ซ้อมครั้งแรก 13 วงดุริยางค์สากล มหรสพสมโภชพระราชพิธีถวายพระเพลิง ‘7’นักดนตรีวงอ.ส.วันศุกร์ บรรเลง ‘เพลงกินรี’

เมื่อเวลา 9.30 น. วันที่ 20 กันยายน ที่โรงละครแห่งชาติ วงดุริยางค์สากลสำนักการสังคีต กรมศิลปากรจัดการฝึกซ้อมวงดุริยางค์สากล การแสดงมหรสพสมโภชเนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เวทีที่ 3 ซึ่งถือเป็นการฝึกซ้อมร่วมกันเป็นครั้งแรกของทั้ง 13 วงดนตรีที่เข้าร่วมพระราชพิธี โดยภาคเช้าเริ่มจากการแสดงของกรมดุริยางค์ทหารบก กรมดุริยางค์ทหารเรือ กรมดุริยางค์ทหารอากาศ กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนภาคบ่ายเป็นการแสดงของวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ฝึกซ้อมร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) วิทยาลัยนาฏศิลป โรงเรียนราชินี บริษัท S.R. และวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ ที่นอกจากจะมีการบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์แล้ว ยังมีการแสดงบันเลต์เรื่องมโนราห์ Kinari suite ท่อน 4 พระราชนิพนธ์ A Love Story (ภิรมย์รัก) และท่อน 5 พระราชนิพนธ์ Blue day ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวการฝึกซ้อมการแสดงบัลเลต์ร่วมกับวงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรเป็นครั้งแรก


นายเอนก อาจมังกร ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร กล่าวว่า ภาพรวมของการฝึกซ้อมการแสดง มหรสพสมโภช เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เวทีที่ 3 “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” ซึ่งประกอบไปด้วยการบรรเลงการขับร้อง วงดนตรีสากล และการแสดงบัลเลต์ เรื่อง มโนห์รา (KINARI SUITE) ซึ่งถือเป็นฝึกซ้อมร่วมกันเป็นครั้งแรก การฝึกซ้อมถือว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยกำหนดให้แต่ละวงได้นำเสนอบทเพลงที่ใช้ในการบรรเลงวงละ 2 – 3 บทเพลงตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งถือว่าแต่ละวงมีความพร้อมและได้ทำการฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับวงดนตรีของสำนักการสังคีต ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานในสังกัดของกรมศิลปากร ได้มีการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น มั่นใจว่าการจัดแสดงมหรสพดวงดนตรีสากลครั้งนี้จะมีความยิ่งใหญ่ อลังการ พิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการรวบรวมวงดุริยางคสากลที่มากที่สุดและมีบรรเลง นักร้อง และผู้แสดงรวมกันได้มากกว่า 1,000 คน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเวทีมหรสพยังบริเวณฝั่งทิศเหนือของท้องสนามหลวงทั้ง 3 เวที และมีกำหนดการดำเนินการติดตั้งเวทีให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายนนี้

น.ส.ชนินทร์วดี ชมภูทิพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุริยางค์สากล สำนักการสังคีต กรมศีลปากร ผู้ดูแลการแสดงเวทีที่3 กล่าวว่า ภาพรวมการแสดงในเวทีที่3 ดนตรีสากล จะเป็นการขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงร.9 เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อถวายอาลัย และบทเพลงที่สื่อความหมายสอดคล้องกับการแสดง ซึ่งมีทั้งหมด 7 องก์ คือ องก์ที่1 ดุจหยาดทิพย์ชโลมหล้า จากวงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร ศิลปินรับเชิญจากวงอ.ส.วันศุกร์ ซึ่งจะมาร่วมแสดง 7 คน สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา วิทยาลัยนาฏศิลปและสมาชิกวงRBSO องก์ที่ 2 ใต้ฟ้าร่มเย็น เพราะพระบารมี โดยวงดุริยางค์ทหารบก องก์ที่3 ทวยราษฎร์น้อมสดุดี โดยวงดุริยางค์ทหารเรือ องก์4 ถวายภักดีองค์ราชัน โดยวงดุริยางค์ทหารอากาศ องก์ที่ 5 สถิตนิรันดร์ในใจราษฎร์ โดยวงดนตรีสากลจากกองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องก์ที่6 ปวงข้าบาทบังคมถวาย โดยวงดนตรีสากล กรมประชาสัมพันธ์ และองก์ที่7 ธ สู่สวรรคาลัยในทิพย์วิมาน

น.ท.ศุภกร แตงน้อย ผู้ควบคุมวงกองดุริยางค์ทหารเรือ กล่าวว่า กองดุริยางค์ทหารเรือได้รับมอบหมายให้ร่วมบรรเลงเวทีที่3 ในวันที่ 26 ตุลาคม ในเวลา 01.00-02.00 น. มีผู้ร่วมบรรเลงและขับร้องประมาณ 126 นาย เตรียมเพลงในการแสดงประมาณ 14-18 เพลง ซึ่งนอกจากเพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชราชนาวิกโยธิน และเพลงพระราชนิพนธ์ค่ำแล้ว ที่ทางกรมศิลปากรได้มอบหมายให้บรรเลงและขับร้องแล้ว เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติสูงสุด ทางกองดุริยางค์ทหารเรือ ยังได้แต่งเพลงขึ้นมาใหม่ 2 เพลงคือ เพลงแสงเทียนแสงทิพย์ และเพลงคนบนฟ้า เปรียบเหมือนพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ดั่งแสงเทียน แสงทิพย์ที่ส่องสว่างกลางใจชาวไทยทุกคน ส่วนเพลงคนบนฟ้า เป็นการแสดงความรู้สึก แม้พระองค์จะเสด็จสู่สรวงสวรรค์แต่ เชื่อว่า พระองค์จะยังคงเฝ้ามองคนไทยทุกคนอยู่บนฟ้า ไม่ได้จากไปไหน ทั้งนี้กองดุริยางค์ทหารเรือได้ทำการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ถือว่ามีความพร้อม100% รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสถวายงานในหลวงร.9 เป็นครั้งสุดท้าย กองดุริยางค์ทหารเรือทุกใจมีความตั้งใจจะถวายงานครั้งนี้อย่างดีที่สุดและจะจดจำภาพเหตุการณ์นี้ไว้ในหัวใจ

Advertisement

นางโฉมฉาย อรุณฉาน วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ในการซ้อมครั้งนี้ได้นำบทเพลงพระราชนิพนธ์ จำวน 2 เพลงมาจัดแสดง ได้แก่ พรปีใหม่ และฝัน โดยวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ได้ฝึกซ้อมนักดนตรีและนักร้องทั้งหมด 89 คน เป็นการรวบรวมดนตรีทั้งสากลและเพลงไทยเดิมไว้ด้วยกัน ถือเป็นการน้อมนำพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการร้องเพลงทั้งภาษาไทย และเพลงสากลอย่างถูกต้อง ชัดเจนตรงตามโน้ตเพลง ดังที่เคยได้รับสั่งกับครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ควบคุมวงคนแรกของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ อีกทั้งพระองค์ยังทรงโปรดที่จะทรงดนตรีกับครูเอื้อ ทั้งยังได้มีโอกาสได้รับพระราชทานบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงประพันธ์ขึ้นใหม่มาบันทึกเสียงอีกด้วย สำหรับการแสดงในมหรพเวทีที่ 3 ครั้งนี้ ได้รับมอบหมายให้ร่วมบรรเลง จำนวน 13 บทเพลง ในช่วงระหว่างเวลา 04.00 – 04.50 น. อาทิ พรมหามงคล พรปีใหม่ ใกล้รุ่ง แว่ว เตือนใจ Somewhere Somehow รวมถึงเพลงร่มฉัตรที่เป็นเพลงไทยเดิมมาผสมผสานกับทำนองเพลงสากล โดยได้มีการฝึกซ้อมพร้อมแล้วเกือบ 100 %

นายอนิรุทธิ์ ทินกร ณ อยุธยา ผู้จัดการทั่วไปสายงานพัฒนาโครงการ สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ มือกีตาร์ ศิลปินรับเชิญจากวงอ.ส.วันศุกร์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมบรรเลงเพลง แม้จะรู้สึกเศร้าและเสียใจอย่างมาก ครั้งนี้ตนพร้อมด้วยสมาชิกวงอ.ส.วันศุกร์ อีก 7 คน จะร่วมบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ กินนรี ในวันที่ 26 ตุลาคม เวลา 23.00 น. ซึ่งในส่วนของตนตั้งใจถวายงานครั้งนี้ให้ดีอย่างสุดความสามารถเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากมีโอกาสได้ร่วมวงอ.ส.วันศุกร์ มานานกว่า 45 ปี ปัจจุบันตนอายุ 68 ปี ทุกครั้งที่ในหลวงร.9 ได้ทรงดนตรี รู้สึกว่า จะทรงพระเกษมสำราญพระราชหฤทัย เป็นอย่างมากแม้จะทรงงานหนัก พระราชโอวาทที่ทรงย้ำเสมอคือ ให้ยึดหลัก ความมีศีลธรรม เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ ปิดทองหลังพระ ทำอะไรอย่าหวังผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำความดี สิ่งดีๆ จะกลับมาหาเราเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image