ธนาคารพม่า ความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง

หลังจากรัฐบาลของสหภาพเมียนมาได้เริ่มปฏิรูปและเปิดเสรีทางธุรกิจหลังปี 2011 ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง องค์กรทางธุรกิจเอกชนได้แสวงหาโอกาสเพื่อการพัฒนาให้ก้าวทันเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตเร็วถึงปีละมากกว่า 9-10% ต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นกลไกและเครื่องมือสะท้อนภาวะของระบบเศรษฐกิจก็เติบโตรุดหน้าตามไปด้วย

ภาคธุรกิจการเงินของเมียนมาถูกทำลายลงหลังจากการยึดอำนาจของนายพลเนวิน ทำให้มีเพียงธนาคารของรัฐเท่านั้นที่เปิดให้บริการ ชาวพม่าที่ใช้เงินสดก็ยังถูกนโยบายที่แปรปรวนไม่แน่นอน

ทั้งการยกเลิกธนบัตรเก่าและการเปลี่ยนค่าเงินทำให้การใช้เงินตราเป็นไปอย่างยากลำบาก ภายหลังปี 2012 การปฏิรูประบบการเงินในเมียนมาทำให้ระบบธนาคารฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยกระทรวงการวางแผนและการเงิน (MOPF) ได้ออกใบอนุญาตให้มีธนาคารพาณิชย์เอกชน บริษัทประกันภัย และบริษัทเงินทุนต่างๆ รวมถึงอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาเปิดสาขาปฏิบัติการ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของเมียนมามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน มีธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาเปิดให้บริการ 5 ธนาคารใหญ่ และสาขาของธนาคารต่างประเทศ 13 ธนาคาร โดยธนาคารหลักที่เป็นธนาคารของรัฐนั้นมีสัดส่วนของสินทรัพย์ต่อ GDP ลดลงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์เอกชน และธนาคารก็ได้ให้บริการทางการเงินที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ของตลาดประเทศเกิดใหม่อื่น เช่น บริการบัตรเดบิต บัตรเครดิต อี-แบงกิ้ง โมบายล์แบงกิ้ง ลีสซิ่ง และรับเงินจากแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศโดยประสานงานกับธนาคารในประเทศต้นทาง โดยธนาคารชั้นนำอย่าง Kanbawza Bank (KBZ) หรือ Yoma Bank ได้รับความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบการเงินจากธนาคารต่างชาติให้มีมาตรฐาน และการจัดการส่งเสริมโดยธนาคารโลก (World Bank) สามารถประสานเข้ากับธุรกิจสากล

Advertisement

ธนาคาร KBZ ถือเป็นตัวอย่างของธนาคารพาณิชย์เอกชนเมียนมาที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นธนาคารที่จัดตั้งขึ้นในเมืองตองยี รัฐฉาน ซึ่งเป็นคู่สงครามกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าตั้งแต่ปี 1994 แต่ธนาคาร KBZ ยังทำการได้เนื่องจากความสัมพันธ์ที่เล่าลือกันว่าใกล้ชิดกับ หม่อง เอ ทหารใหญ่ของ SPDC ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นปกครอง

เมื่อเมียนมาปฏิรูประบบการเงิน ธนาคาร KBZ ได้ขยายสาขาไปในเมืองต่างๆ ของเมียนมาและประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจการเงิน นำระบบออนไลน์แบงกิ้งเข้ามาใช้อย่างเต็มระบบ รวมถึงประสานกับธนาคารกสิกรไทยเพื่อรับเงินโอนส่งคืนจากแรงงานเมียนมาในไทยเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย จนถึงการซื้อหุ้นสายการบินและบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพื่อขยายขอบเขตธุรกิจด้วย ทำให้เมื่อข้ามไปยังเมียนมาก็จะเห็นป้ายและตู้ ATM ของธนาคาร KBZ อยู่ทั่วไป

เนื่องจากเมียนมายังต้องการเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศและเข้าในระบบการเงินในอัตราสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์พม่าให้ดอกเบี้ยในอัตราสูงมากต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 8-8.5% และเงินฝากประจำอยู่ที่ 10-12% ต่อปี อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวถูกจำกัดไม่ให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศที่ไม่ก่อให้เกิดการลงทุน โดยการงดเว้นการจ่ายดอกเบี้ยอัตราสูงให้แก่ชาวต่างชาติ และให้มีเพียงพลเมืองเมียนมาเท่านั้นที่สามารถเปิดบัญชีฝากประจำได้

Advertisement

สินทรัพย์ในระบบธนาคารพาณิชย์ของเมียนมาในปี 2015 มีประมาณ 1.3% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นเกินระดับของธนาคารพาณิชย์ของกัมพูชา และแนวโน้มการใช้บริการธนาคารมีมากขึ้นเรื่อย ๆ อนาคตของระบบธนาคารพาณิชย์เมียนมายังมีช่องว่างในการเติบโตอยู่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระบบตลาดหลักทรัพย์กำลังเริ่มใช้งานเต็มรูปแบบในเร็วๆ นี้

การเข้าสู่ธุรกิจในเมียนมาสามารถเข้าหาได้ทั้งธนาคารสัญชาติเมียนมาและธนาคารไทยที่เข้าไปเปิดสาขา ซึ่งจะอำนวยความสะดวกทางการเงินและเป็นที่ปรึกษาได้ดีกว่าบุกตะลุยเข้าไปเปิดตลาดเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image