณค่ามากขึ้น ความน่าอยู่ของพื้นที่ได้ปรับปรุงเรียบร้อย

โครงการที่เราจะทำช่วงแรก เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) และศูนย์ฝึกต่างๆ รวมมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาท นี่คือโครงการที่เข้าข่ายอีอีซีแทร็กโครงการเหล่านี้ดำเนินการบนพื้นฐานที่ว่า นี่คือโครงการที่เราจะต้องทำแน่

ความต่างของอีอีซีแทร็กกับพีพีพีทั่วไปคือ โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับอีอีซีต้องทำแน่ เป็นโครงการที่มีคำว่าแน่นอนอยู่ในนั้น เราต้องทำให้ได้ ส่วนโครงการพีพีพีอื่นๆ อาจจะไม่ต้องทำก็ได้ หากยังไม่เห็นความจำเป็นหรือคุ้มค่าพอรู้ว่าต้องทำแน่ กระบวนการดำเนินการสามารถทำต่างจากโครงการพีพีพีเดิมได้ ไม่ต้องรอให้ขั้นตอนหนึ่งเสร็จแล้วค่อยทำอีกขั้นตอน สามารถทำขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

Advertisement

ที่ปรึกษาก็อาจจะใช้คณะกรรมการเดียวกับที่ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการร่วมกันขณะเดียวกันก็เริ่มเอาแนวคิดที่ได้แล้ว ไปทำร่างสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง (ทีโออาร์) พร้อมๆ กันเลย นี่คือสิ่งที่เอกชนเคยทำ ทำให้เห็นว่าเวลาสร้างอาคารใหญ่ๆ สักหนึ่งอาคารจึงเสร็จเร็ว ก็เอาแนวคิดเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับพีพีพี

ทำไมอีอีซีพูดมาครึ่งปี แต่รูปร่างโครงการยังไม่ขยับ

โครงการเหล่านี้ในช่วงต้นต้องให้เวลา ไปเร่งที่อื่นๆ ได้ แต่ไปเร่งตรงศึกษาโครงการและความเป็นไปได้ทางธุรกิจและทางเทคนิคต้องทำให้เหมาะสม ต้องทำให้รัดกุม ถ้าทำให้รัดกุมได้ก็จะสามารถเดินหน้าไปข้างหน้าได้ดี นี่คือช่วงแรก

ส่วนความเร็วจะเกิดขึ้นในช่วงที่ 2 การทำร่างทีโออาร์ จะออกมาได้ปลายปีนี้ และความเร็วเกิดช่วงที่ 3 คือการทำสัญญา

คาดไตรมาส 2 ปีหน้าจะเกิดกระบวนการลงทุน ยืนยันทุกขั้นตอนตั้งใจให้มีความโปร่งใส หากจำเป็นก็เอาสัญญาคุณธรรมมาใช้ นำระบบเปิดเผยข้อมูลโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

นายกฯได้สั่งการว่า เวลาทำอะไรแล้วให้รัดกุม โปร่งใส และจะไม่มีการหย่อนระเบียบต่างๆ ที่สำคัญๆ นอกจากนี้ อีกสัก 1-2 เดือนจะเริ่มเห็นความคึกคักเกิดขึ้นจากโครงการใหญ่ๆ เพราะแต่ละโครงการจะมีการหารือกับภาคเอกชนเป็นระยะๆ พอเรามีแต่ละโครงการก็จะเชิญเอกชนร่วมหารือ จะเป็นอีเวนต์ใหญ่

โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอยากทำก่อนเพื่อน เพราะเราสามารถลงเสาเข็มได้ เพื่อให้เห็นว่าโครงการเกิดขึ้นจริง สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนและสร้างความคึกคัก พอโครงการเหล่านี้

ลงไปได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนของภาคตะวันออก ทำให้ภาคตะวันออกมีคุณค่าเพิ่มขึ้น และความน่าสนใจจากต่างชาติจะเพิ่มขึ้น มีระบบโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการเชื่อมโยงถึงกัน ทำให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของทั้งภูมิภาคนี้

ดังนั้น คุณค่าอีอีซีไม่ได้มาจากแค่โครงการในอีอีซีอย่างเดียว แต่คือสิ่งที่เราทำในและนอกอีอีซี

เป้าหมายตามแผนอีอีซีต้องทำอะไร

อีอีซีมีเป้าหมายที่ 1 คือ ปรับโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มคุณค่าให้อีอีซี เป้าหมายที่ 2 ดึงดูดการลงทุน ที่เป็นพวกอุตสาหกรรมขั้นสูงมาอยู่อีอีซีเพิ่มเติม และดึงสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างๆ มาอยู่ตรงนี้

เป้าหมายต่อไป เราต้องให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตในอินโดจีนให้หมดให้ได้ จากโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะเชื่อมถึงกันได้ภายในประเทศ โดยเฉพาะทางราง หลังจากนั้นจะทำโครงข่ายต่างๆ เชื่อมโยงถึงภูมิภาค จะคุยกับกรมศุลกากรว่าจะปลดล็อกชายแดนได้อย่างไร ตอนนี้เราเชื่อมกับเพื่อนบ้านอยู่แล้ว มันเชื่อมไม่ดี

ขณะนี้สามารถเชื่อมได้ดีกว่านี้ วิ่งผ่านด่านไม่ต้องตรวจซ้ำ รถบรรทุกวิ่งทะลุถึงกันได้เลย ทำอย่างไรให้โลจิสติกส์เกิดขึ้นอย่างเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแท้จริง ทำอุตสาหกรรม ทำโครงสร้างพื้นฐานทำเชื่อมโยงในประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศ จะเป็นเฟสต่อๆ ไป เพื่อทำให้อีอีซีบรรลุถึงศักยภาพ นอกจากนี้ ภายในประเทศ หากโมเดลอีอีซีสำเร็จ เราก็มีแนวคิดจะไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภาคของไทยด้วย

โครงการโครงสร้างพื้นที่สำคัญๆ ในช่วงแรกของอีอีซี มีมูลค่ารวมกันประมาณ 4 แสนล้านบาท คิดว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้ เม็ดเงินจะไม่ออกมาง่ายๆ กว่าจะประมูลและลงทุนก็ต้องกลางปีหน้า ที่สำคัญกว่านั้นคือ เอกชนที่ตัดสินใจลงทุน เขาเห็นความแน่นอนของโครงการนี้ คาดว่าจีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ 3.5-4% ปีหน้าจะดีขึ้น ขยายประมาณ 4%

เรื่องพีพีพีในอีอีซี ตั้งข้อสังเกตเปิดช่องให้รายใหญ่ ตัดโอกาสรายกลางและเล็ก

ต้องเข้าใจว่าโครงการที่จะทำต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงพอสมควร ครั้งนี้อย่าคิดว่าจะให้แต่เจ้าสัวในเมืองไทย มั่นใจว่าโครงการพีพีพี ที่เหมาะสมจะดึงดูดให้ทั้งโลกเข้ามาแข่งขันกับคนไทย มันมีความจำเป็นต้องเป็นรายที่มีความสามารถทางเทคโนโลยี และต้องแข่งขันกันประมูล เมื่อเขาเข้ามาแล้วก็ต้องจ้างงานคนไทยอยู่ดี เพราะก่อสร้างในไทย จะเอาคนต่างชาติมาทำได้อย่างไร ก็ต้องแบ่งสันปันส่วนไปตามลำดับ พอโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ เสร็จโครงสร้างพื้นฐานเล็กๆ ก็จะตามมา ถนนเล็กถนนน้อย มอเตอร์เวย์ ตรงนี้งานคนไทย

นอกจากนี้ มีคนถามว่าชาวบ้านได้อะไรจากอีอีซี ในกฎหมายอีอีซีที่กำลังจะเอาเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกรอบภายในเดือนนี้ จะมีส่วนหนึ่งเขียนถึงกองทุนพัฒนาพื้นที่อีอีซี ต่อไปคนที่ทำธุรกิจในอีอีซีต้องแบ่งกำไรนิดๆ หน่อยๆ มาให้กองทุนนี้ เงินที่ไหลเข้ามาจากแต่ละคนอาจจะไม่มาก แต่พอรวมกันทุกคนแล้วมันจะมาก แล้วเงินดังกล่าวจะกลับไปสู่การให้การช่วยเหลือด้านการศึกษา ด้านสาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียว ให้แก่คนในพื้นที่ เมื่อกฎหมายออกมาแล้ว กองทุนสามารถตั้งได้ทันที ซึ่งสัดส่วนเงินที่หักออกมาจะคิดตามธุรกรรม เช่น ผลิตสินค้า 1,000 บาท จะถูกหักไม่กี่สตางค์ แต่การผลิตมีเป็นล้านชิ้น เมื่อมารวมกันจะเป็นเงินที่ใหญ่มาก โดยคณะกรรมการกองทุนนี้จะมีคนในท้องถิ่นเข้ามาร่วมด้วย

ผลตอบรับนักธุรกิจญี่ปุ่น 500 ราย ลงพื้นที่อีอีซี

นักธุรกิจญี่ปุ่นมากันมาก เพราะเขาสนใจ พอลงดูพื้นที่ก็จะเห็นลู่ทาง โอกาสคืออะไร พอเขากลับก็จะต้องมาคิดกันต่อว่าจะเดินหน้ากันอย่างไร ส่วนนักธุรกิจฮ่องกงมาแล้ว จีนก็มาแล้ว คาดว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติทยอยมาเรื่อยๆ อยากให้อีอีซีเป็นโครงการเปิดกว้าง นายกฯเรียกโครงการนี้ว่าประตูสู่เอเชีย ถือว่าเป็นประตูสู่อาเซียน อยากให้คนมาลงทุนนอกภูมิภาคเห็นว่านี่คือพื้นที่สำคัญในการบริหารจัดการตลาดแถวนี้ เราก็พยายามปลดล็อกสิ่งต่างๆ เพื่อการนี้ นอกจากนี้ หลายบริษัท เช่น ลาซาด้า อาลีบาบา แอร์บัส โบอิ้งก็อยากเข้ามาทำ หลายบริษัทกำลังติดต่อเข้ามาลงทุน

อะไรคือความกังวลในเรื่องอีอีซี

ต้องดำเนินการวางกรอบต่างๆ ให้ดี พยายามไปทีละขั้น ทั้งทีโออาร์ออกมาให้ได้ ทำกฎหมายออกมาให้ได้ ชักจูงนักลงทุนมา และทำการปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ ทยอยทำ แต่เวลามีจำกัด ความท้าทายทั้งหมดคือเวลา ว่าจะทำแต่ละอย่างในเวลาจำกัดอย่างไร

อีอีซีตอบโจทย์การกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร

รัฐบาลทำหลายโครงการพร้อมกันที่อีอีซี เป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ถ้าทำอีอีซีสำเร็จ จะมีกรุงเทพฯแห่งที่ 2 แต่ไม่ได้หมายถึงเมือง แต่คือมูลค่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่อีอีซีไม่น้อยกว่ากรุงเทพฯ ความกระจุกตัวต่างๆ ของประเทศจะลดลงไป เพียงแต่ว่าการจะลงไปถึงพื้นที่ประชาชนข้างล่าง ต้องมีมาตรการดูแลการกระจายรายได้ ดูแลผู้มีรายได้น้อยอีกมาตรการหนึ่ง คือไม่มีอะไรที่ทำหนึ่งอย่างแล้วตอบโจทย์ทุกอย่าง

อย่างน้อยๆ อีอีซีจะตอบโจทย์ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นกรุงเทพฯที่เดียว ในอนาคตหากทำตรงนี้สำเร็จก็จะทำพื้นที่อื่น จะเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ ให้เกิดความสำคัญ

——

ในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวสู่ปีที่ 40 ได้จัดงานสัมมนา ในหัวข้อ EEC แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลกŽ ในวันที่ 21 กันยายนนี้ เวลา 08.30-12.30 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ฟรีผ่านทาง

http://www.foloart.com/eec2017/ และดูรายละเอียดเพิ่มเติมของงานที่https://www.matichon.co.th/news/654661

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image