เชียงใหม่ตั้งเป้า 5 ปี เป็น’เมืองแห่งกาแฟ’ พบกาแฟช่วยรักษาป่า ตลาดยังมีความต้องการสูง

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 ที่ห้องฝ้ายคำ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตกาแฟล้านนาคุณภาพ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 – Lanna Thai Coffee Hub โดยมี ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ รองประธานมูลนิธิโครงการหลวง นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนงบประมาณปี พ.ศ.2560 จากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1

ทั้งนี้ เพื่อหวังยกระดับคุณภาพผลผลิตกาแฟในเขตภาคเหนือตอนบน 1 ให้มีคุณภาพสูงขึ้นตรงตามความต้องการของตลาด พร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง ซึ่งจากการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมาพบว่า มี smart farmer อย่างน้อย 19 ราย ที่มีองค์ความรู้ในการผลิตกาแฟคุณภาพและสามารถถ่ายทอดไปยังกลุ่มสมาชิกได้

นายปวิณกล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดประชุมเพื่อร่างยุทธศาสตร์กาแฟจังหวัดเชียงใหม่ 2561-2565 ไว้ 5 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพผลผลิตโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาด้านการตลาด กลยุทธ์ที่ 4 ด้านการวิจัยและพัฒนา และกลยุทธ์ที่ 5 ด้านการบริหารจัดการ ซึ่งในฤดูการผลิตที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกกาแฟ 19 อำเภอ จำนวน 17,487 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 3,848 ตัน ผลเฉลี่ยต่อไร่ทั้งจังหวัดประมาณ 220 กิโลกรัม โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เร่งพัฒนางานส่งเสริมการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น โครงการแปลงใหญ่ในโครงการ 9101 โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นต้น

Advertisement

ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเป็นแหล่งต้นน้ำและมีสภาพภูมิอากาศดี บางพื้นที่มีความสูงระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป จึงเหมาะแก่การปลูกกาแฟอย่างยิ่ง ซึ่งกาแฟสามารถปลูกได้ดีใต้ร่มเงาของต้นไม้ต่างๆ โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จังหวัดเชียงใหม่จะเป็น ‘เมืองแห่งกาแฟ’ จากการศึกษาพบว่าการปลูกกาแฟบนพื้นที่สูงส่งผลให้เกษตรกรไม่เผาทำลายป่า เพราะเกษตรกรต้องดูแลรักษาต้นกาแฟให้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ เพื่อให้ผลผลิตกาแฟมีคุณภาพ ส่วนด้านการตลาด กาแฟยังมีความต้องการสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ โครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ตลอดจนภาคเอกชน ที่ให้ความร่วมมือและยังเป็นการร่วมสนับสนุนให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งกาแฟอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image