อวดโฉม ‘สเปซ วอล์กเกอร์’ นวัตกรรมแห่งอนาคต ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ

สําหรับผู้สูงอายุ ข้อเข่าที่เสื่อมลงตามกาลเวลา ทำให้การเคลื่อนไหวเดินยืนแต่ละทีกลายเป็นเรื่องยากลำบาก

แน่นอนว่า ยิ่งไม่ขยับ ไม่ได้ใช้กำลัง กล้ามเนื้อก็ถดถอยลง และเป็นที่มาของคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง

ทำอย่างไรจะสามารถเดินได้มากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลว่าขาจะอ่อนแรงฉับพลันแล้วพลัดตกหกล้ม

นี่เป็นที่มาของโจทย์การคิดประดิษฐ์ “สเปซ วอล์กเกอร์” (Space Walker) เครื่องช่วยเดินสำหรับผู้สูงอายุ เจ้าของรางวัลที่ 1 จากโครงการประกวด “ITCi Award 2017” หัวข้อ “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย” ภายใต้โจทย์อุปกรณ์ช่วยภายในบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและสะดวกสบาย

Advertisement

เป็นการผนึกกำลังกันระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Autodesk Thailand

วัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีส่งเสริมให้กับเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แสดงความรู้ความสามารถอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งแสดงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงวัย ซึ่งกิจกรรมการประกวดครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอสู่ตลาดและทดสอบความต้องการของตลาดเบื้องต้น ในยุคที่ตลาดผู้สูงอายุเริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ

“สเปซ วอล์กเกอร์” ผลงานของ วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร, รมณ์ พานิชกุล และ เมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเดิน หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยจะช่วยพยุงน้ำหนักของผู้สูงอายุและช่วยในการเดิน ทั้งนี้ยังป้องกันการล้มโดยป้องกันเข่าและศีรษะของผู้ใช้งานไม่ให้กระแทกพื้น ออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่าย สะดวกในการพกพา

ที่มาของเครื่องช่วยเดินนี้ วรัตถ์ นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มธ. เจ้าของผลงาน เล่าให้ฟังว่า มาจากการที่ไปรีวิวอุปกรณ์เกี่ยวกับการฝึกเดิน เห็นว่าในต่างประเทศมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ซีโร่ จี” เป็นอุปกรณ์ไดนามิกซัพพอร์ตที่อยู่เหนือหัว ผู้ป่วยต้องเดินไปตามราง ซึ่งข้อจำกัดคือใช้ได้ในโรงพยาบาล หรือที่กำหนดไว้เท่านั้น

วรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร กับ “สเปซ วอล์กเกอร์” รางวัลที่ 1

ขณะที่วอล์กเกอร์ธรรมดาที่ผู้ป่วยใช้ฝึกเดินปกติ ผู้ป่วยมักจะหกล้มจากการใช้วอล์กเกอร์ ทำให้ไม่อยากเดิน บางคนเดินแล้วเหนื่อยเพราะขาไม่มีแรง จึงคิดว่าน่าจะมีวอล์กเกอร์ที่มีระบบไดนามิกซัพพอร์ต เราจึงนำข้อดีนี้มาทำให้มันสามารถไปอยู่ที่บ้านได้ ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ คือพัฒนาข้ามจุดของเขาไป

กรรมวิธีการใช้งานก็ไม่ยาก เริ่มจากการปรับความสูงของเครื่องช่วยพยุง ลักษณะเป็นสายเข็มขัดนิรภัยรั้งระหว่างต้นขาทั้งสองข้าง เพื่อช่วยพยุงน้ำหนักตัวผู้ป่วย ทำให้สามารถก้าวเดินได้ด้วยน้ำหนักตัวที่เบาขึ้น เดินได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อขาทั้งสองแข็งแรงขึ้น เราจะลดน้ำหนักที่ช่วยพยุงลง แล้วสามารถเลิกใช้วอล์กเกอร์ไปได้เลย

ซึ่งนอกจากการเป็นเครื่องช่วยเดิน ยังใช้ในลักษณะของการเป็นเครื่องกายภาพบำบัดที่สามารถเอาไปอยู่ที่บ้านได้ โดยขนาดเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ เครื่องนี้จะมีขนาดเล็กกว่า

“ถือเป็นเครื่องช่วยพยุงน้ำหนักตัวแรกของประเทศไทย ที่เป็นวอล์กเกอร์ที่มีเครื่องพยุงน้ำหนักแบบไดมามิกซัพพอร์ต เหมือนพยุงไว้ตลอดเวลา ปกติที่ใช้กันจะเป็นลักษณะของการแขวนห้อยเฉยๆ แต่ตัวนี้จะปรับเหมือนเดินในน้ำ”

วรัตถ์บอก และว่า ความตั้งใจต้องการให้เป็นเครื่องช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว เช่น สโตรก รวมถึงผู้สูงอายุที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ผ่านการทดสอบใน Healthy subject และในผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ เช่น ในผู้ป่วยสโตรก เจ็บเข่า ไขสันหลังอักเสบ พิการทางสมอง ฯลฯ ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่ยอมเดินนอกบ้านเลย เพราะกลัวล้ม แต่เมื่อเราลองให้ใช้เขาจะรู้สึกว่าเดินได้และมีความสุขขึ้น

“สเปซ วอล์กเกอร์ เป็นโปรเจ็กต์จบของผม โดยพัฒนามาโมเดลนี้เป็นโมเดลที่ 3 แล้ว แต่ยังต้องมีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมอีกในหลายจุด” เช่น ส่วนของชุดช่วยพยุง ระบบควบคุมให้ได้มาตรฐานมากขึ้น และทำการทดลองเชิงคลินิกเพิ่มเติม

จึงไม่แปลกที่เวทีนี้ไม่ใช่เวทีแรกที่ “สเปซ วอล์กเกอร์” ชนะใจกรรมการ ปีที่แล้วเพิ่งได้รางวัลโกลด์ อวอร์ด จากประเทศญี่ปุ่น ในการประกวดอุปกรณ์กายภาพบำบัด และอุปกรณ์ผู้สูงอายุนานาชาติ ในฐานะตัวแทนประเทศไทย

จากรางวัลชนะเลิศ มาถึงรางวัลที่ 2 ด้วยคอนเซ็ปต์ที่ใกล้เคียงกัน ทีม “Stand by Me” โดย สายรัก สอาดไพร, บารมี บุญมี และ ชัยพัฒน์ ศรีขจรลาภ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“Sit to Stand Trainer with Assessment of Balance Ability : An Apparatus for Rehabilitation and Exercise for Elderly at Home” เป็นเครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัดสำหรับการฝึกลุกยืน โดยเครื่องมือจะช่วยประคองตัวในขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง ทั้งยังสามารถประเมินสมรรถภาพการทรงตัวของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยได้

มีระบบการใช้งานถึง 3 โหมด ได้แก่ Exercise Mode ช่วยฝึกรยางค์ส่วนล่างของผู้ป่วยให้แข็งแรง, Games Mode ออกแบบเพื่อช่วยฝึกสมองของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสนุก ไม่น่าเบื่อในการฝึกออกกำลังกายและกายภาพบำบัด และโปรแกรมเพื่อช่วยคัดกรองสมรรถภาพการทรงตัวของผู้สูงอายุ

สายรัก สอาดไพร หัวหน้าทีมนวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายและทำกายภาพบำบัดแบบลุกนั่ง รางวัลที่ 2

สายรัก หัวหน้าทีมบอกว่า เครื่องมือนี้ออกแบบตามหลักวิศวกรรมการแพทย์ ถูกต้องตามหลักรยางค์ศาสตร์และชีวกลศาสตร์ โดยผู้ใช้งานสามารถปรับแรงช่วยได้หลายระดับ ตั้งแต่ 25-70% ของน้ำหนักตัว เก้าอี้เปลี่ยนได้ตามสรีระของผู้ใช้เหมาะกับผู้สูงอายุที่สูงตั้งแต่ 145-190 ซม.

ผลงานที่เป็นการทำงานร่วมกันของทีมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสหเวชศาสตร์ มธ. เพราะเราต้องการออกแบบให้ถูกต้องโดยการบูรณาการความรู้ทั้งด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ วิศวะเครื่องกล และวิศวกรรมการแพทย์ เพราะ “อยากให้เครื่องมือเราเป็นประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ ไม่ได้จบแค่การประกวด หรือแค่เรียนจบ แต่อยากให้ใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์กับทุกคน”

ซึ่งก่อนจะทำเราได้ค้นหางานวิจัยว่าอะไรเป็นปัญหาที่แท้จริง และพบว่ากล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุ โดยมีงานวิจัยระบุว่าผู้ที่อายุ 60 ปีเป็นต้นไป กล้ามเนื้อจะลดลง 1-3% ทุกปี เพราะไม่มีอะไรเป็นยาที่วิเศษไปกว่าการออกกำลังกาย จึงคิดว่าเราทำเครื่องมือออกกำลังที่ดีที่สุด ง่ายที่สุด ออกกำลังที่บ้านได้ จบเลย

สายรักบอก และยืนยันอย่างหนักแน่นว่า เครื่องมือนี้ผ่านการทดสอบเบื้องต้น ตั้งแต่เช็กแรงกระแทก โดยสามารถรองรับน้ำหนักดีกว่า และช่วยป้องกันการกระแทกของข้อเข่าได้ดี ต่อมาเป็นการทดสอบองศาของมุมสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ให้ออกมาเป็นธรรมชาติถูกต้องตามหลักชีวกลศาสตร์ทางกาย และยังทดสอบทางด้านการทำงานของกล้ามเนื้อ ผู้ที่อ่อนแรงก็ใช้งานได้ ปัจจุบันเรากำลังเก็บข้อมูลที่ศูนย์ผู้สูงอายุ เพื่อดูว่าหลังจากการใช้งานแล้วดีขึ้นอย่างไรบ้าง

ส่วนรางวัลที่ 3 เป็น “BotTherapist” โดย สุจิรัชย์ อัฏฐะวิบูลย์กุล เพ็ญพิชชา หวังลาวัลย์ และ ก้องเกียรติ รสหอมภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับนวัตกรรม “หุ่นยนต์แบบเคลื่อนที่สำหรับอยู่เป็นเพื่อนผู้สูงอายุ” พัฒนามาจากหุ่นยนต์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก โดยออกแบบเพื่อให้เป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุ และช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุให้กับบุตรหลาน

ทั้งนี้ ในส่วนของหุ่นยนต์มีรูปลักษณ์เป็นมิตรน่ารัก สามารถรับคำสั่งด้วยเสียง พูดคุยกับผู้สูงอายุได้ ควบคุมการเปิดปิดไฟในบ้านได้ ภายในหุ่นยนต์มีเกมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้สูงอายุสามารถเล่นเกมร่วมกับเด็กหรือคนในบ้านได้ ซึ่งยังมีส่วนช่วยฝึกสมองเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมอีกด้วย

หุ่นยนต์เคลื่อนที่สำหรับผู้สูงอายุ รางวัลที่ 3

“หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับระบบคลาวด์ในการแจ้งเตือนกิจกรรมต่างๆ เช่น ทานยา นัดพบแพทย์ เป็นต้น แจ้งเหตุไปยังบุตรหลานเมื่อผู้สูงอายุหกล้มหรือต้องการความช่วยเหลือ และยังเป็นสื่อกลางให้แพทย์สามารถติดตามตรวจจับความผิดปกติทางสุขภาพจากข้อมูลที่หุ่นยนต์บันทึกในแต่ละวัน เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง และแจ้งเตือนให้บุตรหลานเฝ้าดูแลได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ระบบสามารถเรียนรู้ที่จะตรวจจับได้โดยอัตโนมัติด้วย Machine Learning”

เป็นเพียง 3 ผลงานรางวัลชนะเลิศจากการส่งผลงานเข้าประกวดของนิสิตนักศึกษารอบสุดท้าย 16 ทีม ซึ่งแต่ละทีมล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ

อาทิ “กระเบื้องห้องน้ำอัจฉริยะ” วัดแรงกดเพื่อช่วยให้รู้ว่าผู้สูงอายุล้มหรือไม่ ผลงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ “เตียงอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วยติดเตียงป้องกันแผลกดทับ” ผลงานมหาวิทยาลัยนเรศวร “เครื่องวัดความเต็มของผ้าอ้อมผู้สูงอายุ” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ “Humidity Tape” อุปกรณ์วัดความชื้นของผ้าอ้อมเหมาะสำหรับผู้ป่วยติดเตียง มีขนาดเพียง 50X10 ซม. จากมหาวิทยาลัยบูรพา

ทางด้าน ดร.พสุ สิริสาลี นักวิจัยห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ หน่วยวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ เอ็มเทค หนึ่งในกรรมการตัดสินให้ความเห็นว่า ปัจจุบันถือเป็นความก้าวหน้าอย่างมากของนักศึกษา บางทีมมีการร่วมมือกันข้ามคณะ อย่างคณะวิศวะ กับคณะกายภาพบำบัด ทำให้ได้มุมมองที่แตกต่างกัน มีความใกล้ตลาดมากขึ้น อีกทั้งด้วยเทคโนโลยีทำให้ผลงานสมบูรณ์มากขึ้น บางงานสามารถส่งไปประกวดในต่างประเทศได้เลย

“ถ้าเราผลิตเองเงินก็หมุนอยู่ในประเทศ มีการเพิ่มมูลค่าไปเรื่อยๆ และแม้เราทำเองแล้วแพงกว่าในต่างประเทศ เราก็ควรจะสนับสนุนในประเทศก่อน ซึ่งการประกวดไอทีซีไอ อวอร์ด เราพยายามดึงคนที่มีไอเดียมาเจอกับผู้ประกอบการ และทำให้ขายได้จริงๆ”

เพราะเราอยากให้คนคิดแล้วได้ทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ

 

บรรยากาศภายในงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image