นักวิชาการชี้ รัฐบาลใช้ ‘ประชารัฐ’ เป็นจิตวิทยามวลชน-ถึงยุคเสรีนิยมปะทะอนุรักษนิยมที่มีโซตัสถือปืน

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 19 กันยายน ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต  จัดเสวนา “อย่าให้เสียของ? : ประชาธิปไตย 99% และประชารัฐในระบอบรัฐประหาร 2557” โดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์  และ ศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยก่อนเริ่มการเสวนาได้มีการเปิดวิดีโอสารคดีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในวันครบรอบ 11 ปี รัฐประหาร คมช. และ เข้าสู่ปีที่ 4 รัฐประหาร คสช.

 

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยรัฐประหารสำเร็จ 13 ครั้ง และรัฐประหารไม่สำเร็จอีกราว 18 ครั้ง ติดอันดับที่ 4 ของโลกในการรัฐประหาร แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีคณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจยาวนานที่สุด โรดแมปของคณะผู้ปกครองขณะนี้ไม่อัพเดทบอกว่ามีแผนแต่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะไปถึง คณะรัฐประหารครั้งนี้ยังไม่ได้ครองอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้ที่อยู่ยาวนานที่สุดคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะนี้พล.อ.ประยุทธ์ตามมาอันดับที่ 2 ครองอำนาจมาแล้ว 3 ปี 4 เดือน จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทางออกที่จะเลือกตั้งคือ 1.เผด็จการตาย 2.ประชาชนลุกฮือ 3.เผด็จการปฏิวัติตัวเอง บทเรียนประวัติศาสตร์บอกแล้วว่าไม่มีทางที่เขาจะให้ประชาธิปไตยเต็มใบ มีแต่ครึ่งใบ โรดแมปปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าจะมีเลือกตั้ง มี.ค.-พ.ย. 2561 เงื่อนไขคือกฎหมายลูกต้องเสร็จ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเลื่อนด้วยอภินิหารกฎหมายหรืออภินิหารทางอำนาจอื่นๆ

“ข้อเสนอหลักของผม คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำรัฐประหารรอบนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านกลับสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการแปรสภาพไปสู่ระบอบใหม่ จากโครงสร้างทางกฎหมายที่มีอยู่ เริ่มตั้งแต่วันแรกของการรัฐประหาร บทเรียนจากรัฐประหารที่ผ่านมาทำให้คณะรัฐประะหารชุดนี้พร้อมกับเนติบริกรอธิบายว่า “อย่าให้เสียของ” แปลว่าการรัฐประหารในอดีตถูกเรียกว่าทำให้เสียของหรือเปล่า หรือมีวิธีคิดต่างจากวันนี้ถึงเรื่องการล้างระบบมากแค่ไหน การรัฐประหารสมัยก่อนอาจทำเพื่อสิ่งที่ต่างจากรัฐประหารครั้งนี้ คณะรัฐประหารชุดนี้มี 2 คำที่สำคัญ คือ ประชารัฐและ ประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์ รัฐประหารรอบล่าสุดให้ความสำคัญกับการสร้างปฏิบัติการทางภาษาและวาทกรรมเชิงจิตวิทยามวลชนมาก ในเรื่องคำว่าประชาชน พยายามสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจการเมืองใหม่ขึ้นมา และพัฒนาอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยขึ้นมาอย่างเป็นระบบ” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว

Advertisement

 

ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ประชารัฐ กลายเป็นส่วนหนึ่งในทุกโครงการของรัฐจนเป็นเอกลักษณ์สำคัญของรัฐบาลนี้ มีคำอธิบายว่ารัฐบาลต้องการความร่วมมือสามประสาน รัฐ เอกชน และประชาชน มีข้อสังเกตว่าเป็นการเพิ่มงบประมาณให้ระบบราชการ และเป็นการเปลี่ยนชื่อโครงการจากประชานิยมเป็นประชารัฐ ประชารัฐหมายถึงเอกภาพระหว่างรัฐและประชาชน ไม่ใช่แปลว่ารัฐของประชาชน หมายถึงการผสานความร่วมมือระหว่างรัฐเผด็จการกับประชาชน โดยความร่วมมือของเอกชน โดยไม่มีพื้นที่ให้นักการเมืองและระบบการเลือกตั้ง เป็นการสร้างโลกใหม่ที่ไม่ต้องมีนักการเมือง ส่วนคำว่า ประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์ มาจากคำพูดของคุณประยุทธ์หลายครั้ง แล้วทำไม 0.01 เป็นเรื่องใหญ่ นี่คือคีย์เวิร์ดของการทำรัฐประหาร ที่มาจบลงด้วยคำว่าประชารัฐ เป็นคีย์เวิร์ดในกระบวนการจิตวิทยาการรัฐประหารรอบนี้ ด้วยความเชื่อว่าเสรีภาพนำไปสู่ความไม่มั่นคง ทำให้เกิดความไม่สามัคคี และเกิดวิกฤต การกดเราด้วยกฎหมาย ปืน ศาลทหาร จึงถูกนับว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมาย เป็นการสร้างระเบียบและความสงบ จนทำให้การรักษาความสงบเท่ากับการรักษาสันติภาพ ทหารจึงคิดว่าตัวเองเป็นผู้รักษาสันติภาพ ประเทศไทยอยู่บนเรื่องความ “รักสามัคคี” ปฏิบัติการจิตวิทยาของการรัฐประหารครั้งนี้คือการเล่นซ้ำ สองวรรคแรกของเพลงชาติไทย (ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน) คำถามคือคณะรัฐประหารเรียนรู้มาหลายรอบแล้วเราเรียนรู้หรือไม่ จะพัฒนาอุดมการณ์อะไรที่จะมีบทสนทนากับพล็อตแบบสามัคคีได้

 

ศ. ดร.สุรชาติ  กล่าวว่า วันนี้หลายคนเริ่มถามว่าทำไมรัฐประหารครั้งนี้อยู่นานกว่าที่คิด หลายคนประเมินว่าเต็มที่สองปี เรากำลังกลายเป็นสังคมรัฐประหาร คิดอะไรไม่ออกก็คิดว่ารัฐประหารเป็นทางออก หลายปีที่ผ่านมาผมเริ่มคิดว่าถ้าต้องอธิบายอุดมการณ์ทหารไทยจริงๆแล้วมีไหม ประวัติศาสตร์การเมืองไทยปัญหาใหญ่หนึ่งที่เป็นมรดกคือการที่ไทยไม่เป็นอาณานิคม ผลพวงคือกองทัพเราไม่เคยเป็นขบวนติดอาวุธนำการต่อสู้เรียกร้องเอกราชในบ้าน ต่างจากเพื่อนบ้านของเราที่ผ่านการชูธงต่อสู้เรียกร้องเอกราช อย่างเมียนมา อินโดนีเซีย และเวียดนาม ถ้าเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าอุดมการณ์ทหารไทยคือSOTUS แต่โซตัสระดับชาติเขาถือปืน ประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์เหมือนโฆษณาห้างทอง บวกกับวิถีที่ทหารเชื่อว่าสามารถจัดการกับรัฐสมัยใหม่ได้ แต่จุดอ่อนของกองทัพคือยิ่งสังคมสมัยใหม่กองทัพยิ่งล้าหลังมากเท่านั้น รัฐสมัยใหม่มีความซับซ้อนมากขึ้นรวมกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ และเสนาประชารัฐ รัฐบาลทหารลงไปเล่นกับระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ผลคือพังพินาศ เห็นได้จากในละตินอเมริกา สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยไม่ใช่อะไรใหม่ เพียงแต่นั่งดูละครฉากละตินอเมริกาใหม่แต่เปลี่ยนตัวแสดงและบริบท

เมื่อทหารถอนตัวออกจากละตินอเมริกา เป็นสภาพการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การรัฐประหารใน 3 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน เพราะการเปลี่ยนผ่านจะเกิดเมื่อเลือกตั้ง การเปลี่ยนผ่านในไทย คือ เปลี่ยนแล้วไม่เคยผ่าน ระบอบประชาธิปไตยถูกโค่นล้มจนเดินต่อไม่ได้ ถ้าเราไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการในระยะเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลพลเรือนจะไม่สามารถประคับประคองได้

 

“ผมมองว่า รัฐประหาร2549และ 2557 เป็นชุดเดียวกัน ต่างแค่เวลาและผู้นำ แต่บริบททางการเมือง โดยภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเป็นชุดเดียวกัน เป็นรัฐประหารยุคหลังสงครามเย็นในบริบทที่ไม่มีภัยคุกคามของลัทธิสังคมนิยม คือการสู้ระหว่างอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม แต่ในอนุรักษนิยมมีพวกโซตัสถือปืน คือพวกเสนานิยม ทำให้เสรีนิยมไทยลำบาก เพราะโอกาสถือปืนน้อยและไม่มีป่าให้อยู่ เราอยู่ในยุคเสรีนิยมปะทะเสนานิยม ชนชั้นกลางสายอนุรักษนิยมกลัวเสรีนิยมทั้งที่เขาเติบโตจากลัทธิเสรีนิยมทั้งธุรกิจการศึกษา ยกเว้นเรื่องการเมืองทหารที่รัฐประหารครั้งล่าสุดเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร 2549 เมื่ออุดมการณ์ในกองทัพเชื่อว่าตัวเองเป็นเทพผู้พิทักษ์ อะไรที่เป็นผลประโยชน์ทหารแล้วถูกคุกคามเท่ากับผลประโยชน์ชาติถูกคุกคาม สังคมไทยไม่เคยถกเรื่องการสร้างกองทัพจริงๆ คือทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพ กองทัพไทยไม่เคยถูกทดสอบด้วยสงครามเหมือนในหลายประเทศ เราไม่เคยเจออะไรนอกจากความโชคดี แต่ไม่ตอบโจทย์ด้านการทหาร กองทัพไทยไม่ปฏิรูปหลังสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ ” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image