รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ข่าวสด ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเริ่มทำการสำรวจประชาชนทั่วไป ผ่านทางหนังสือพิมพ์มติชน และหนังสือพิมพ์ข่าวสด ตั้งแต่วันที่ 6 ถึงวันที่ 9 เดือน สิงหาคม 2560 และสำรวจผ่านผู้อ่านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน (www.matichon.co.th.) และเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด (www.khaosod.co.th.) ตั้งแต่วันที่ 16-23 สิงหาคม 2560 รวมเป็นระยะเวลา 12 วัน มีผู้ตอบแบบสอบถามเข้ามารวมทั้งหมด 2,875 คน

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ คือ เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจ และความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประชาชนรวมถึงข้อเสนอแนะและปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้มากขึ้น

ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 68.9% เป็นกลุ่มผู้ชาย และอีก 31.1% เป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่ผู้ตอบ เป็นผู้มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป 54.9% รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ  41-50 ปี (19.1%) สถานภาพการสมรส 56.7% สมรสแล้ว

กลุ่มอาชีพของผู้ตอบแบบสอบถาม 30.3% เป็นกลุ่มพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน รองลงมา คือ พนักงานบริษัทเอกชน (21.3%) กลุ่มเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ (20.6%) และกลุ่มข้าราชการ/ลูกจ้างของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ (20.3%) ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน

Advertisement

ผู้อ่านส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาขั้นปริญญาตรี มากที่สุด 34.9% รองลงมา เป็นกลุ่มการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี 25.3% ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001–20,000 บาท (20.2%) รองลงมา มีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 40,000 บาทต่อเดือน 18.4% และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นหลัก 41% ขณะที่ 25.8% ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ/องค์กรของรัฐ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ส่วนที่ 2 การรับรู้ และความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และความประทับใจในการใช้บริการ จากการสำรวจ พบว่า 77.5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม รู้จักสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีเพียง 22.5% ที่ไม่รู้จัก

โดย 80.6% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นว่า บทบาทหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและมาตรการคุ้มครองด้านประกันสุขภาพสำหรับทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย อันดับสอง คือ การสร้างความเข้มแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 67.9% และอันดับที่ 3 คือ หนุนเสริมระบบหลักประกันสุขภาพทุกระบบของประเทศ ให้เกิดการบริการที่เชื่อมโยง สอดคล้อง และกลมกลืนกัน 66.6% (หมายเหตุ–เลือกตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ)

Advertisement

82.9% ของผู้ตอบแบบสอบถาม รู้จักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ 80.9% ของผู้ตอบ ทราบว่าผู้ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ผู้ที่มีสัญชาติไทย มีเลขประชาชน 13 หลักและไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอื่นใดที่รัฐจัดให้

74.2% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เห็นว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย และ 16% เห็นว่าเป็นโครงการสงเคราะห์

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ตอบกว่า 58.2% ทราบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังจะให้การดูแลประชาชนคนไทยให้เข้าถึงการบริการสุขภาพที่จำเป็นต่อไป แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 48.9% ทราบว่า สามารถสอบถามข้อมูลการใช้หลักสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแจ้งเรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนได้ที่ “สายด่วน สปสช. โทร. 1330” ขณะที่ผู้ตอบ 42.4% ไม่ทราบ

แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้ตอบเพียง 30.7% เท่านั้นที่เคยใช้บริการ “สายด่วน สปสช. โทร. 1330” โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่เคยใช้บริการจะขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้สิทธิ 82.9% รองลงมาคือ สอบถามข้อมูล ข่าวสารต่างๆ 76.6% และอันดับที่3 คือ ใช้บริการเพื่อตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลด้วยระบบอัตโนมัติ 64.4% (หมายเหตุ – เลือกตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ)

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 69.3% ไม่เคยใช้บริการสายด่วน สปสช.

58.2% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เคยรับบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิ 30 บาท หรือสิทธิบัตรทอง โดยมีความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพในแต่ละประเด็น ดังนี้

  1. ขั้นตอนการให้บริการ เช่น การทำบัตร การจ่ายยา

ส่วนใหญ่ พอใจปานกลาง 23.0%      ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.6

  1. ขั้นตอนการรักษาพยาบาล

ส่วนใหญ่ พอใจปานกลาง 21.3%      ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.4

  1. การให้บริการของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่

ส่วนใหญ่ พอใจปานกลาง 22.0%      ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.4

  1. คุณภาพยา หรืออุปกรณ์การแพทย์

ส่วนใหญ่ พอใจปานกลาง 21.0%       ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.3

  1. ผลการรักษา (รักษาแล้วหาย หรืออาการดีขึ้น)

ส่วนใหญ่ พอใจปานกลาง 25.2%       ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.5

ความพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพโดยภาพรวม ส่วนใหญ่ พอใจปานกลาง 22.5% ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.5

หมายเหตุ – ค่าคะแนนเฉลี่ย 5 หมายถึง พอใจมากที่สุด ค่าคะแนนเฉลี่ย 4 หมายถึง พอใจมาก ค่าคะแนนเฉลี่ย 3 หมายถึง พอใจปานกลาง

อาจกล่าวได้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ค่อนข้างมีความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพโดยภาพรวม ในระดับพอใจปานกลางถึงพอใจมาก (ค่าคะแนนเฉลี่ย 3.5)

 ส่วนที่ 3 : ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นต่อปัญหาและอุปสรรคในการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าดังนี้

ระยะเวลารอตรวจ และรับยาใช้ระยะเวลานานเป็นปัญหาหลักมากที่สุด 64.1% ปัญหารองลงมาคือ การบริการจากเจ้าหน้าที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ใช้สิทธิอื่น 58.9% และปัญหาอันดับที่ 3 คือ ยาบางชนิดต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 51.3% (หมายเหตุ – เลือกตอบได้มากกว่า 1 คำตอบ)

ความต้องการให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดบ้าง ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 28.6% ต้องการให้เพิ่มการคุ้มครองให้ทัดเทียมกับสิทธิประกันสุขภาพอื่นๆ ครอบคลุมโรคมากขึ้น 22.7% ต้องการให้ปรับปรุงการให้บริการของบุคลากร รวมไปถึงการเสียเวลาในการรอคอยนานมากและ 20.1% ต้องการให้ใช้ยาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ใช้เครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย

ในกรณีที่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมมากขึ้น และอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นด้วยนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในสัดส่วนใกล้เคียงกันอย่างมาก คือ มีผู้เห็นด้วย 45.7% ขณะที่มีผู้ไม่เห็นด้วย 47.8%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image