‘รพ.มงกุฎวัฒนะ’ จวกเกณฑ์บัตรทองมีปัญหา ผ่าตัดผู้ป่วยหัวใจไม่ได้ จ่อร้อง’นายกฯ-ปิยะสกล’

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา

ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ ประกาศคนไข้โรคหัวใจบัตรทอง รอคิวผ่าตัด 40-50 คน ใช้สิทธิรักษาฟรีไม่ได้ เหตุเกณฑ์ สปสช.ทำยุ่ง ต้องย้ายเริ่มต้นรักษาใหม่ รพ.อื่น ด้าน สปสช.แจงด่วนข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 19 กันยายน  พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) มงกุฎวัฒนะ กล่าวว่า  รพ.มงกุฎวัฒนะได้เข้าร่วมในระบบบัตรทองตั้งแต่ปี 2550 และเข้าเป็นหน่วยบริการหลักในระบบบัตรทองกับ สปสช.ตั้งแต่ปี 2553 จากความจำเป็นของ สปสช. ที่ รพ.เอกชนออกจากการเป็นหน่วยบริการ จึงได้ขอร้องให้ช่วยรับผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รพ.มีผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 1.2 แสนคน และรับส่งต่อมาใหม่อีก 6 หมื่นคน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยบัตรทองประมาณ 2 แสนคน ซึ่งทาง รพ.มงกุฎวัฒนะ มีขีดความสามารถขั้นสูงในการให้บริการในด้านต่างๆ รวมทั้งโรคหัวใจ ทั้งการทำบอลลูน การใส่สายสวนหัวใจ และการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งทุกปีจะให้การผ่าตัดโรคหัวใจเป็นร้อยๆ คนในขณะที่บางโรงพยาบาลไม่มีการผ่าตัดเลย

“สปสช.ได้ยื่นข้อเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ ซึ่งเป็นหน่วยบริการในระบบที่รับส่งต่อในกรณี รพ.ตามสิทธิไม่สามารถรักษาได้และให้มีการแขวนป้ายศัลยแพทย์หัวใจรักษาคนเดียว ไม่เช่นนั้นจะไม่จ่ายเงิน ซึ่งเรารับไม่ได้เพราะเราเป็นหน่วยงานหลักให้บริการประชาชนเทียบเท่า รพ.รัฐ และมีหมอหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง มีคนไข้หัวใจบัตรทอง ที่มีคิวผ่าที่ รพ.มงกุฎวัฒนะในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2560 ราว 40-50 คน ต้องไปหา รพ.ใหม่ และรอผ่าใน รพ.ใหม่ ดังนั้น หาก สปสช.ไม่ยอมจ่ายเงินค่ารักษาโรคหัวใจ เดือนตุลาคม ปีงบประมาณ 2561 ผลเสียจะตกที่ประชาชนอย่างชัดเจนในการต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และทาง รพ.ก็จะต้องตกเป็นจำเลยสังคมหากไม่ให้รับการรักษาโรคหัวใจ” พล.ต.นพ.เหรียญทองกล่าว

พล.ต.นพ.เหรียญทองกล่าวอีกว่า หาก สปสช.อ้างว่าทำเพื่อมาตรฐานคำนึงหรือไม่ว่ามาตรฐานนั้นทำให้คนไข้บัตรทองต้องเสี่ยงเสียชีวิตมาแล้วกี่คน ซึ่งที่ผ่านมาขอให้ช่วย ทาง สปสช.ก็ช่วยมาตลอด การผ่าตัดโรคหัวใจเป็นร้อยๆ คนต่อปีทำให้ รพ.ขาดทุนด้วยซ้ำ อย่างช่วยโรคหัวใจปีละพันกว่าคน ซึ่งขาดทุนปีละหมื่นกว่าบาท แต่ รพ.ก็ไม่ได้คิดตรงจุดนั้นเพราะถือว่าช่วยคน ทั้งนี้ เพราะการสร้างหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่นนี้เป็นผลทำให้ รพ.ถอนตัวจากระบบมาโดยตลอด ซึ่งตนจะได้ทำหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และยื่นต่อท่านนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อขอให้ สปสช.หยุดหลักเกณฑ์ดังกล่าว

Advertisement

“ผมไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนรับส่งต่อ เพราะผมเป็นหน่วยบริการหลักอยู่แล้ว แต่หากจะให้รับส่งต่อผมก็ช่วยให้ ทั้งที่ภาระผมก็เยอะ และขาดทุนด้วยซ้ำ แต่พอมีเงื่อนไขแบบนี้ ผมก็ไม่เอาหรอก ซึ่งผมมีศัลยแพทย์หัวใจเต็มเวลา 24 ชั่วโมงเป็นสิบๆ ปีก่อนจะเข้าบัตรทองเสียอีก ซึ่งตุลาคมนี้ก็มี รพ.ถอนตัว ผมก็รับให้อีก จริงๆ ผมมีมาตรฐานแล้ว ผมมีหมอเชี่ยวชาญตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ตี 1 ตี 2 มีหมด ถามว่ามีคนเดียวนี่คือเกณฑ์มาตรฐานหรืออย่างไร ที่กังวลคือ วันนี้ 1 ตุลาคมนี้คนไข้หัวใจแบบส่งต่อเข้ามาจะทำอย่างไร และหากส่งต่อไปและเกิดเขาเสียชีวิต ผมก็เป็นจำเลยทันที ผมว่าไม่แฟร์ จริงๆ สปสช.จัดแถลงข่าวเชิญผมไปด้วยก็ดี ผมจะแจงข้อเท็จจริงทั้งหมดเลย เรื่องนี้คนที่เดือดร้อนคือ คนไข้ ไม่ใช่ผม ผมขอท้าเลยมาแถลงร่วมกัน ผมจะบอกข้อมูลทุกอย่างเลย” ผู้อำนวยการฯกล่าว

พล.ต.นพ.เหรียญทองกล่าวอีกว่า หากคนไข้ส่งต่อออกไปนั้น ก็ต้องเริ่มใหม่ไปรอคิวการผ่าตัดอีก ซึ่งปัจจุบันก็มีคิวรอการผ่าตัดอยู่แล้ว แค่รอคิวก็เดือดร้อนแล้ว และแม้จะผู้ป่วยส่งต่อเข้ามาด้วยอาการฉุกเฉิน ก็ไม่เข้าเกณฑ์อีก หาก สปสช.ไม่จบเรื่องนี้ 1 ตุลาคม มีปัญหาแน่นอน  เพราะการเป็นหน่วยบริการหลัก แม้ผู้ป่วยโรคหัวใจมาด้วยภาวะฉุกเฉินก็ไม่สามารถเข้าเกฑณ์ สปสช. และ สปสช.จะไม่จ่ายค่ารักษาอีก ถามว่าตนต้องมารับปัญหาของ สปสช.หมด คงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ตนจะไม่ถอนตัวบัตรทอง แต่ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจเป็นปัญหาจริงๆ และประชาชนต้องทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีผู้ป่วยหัวใจมาด้วยอาการฉุกเฉินก็รับไม่ได้หรืออย่างไร พล.ต.นพ.เหรียญทองกล่าวว่า สปสช.ระบุว่าเมื่อเป็นหน่วยบริการหลักทำให้ไม่สามารถรับผู้ป่วย แม้จะเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยซ้ำ หากจะได้ก็ต้องไปยื่นอุทธรณ์ ถามว่าหลักเกณฑ์เหล่านี้เหมาะสมหรือไม่

Advertisement

วันเดียวกัน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า กรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจนั้น ขอเรียนประชาชนว่า ไม่ต้องกังวล รพ.มงกุฎวัฒนะยังคงหน่วยบริการประจำอยู่ ส่วนการไม่ผ่านเกณฑ์เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคหัวใจนั้น เนื่องจาก สปสช.ได้มีการกำหนดเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2560 ได้ประกาศเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป โดยเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการกำหนดโดยคณะทำงานที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค

รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ก่อนหน้าที่จะมีประกาศฉบับนี้ออกมา ก็มีเกณฑ์กำหนดไว้และได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับเพื่อคุณภาพมาตรฐานตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งลักษณะของโรคและการดูแลรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่า การรักษาพยาบาลต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด หลักเกณฑ์นี้แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ 1.มาตรฐานด้านสถานที่และอุปกรณ์, 2.มาตรฐานด้านบุคลากร, 3.มาตรฐานด้านการจัดการ, 4.มาตรฐานด้านการให้บริการ และ 5.มาตรฐานด้านการจัดการข้อมูล ซึ่งในแต่ละด้านก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อย

นพ.ประจักษวิชกล่าวว่า กรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่านข้อเดียวคือข้อย่อยของมาตรฐานด้านบุคลากร ที่ระบุว่าต้องมีแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมเฉพาะทางศัลยกรรมหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอกปฏิบัติงานประจำเต็มเวลาในเวลาราชการอย่างน้อย 1 คน ซึ่งความเห็นของทาง รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็เป็นมุมมองที่แตกต่างกัน ทาง รพ.มงกุฎวัฒนะมองว่า เป็น รพ.เอกชน เอกชนไม่มีเวลาราชการ เวลาราชการคือ รพ.รัฐดูแล เอกชนทำงาน 24 ชม.อยู่แล้ว และข้ออื่น เช่นเกณฑ์ที่ระบุว่าให้มีแพทย์พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็มีอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ สปสช.ได้พยายามทำความเข้าใจ และได้เรียนปรึกษาหารือกับ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ มาโดยตลอด แต่ทางคณะทำงานที่ออกหลักเกณฑ์ยืนยันว่าหลักเกณฑ์นี้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย หากไม่มีแพทย์เฉพาะทางอยู่ประจำก็จะกระทบกับผู้ป่วยได้ และประกาศหลักเกณฑ์นี้ได้ออกไปแล้ว ใช้สำหรับทุกที่ทั้ง รพ.รัฐและเอกชน ก่อนหน้าที่จะมีหลักเกณฑ์นี้มีหน่วยบริการที่สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจ 50 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ 1 แห่ง ทำให้ปัจจุบันมีหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคหัวใจ 49 แห่ง

“การที่ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่ผ่านเกณฑ์ข้อย่อยข้อเดียวนี้ ข้ออื่นผ่านหมด ไม่ได้หมายความว่า รพ.มงกุฎวัฒนะไม่มีมาตรฐาน ขอยืนยันว่ามีมาตรฐานแต่ไม่ครบตามเกณฑ์จึงทำให้ไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจในระบบบัตรทองได้ ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะเองได้ให้ความช่วยเหลือระบบบัตรทองและ สปสช.มาโดยตลอด ที่สำคัญคือได้ดูแลประชาชนและผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพมาโดยตลอด ช่วงที่มีหน่วยบริการประจำลาออกจากระบบ 1 แห่ง รพ.มงกุฎวัฒนะก็รับเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไปให้ ในกรณีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจนี้ หากภายหลังต่อมา รพ.มงกุฎวัฒนะสามารถมีแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอกปฏิบัติงานประจำเต็มเวลาในเวลาราชการอย่างน้อย 1 คน ก็จะกลับมาเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจได้ตามปกติ” นพ.ประจักษวิชกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับผู้ป่วยที่รอคิวผ่าตัดที่ รพ.มงกุฎวัฒนะอีกประมาณ 40 คน จะทำอย่างไร นพ.ประจักษวิชกล่าวว่า เคสที่รออยู่นั้น ทาง สปสช.จะหา รพ.ให้และทำเรื่องส่งต่อไปยัง รพ.อื่นแทน หากสุดท้ายแล้ว รพ.มงกุฎวัฒนะไม่หาแพทย์หัวใจมาประจำ อย่างไรก็ตาม ในการส่งต่อไป รพ.อื่นอาจต้องใช้เวลา แต่ยืนยันว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการรักษา ไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นไปตามเกณฑ์และกฎหมายของ สปสช. ซึ่งผู้ป่วยสามารถติดต่อมาที่ สปสช.ได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนผู้ป่วยที่ยืนยันจะผ่าตัดที่รพ.มงกุฎวัฒนะก็ต้องรอให้เป็นไปตามเกณฑ์ ไม่อย่างนั้นก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง แต่ทาง สปสช.ก็หวังว่าทาง พล.ต.นพ.เหรียญทองจะปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ซึ่งหากทำได้ทุกอย่างก็จะถูกต้องตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image