คพ. ชี้แจงชาวบ้านต้านการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ระบุอปท. ต้องคุมการปล่อยมลพิษ

กรณีชาวบ้านต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี, อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี, อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา, อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์, ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โรงไฟฟ้าขยะ ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี โดยชาวบ้านอ้างว่าเป็นผลจากคำสั่ง คสช. ที่เอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะโดยไม่คำนึงถึงเรื่องผังเมืองและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน ประชาชนเริ่มออกมาต่อต้าน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เคยทราบเงื่อนไขการอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ ขณะนี้ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแล้ว นั้น

เมื่อวันที่ 19 กันยายน นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ตามนโยบายการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2560) ที่กำหนดให้ขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นรายวัน ควรได้รับการจัดการและกำจัดให้หมดเป็นประจำทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอยตกค้าง และให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการขยะมูลฝอยด้วยการจัดการ ขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน โดยจัดให้มีสถานที่หรือศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมเพื่อกำจัดขยะมูลฝอย หรือแปรรูป ขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน จะต้องมีระบบการคัดแยกขยะมูลฝอยและนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์มากที่สุด ในขณะเดียวกันจะต้องมีการควบคุมกำกับการดำเนินการไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษที่มีผลกระทบต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมกับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง

นางสุณี กล่าวต่อว่า คพ. ได้มีการดำเนินการออกมาตรฐานและหลักเกณฑ์ทางวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สำหรับในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีความประสงค์ที่จะจัดการขยะมูลฝอยโดยการเผาจะต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้เตาเผามูลฝอยเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ และกำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเอกชนที่ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยชุมชนดังกล่าวจะต้องมีการควบคุมการปลดปล่อยมลพิษที่เกิดขึ้นทางด้านน้ำเสีย และอากาศเสีย รวมถึงเถ้าหนักและเถ้าลอยจากเผาไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รักษาการอธิบดีคพ. กล่าวว่า ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องกำกับดูแลให้เอกชนผู้สนใจลงทุนดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและข้อจำกัดของโครงการเพื่อกำหนดและออกแบบเทคโนโลยี มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องตลอดจนประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : CoP) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประกาศ เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ที่มีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ พ.ศ. 2559 ซึ่งเอกชนผู้สนใจลงทุนต้องดำเนินการด้านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องกับโครงการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและลดความวิตกกังวล รวมทั้งรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อห่วงใยจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและผู้เกี่ยวข้องกับโครงการมาปรับปรุงและเพิ่มมาตรการมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับลักษณะโครงการและที่ตั้งของโครงการ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image