คำร้องถึง อสส. ชง3หลักฐานใหม่ ส่งปปช.ฟื้นคดี ’99ศพ’

กรณีเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา นายวิญญัติ ชาติมนตรี นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปีཱ พร้อมญาติผู้เสียชีวิตได้เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เพื่อแจ้งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการไต่สวนคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปีཱ โดยมีรายละเอียดคำร้องดังนี้

วันที่ 18 กันยายน 2560

เรื่อง ขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนคดี 99 ศพ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ต้องหา กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เพื่อนำมารวมกับสำนวนความผิดฐานเจตนาฆ่าที่อัยการสูงสุดได้ส่งฟ้องไว้แล้ว เพื่ออัยการสูงสุดจะได้ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือศาลอาญาต่อไป

กราบเรียน อัยการสูงสุด

Advertisement

สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288-4289/2560 ฉบับลงวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ความอาญา เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อชีวิต พยายาม ระหว่าง พนักงานอัยการ สำหรับงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายสมร ไหมทอง ที่ 1 โจทก์ร่วม นางหนูชิต คำกอง ที่ 2 โจทก์ร่วม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำเลย เรื่อง ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อชีวิต พยายามระหว่าง พนักงาน อัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลย

ตามที่มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า ร่วมกันกระทำความผิดฐานเจตนาฆ่าในเหตุสลายการชุมนุมของผู้ร่วมชุมนุม นปช.เมื่อระหว่างเดือนเมษายนถึง พฤษภาคม 2553 ทั้งสองคนร่วมกันสั่งการในฐานะผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการ ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมากใช้อาวุธร้ายแรงในราชการสงครามทำร้ายผู้ร่วมชุมนุมและประชาชนทั่วไปจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน คณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติให้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษโดยมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวน และต่อมาศาลขั้นต้นในเขตอำนาจที่มีการตายได้มีคำสั่งจากผลการไต่สวนในสำนวนชันสูตรพลิกศพของผู้ตายต่างๆ ว่าเกิดจากอาวุธร้ายแรงที่ยิงมาจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตามการสั่งการของ ศอฉ. กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งของศาลในสำนวนชันสูตรพลิกศพมาให้สำนักงานอัยการสูงสุด และท่านในฐานะอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องบุคคลทั้งสองในความผิดฐานเจตนาฆ่าและพยายามฆ่า ตาม ป.อาญา มาตรา 80, 83, 84 และ 288 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 143 ต่อมาท่านได้มอบหมายให้พนักงานอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลอาญาตามความผิดดังกล่าว ความละเอียดทราบดีอยู่แล้ว

บัดนี้ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยในสาระสำคัญว่าที่โจทก์ฟ้องว่าการออกคำสั่งของจำเลยทั้งสองที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารผลักดันผู้ชุมนุมสลายการชุมนุม กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่โดยใช้อาวุธที่ใช้ในราชการสงคราม เป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 93 คน และได้รับอันตรายสาหัสจำนวนมากมาเป็นเหตุกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองรวมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตาม ป.อาญา มาตรา 80, 83, 84 และ 288 แสดงว่าได้รับเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดเกิดขึ้นจากการออกคำสั่งบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามลำดับ โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัว จึงเป็นการดำเนินคดีแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรณีที่นายกรัฐมนตรีกับข้าราชการการเมืองถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และเป็นการกระทำกรรมเดียวกันตามฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีประเภทนี้ไว้โดยเฉพาะแตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้อำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับพิจารณาพิพากษาคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้รับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาฐานเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญาไว้ด้วย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 250 (2) และ 275 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุ และมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19 (2), 66 วรรคหนึ่ง, 70 กับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1), 10, 11 และ 24 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดเหตุและประกาศ คสช.ฉบับที่ 24/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป

Advertisement

กระบวนการสอบสวนและสั่งฟ้องคดีนี้จึงไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้

ข้าพเจ้า นายสมร ไหมทอง และ นางหนูชิต คำกอง ในฐานะผู้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าว ขอยื่นหนังสือฉบับนี้เพื่อขอความเป็นธรรมต่อท่านอัยการสูงสุด ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

ข้อ 1 คดีนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเฉพาะเรื่องเขตอำนาจศาลอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้นโดยศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ได้งดสืบพยานและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล และพิพากษายกฟ้อง ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามลำดับ

คดีดังกล่าวจึงยังไม่ได้มีการสืบพยานและยังไม่ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่แต่อย่างใด การพิพากษายกฟ้องของศาลฎีกาดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุต้องห้ามมิให้มีการนำคดีมาฟ้องต่อศาลอีก ดังนั้น หากจะได้มีการฟ้องคดีนี้ใหม่อีกก็ไม่เป็นฟ้องซ้ำ กล่าวโดยย่อก็คือศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นการฟ้องผิดศาล ซึ่งศาลที่ถูกต้องคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ข้อ 2 คำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะโจทก์ในคดีนี้มีสองส่วน กล่าวคือ ส่วนที่หนึ่งคือ “โจทก์” ได้แก่ พนักงานอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุด และส่วนที่สองคือ “โจทก์ร่วม” ได้แก่ ผู้เสียหาย (คือ ข้าพเจ้า นายสมร ไหมทอง และนางหนูชิต คำกอง)

ส่วนหน่วยงานที่ต้องเกี่ยวข้องตามผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกา คือ

(1) สำนักงานอัยการสูงสุด เพราะผู้ฟ้องคดี คือ พนักงานอัยการ และผู้สั่งฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (และมาตรา 80, 83, 88) ก็คืออัยการสูงสุด

(2) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (คือ จำเลยทั้งสอง) เฉพาะ ป.อาญา มาตรา 157 ว่า ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่นหรือไม่

ข้อ 3 สิ่งที่สำนักงานอัยการสูงสุดโดยเฉพาะท่านอัยการสูงสุด ต้องมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่อไป คือ ต้องคัดคำพิพากษาศาลฎีกาและรวบรวมสำนวนการสอบสวน โดยเฉพาะสำนวนของพนักงานอัยการและอัยการสูงสุดเอง ที่ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสอง ในความผิดฐานเจตนาฆ่าฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 288ฯ พร้อมพยานหลักฐานทั้งปวง (ที่อยู่ในสำนวนของพนักงานอัยการและที่ได้ยื่นฟ้องไปต่อศาล โดยเฉพาะสำนวนการไต่สวนของศาลกรณีผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้ตาย) ส่งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.และเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด คำวินิจฉัยของศาลฎีกา และความยุติธรรมโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินคดี ข้าพเจ้าทั้งสองขอท่านอัยการสูงสุดได้โปรดแจ้งสาระสำคัญไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.อีกด้วยว่า

ประเด็นที่ 1 คดีนี้เฉพาะในส่วนความผิดฐานเจตนาฆ่า อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องไว้แล้วตาม ป.อาญา มาตรา 288ฯ และ ป.วิอาญา มาตรา 143 วรรคท้าย (คำสั่งฟ้องของ อสส.ดังกล่าวจึงยังคงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่ต่อไป หาได้ยุติหรือยกเลิกเพิกถอนไปแต่อย่างใด)

ประเด็นที่ 2 เฉพาะแต่ในส่วนความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อาญา มาตรา 157 เท่านั้นที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะไต่สวนแล้วมีความเห็น อสส.จึงต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ประเด็นที่ 3 การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อไปนั้น เป็นความผูกพันตามคำพิพากษาของศาลฎีกาหาใช้กรณีปกติทั่วไป

ประเด็นที่ 4 แต่หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะอ้าง มาตรา 44 (1) (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ว่า “ต้องมีพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวน” ก็ต้องถือว่าคดีมีพยานหลักฐานใหม่ๆ ซึ่งได้แก่

(1) สำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในส่วนที่มีสำนวนการไต่สวนพร้อมคำสั่งของศาลที่ไต่สวนผลการชันสูตรพลิกศพซึ่งมีจำนวนหลายสำนวน

(2) คำสั่งฟ้องพร้อมสำนวนการพิจารณาของพนักงานอัยการและอัยการสูงสุดในความผิดฐานเจตนาฆ่าฯ

(3) คำพิพากษาของศาลฎีกา

ทั้งนี้ ตาม (1)(2) และ (3) ย่อมเป็นพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแก่การไต่สวนแล้ว ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่เคยมีพยานหลักฐานในส่วนนี้มาก่อนเลย

ประเด็นที่ 5 เนื่องจากคดีเป็นที่สนใจของประชาชน และเพื่อให้มีผลในการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาโดยเร็ว จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วแล้วแจ้งผลต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อสำนักงานอัยการสูงสุดจะได้ดำเนินการต่อไป กรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.157 อัยการสูงสุดจะได้นำความเห็นและสำนวนมาผนวกรวมกับสำนวนที่อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องไว้แล้ว ตาม ม.288ฯ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาไว้

(2) กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตาม ม.157 อัยการสูงสุดจะได้มอบให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง ตาม ม.288 ที่ได้สั่งฟ้องไว้แล้วนั้นต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาไว้

อนึ่ง ในการส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น ต้องเป็นการแยกสำนวนไป กล่าวคือในส่วนของความผิดฐานเจตนาฆ่าฯ ที่ อสส.สั่งฟ้องไว้แล้ว ยังอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานอัยการมีแต่เฉพาะความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติไม่ชอบฯ ที่ส่งไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพราะว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจพิจารณาในส่วนของความผิดฐานเจตนาฆ่าฯ (และอัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องไว้แล้ว)

ข้อ 4 หน้าที่ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุด โดยท่านอัยการสูงสุดต้องดำเนินการตามข้อ 3 นั้นเป็นไปตาม

(1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 248 ที่บัญญัติว่า พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็วเที่ยงธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง

(2) พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 14 (2) ที่บัญญัติว่า ในคดีอาญามีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ย่อมหมายความว่าเมื่อได้มีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองไว้แล้ว ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 143 วรรคท้าย ก็มีหน้าที่จะต้องดำเนินการยื่นฟ้องคดีและดำเนินคดีในศาลต่อไป)

และมาตรา 21 ที่บัญญัติว่า พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(3) ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 89 ซึ่งกำหนดไว้ว่า คดีวิสามัญฆาตกรรม ที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนต้องออกคำสั่งหรือไม่ฟ้อง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 143 นั้น หมายเฉพาะคดีที่ความตายเกิดขึ้นโดยผู้กระทำมีเจตนาฆ่าเท่านั้น

อนึ่ง ตามระเบียบฯดังกล่าว ข้อ 60 ได้กำหนดไว้ว่า หากเป็นกรณีคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนคืนพนักงานสอบสวน เพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ซึ่งหมายความว่า เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการต้องส่งสำนวนไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นการเฉพาะ อีกทั้ง อสส.ได้มีคำสั่งฟ้องในข้อหาตามมาตรา 288ฯ ไว้แล้ว จึงสมควรที่จะส่งเรื่องต่อไปยัง ป.ป.ช.หาใช่จะส่งสำนวนคืนพนักงานสอบสวนไม่ (คือจะต้องปรับใช้ข้อระเบียบ ข้อ 60 ให้เหมาะสมตามสภาพแห่งเรื่องด้วย) ทั้งนี้ หากท่านอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการใดๆ หรือดำเนินการล่าช้าก็จะมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ฯ

ฉะนั้น โดยหนังสือขอความเป็นธรรมฉบับนี้ ข้าพเจ้าผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี จึงขอท่านอัยการสูงสุดได้โปรดกรุณาพิจารณาให้ความเป็นธรรมโดย

1.มีหนังสือแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อส่งคำพิพากษาศาลฎีกา พร้อมสำนวนการสอบสวน คำสั่งของศาลชั้นต้นในเขตพื้นที่ที่การตายพร้อมสำนวนชันสูตรพลิกศพ คำสั่งฟ้องคดีของอัยการสูงสุดและอื่นๆ

2.แจ้งสาระสำคัญพร้อมรายละเอียดทั้ง 5 ประการตามที่ได้แจ้งมาตามข้อ 3 เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถเข้าใจและพิจารณาไต่สวนได้โดยไม่หลงผิด

3.ติดตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อฟ้องคดีบุคคลทั้งสองต่อไปกล่าวคือ

(1) กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่าจำเลยทั้งสอง มีความผิดตาม ม.157 อัยการสูงสุดจะได้นำความเห็นและสำนวนมาผนวกรวมกับสำนวนที่อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องไว้แล้ว ตาม ม.288ฯ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาไว้

(2) กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่า จำเลยทั้งสอง ไม่มีความผิดตาม ม.157 อัยการสูงสุดจะได้มอบให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง ตาม ม.288 ที่ได้สั่งฟ้องไว้แล้วนั้นต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี ตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาไว้

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าทั้งสอง, ผู้ตายกับครอบครัวจำนวน 99 ศพ รวมทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและพิการอีกกว่า 2,000 คน โดยเฉพาะเพื่อรักษาความยุติธรรมและหลักนิติธรรมของบ้านเมืองไว้ ในฐานะที่ท่านอัยการสูงสุดและพนักงานอัยการทุกท่าน เป็นทนายของแผ่นดินซึ่งมีอำนาจและหน้าที่อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนและบ้านเมือง และขอให้แจ้งผลการดำเนินการให้ข้าพเจ้าทั้งสองทราบด้วย

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

นายสมร ไหมทอง

นางหนูชิต คำกอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image