จ่อคลอดกม.เรียกคืนคลื่น-หลังพบหลายหน่วยงานไม่ใช้ประโยชน์อื้อ-คาดคลื่น2600 และ 2300 โดนรายแรก

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม ต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าเงินยิ่งขึ้น ว่า ปัจจุบันคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่ความต้องการใช้คลื่นความถี่ทั้งจากภาครัฐและเอกชนมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม ต่อร่างประกาศ กสทช.ในเรื่องดังกล่าว เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากภาคส่วนต่าง ๆ จากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และหน่วยงานภาครัฐ ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศดังกล่าวให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

นายฐากร กล่าวว่า การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ เป็นการอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 (12/1) และ 24 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ให้ผู้ใช้รายเดิม และนำคลื่นที่ว่างจัดสรรให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะพิจารณาถึงความสอดคล้องกับตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ควบคู่ไปกับกลไกตลาดและแนวโน้มความต้องการใช้งานในอนาคต เป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรของรัฐและเอกชนเข้าใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

นายฐากรกล่าวว่า การจะนำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรใหม่ จะต้องคำนึงถึง 3 ด้าน คือ 1.ประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ในทุกมิติ 2.หากมีการเรียกคืนคลื่นก็ต้องการพิจารณาเรื่องการเยียวยาอย่างเป็นธรรม สมเหตุสมผล และมีความโปร่งใส และ3.จะต้องคำนึงถึงสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วยความเป็นธรรม

“การเรียกคืนคลื่นความถี่ตามขั้นตอน กสทช. จะส่งหนังสือไปเรียกคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานที่ถือครองคลื่นความถี่และเข้าข่ายไม่ใช้ประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานนั้นๆ มีสิทธิ์จะทำการชี้แจงวัตถุประสงค์การใช้งานคลื่นความถี่กลับมา โดย กสทช. จะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆเป็นผู้พิจารณาความจำเป็น รวมไปถึงมูลค่าคลื่นความถี่และการชดเชยต่างๆ ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้ถือครองคลื่นห้ามคืนก่อนการเรียกคืนเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะอดได้รับเงินค่าชดเชย” นายฐากร กล่าวและว่า คาดว่าร่างประกาศฉบับนี้จะสามารถเสร็จสิ้นกระบวนการและประกาศใช้งานได้ภายในปี 2560 โดยหลังจากการประกาศใช้งาน โดยคลื่นความถี่ที่ กสทช. จะพิจารณาเรียกคืนคลื่นความถี่เป็นลำดับต้นๆ คือ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ของ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ซึ่ง ก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจากับ อสมท มาแล้วหลายครั้งถึงขั้นตอนการเรียกคืนคลื่นดังกล่าว และ คลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ของ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ที่อาจยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

Advertisement

นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีที่ กสทช. มีแผนจะเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์จาก ทีโอที จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวในขณะนี้ทีโอที กำลังอยู่ในกระบวนการทำสัญญาให้ใช้งานคลื่นความถี่ร่วมกับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งคาดจะมีการลงนามในสัญญาดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี2560 นอกจากนี้คลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ของ ทีโอที ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยังประเมินมาแล้วว่าการให้ดีแทคใช้งานจะสามารถสร้างรายได้ให้ทีโอทีปีละ 4,510 ล้านบาท ทั้งนี้คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวจึงไม่น่าเข้าข่ายถูกเรียกคืนแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image