นักกฎหมายชี้ 3 มาตรา ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่กำหนดเกณฑ์ใช้อำนาจทางคดีให้ชัด เสี่ยงถูกมองเลือกปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 19 กันยายน เเหล่งข่าวในกระบวนการยุติธรรมได้ให้ความเห็นถึงร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายในสาระสำคัญ จากเดิม โดยให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาและเยียวยาความเสียหาย แทนคณะกรรมการอำนวยความยุติธรรมทางอาญาเกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ว่ามีประเด็นที่น่าสนใจในร่าง พ.ร.บ.นี้ มาตรา 12 ที่กำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 ซึ่งตามมาตรา 21 นี้ได้บัญญัติให้อัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้หากเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ.2554

มีประเด็นที่น่าพิจารณาในเรื่องนี้คือ ร่าง พ.ร.บ. มาตรา 12 บัญญัติให้อัยการสูงสุดใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ในการสั่งไม่ฟ้อง โดยไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้อำนาจดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุดให้ชัดเจน ว่าควรต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร ถึงแม้จะมีการอิงหลักเกณฑ์การใช้อำนาจตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนดังที่กล่าวไป แต่ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดฉบับนี้เป็นระเบียบที่ใช้กับกรณีทั่วๆ ไป ไม่ได้เจาะจงใช้กับคดีที่เป็นการกระทำผิดอาญา เนื่องจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง จึงทำให้การใช้อำนาจสั่งไม่ฟ้องโดยจะมาอ้างอิงตามระเบียบนี้ ขาดความชัดเจน และขาดหลักเกณฑ์การใช้อำนาจที่ครอบคลุมและเหมาะสมต่อคดีทางการเมือง

นอกจากนี้ ตามร่าง พ.ร.บ. มาตรา 13 ที่กำหนดว่า เมื่อศาลเห็นสมควรให้ศาลมีอำนาจรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้ หรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ ก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้อำนาจดุลพินิจของศาลให้ชัดเจนว่าอย่างไรจึงจะเป็นการสมควรให้ศาลใช้อำนาจในเรื่องนี้ได้

โดยปัจจุบันนี้ กฎหมายใหม่ที่ตราขึ้นบังคับใช้จะกำหนดหลักเกณฑ์การใช้อำนาจดุลพินิจของหน่วยงานผู้ใช้อำนาจให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในการใช้อำนาจดุลพินิจ เช่น การสั่งรับฎีกาของศาลฎีกาในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ให้อำนาจศาลฎีกาสั่งรับฎีกาได้เมื่อเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 46 จะกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เลยว่าอย่างไรเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการใช้อำนาจของศาลฎีกาว่าจะสั่งรับฎีกาหรือไม่

Advertisement

ในเรื่องการเยียวยาความเสียหาย ตามร่าง พ.ร.บ. มาตรา 14 ที่ให้อัยการสูงสุดมีหน้าที่เสนอข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้การเยียวยาต่อไป ก็ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเยียวยาผู้เสียหายของคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจนว่าจะมีหลักเกณฑ์ในการเยียวยาอย่างไร

“ที่สำคัญที่สุดคือร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิดทุกคนไม่ต้องมีความผิดและไม่ต้องรับโทษ แต่เป็นการพิจารณาผู้กระทำความผิดแต่ละราย เป็นคนคนไป จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในร่างกฎหมายให้ชัดเจน และมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับให้ได้ว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น นปช. พันธมิตร เสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อหลากสี ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ว่ามี 2 มาตรฐานเลือกปฏิบัติเป็นคุณกับฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นโทษกับอีกฝ่าย ดังนั้น จึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อรองรับและควบคุมการใช้อำนาจที่ต้องมีความเป็นธรรม เสมอภาค และเท่าเทียมกัน” เเหล่งข่าวในกระบวนการยุติธรรมกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image