ปริศนา การเมือง หวาดกลัว การเลือกตั้ง อะไร คือ มูลเชื้อ

ถามว่ามีความต้องการ “เลื่อน” และทอดระยะเวลาของ “การเลือกตั้ง” ให้ยาวนานออกไปดำรงอยู่หรือไม่ในสังคมไทย

ตอบได้เลยว่า “มี”

สัมผัสได้จากอาการกระดี๊กระด๊าเมื่อมีการเปลี่ยน “ปฏิญญาโตเกียว” เป็น “ปฏิญญานิวยอร์ก” จากปี 2559 มาเป็นปี 2560

และเลื่อนจากปี 2560 มาเป็นปี 2561

Advertisement

ในเดือนพฤษภาคม 2559 อาจมี “ไอ้ห้อย ไอ้โหน” บางคนใน สนช. และ สปช. และ สปท. ออกโรงมาพูดอย่างเปิดเผยและด้วยอาการย่ามใจ

แต่ผ่านเดือนพฤษภาคม 2560 เริ่มปรากฏน้อยลง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่อยากให้มี “การเลือกตั้ง” ไม่ว่าจะเป็นภายในปี 2561 ตามโรดแมป หรือภายในปี 2562 ก็ตาม

Advertisement

ทำไม

คําถามว่าทำไมอันเสนอขึ้นมาเรียกร้องต้องการและเสนอความจำเป็นที่จะต้อง “อรรถาธิบาย” อย่างน้อยก็ 2 ประเด็นโดยพื้นฐาน

ประเด็น 1 คือ ความไม่เชื่อมั่นต่อ “การเลือกตั้ง”

อย่าลืมอย่างเด็ดขาดว่า ปัญหาโดยมูลฐานอันนำไปสู่ความจำเป็นต่อการต้องทำรัฐประหารไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นปัญหาเดียวกัน

นั่นก็คือ ความกลัวต่อ “การเลือกตั้ง” อย่างชนิดสยดสยอง พองเกล้า

เห็นได้จากการออกมาเสนอแต่ด้านที่เลวร้ายของ “การเลือกตั้ง” เห็นได้จากการที่แม้กระทั่งพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งรวมถึงพรรคการเมืองเก่าแก่ของสังคมประเทศไทยยังเคยดำเนินมาตรการ “บอยคอต” ต่อ “การเลือกตั้ง”

และที่สุดก็รวมศูนย์แสดงออกผ่านคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ในการรณรงค์ก่อนเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ประเด็น 1 คือ การไม่กล้าเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของ “การเลือกตั้ง”

คสช.ยึดอำนาจโดยวิธีรัฐประหารเข้ามาเท่ากับขานรับต่อแนวทางและนโยบายอันดำรงอยู่ไม่เพียงแต่จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เท่านั้น

หากยังรวมถึงจากการเคลื่อนไหวของ “พันธมิตร” และของ “กปปส.” ด้วย

ความหมายในทางยุทธศาสตร์ภายใต้คำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ด้านหลักย่อมเป็น “ปฏิรูป” ด้านรองคือ “เลือกตั้ง”

ความหวังก็คือ ต้องการเอา “ปฏิรูป” มาเป็น “ผลงาน”

ผลงานอันสะท้อนความล้ำเลิศอันเหนือกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” เพื่อเอาความสำเร็จในห้วงแห่งการปฏิรูปให้คนหลงลืมผลงานของ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย

แต่จากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2560 เป็นอย่างไร

ผ่านเข้ามาสู่เดือนกันยายนแล้ว ไม่เพียงแต่ยังไม่สามารถประกาศ “สัญญาประชาคม” ว่าด้วยการปรองดองให้ หากแม้กระทั่งผลงานของ “รัฐบาล” ซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยังไม่มีกำหนดจะแถลง

ขณะเดียวกัน ปรากฏความฉาวโฉ่อย่างเช่นกรณี “ป่าเสื่อมโทรม” กรณี “เรือเหาะ”

จึงยากที่จะคาดหมายได้ว่าหากมี “การเลือกตั้ง” จะมีอะไรถูก “เปิดโปง” ออกมาอีก

ทันทีที่ปี่กลองของ “การเลือกตั้ง” เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ นั่นหมายถึง การเหยียบบาทก้าวเข้าไปสู่อีกมิติ 1 ในทางการเมือง

แตกต่างจากในห้วง “ประชามติ” อย่างแน่นอน

ไม่เพียงแต่ “พรรคการเมือง” จะต้องมีบทบาทในวงกว้าง หาก “เสรีภาพ” จะต้องเป็นอีกลมหายใจสำคัญที่จะต้องเปิดกว้างให้

ถามว่า คสช.และรัฐบาลมี “ความพร้อม” ที่จะเผชิญมากน้อยเพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image