สุจิตต์ วงษ์เทศ : ยังมีเหลือบ้างก็บุญแล้ว แม่น้ำลำคลองกรุงศรีอยุธยา

แม่น้ำลพบุรี เป็นคูเมืองด้านเหนือของเกาะเมืองอยุธยา ติดคูเมืองคือพระราชวังโบราณ และสนามหน้าจักรวรรดิต่อเนื่องท้องพระเมรุ (อยู่หน้าวิหารพระมงคลบพิตร) ด้านซ้ายเป็นบึงพระรามและทางน้ำเชื่อมเป็นใยแมงมุม ด้านขวามีคลองท่อเป็นแนวเหนือใต้ เชื่อมคลองอื่นๆ อีกมาก (ภาพจาก โดรนมติชนทีวี)

อยุธยา เติบโตเป็น ศูนย์กลางการค้านานาชาติ และ ราชอาณาจักรสยามแห่งแรกของไทย มีหลักฐานตะวันตกบอกไว้ตรงๆ (ต่างจากสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย ไม่เคยพบหลักฐานใดๆ สนับสนุน)

มีเหตุจากอยู่บริเวณชุมทางแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมการค้าทั้งภายในและภายนอกกับนานาชาติ

แม่น้ำลำคลองอยุธยามีเป็นร้อยทั้งขนาดน้อยและใหญ่จนนับไม่ถ้วน ทั้งในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง แผ่กว้างทั่วปริมณฑล ล้วนมีคุณค่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและอนาคต ดังนี้

(1.) แหล่งข้าวปลาอาหาร (2.) เส้นทางคมนาคม (3.) ช่องทางระบายน้ำลงอ่าวไทย (4.) เก็บกักน้ำรอระบายเหมือนแก้มลิง (5.) แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม

Advertisement

ไม่ชวนเที่ยว

แม่น้ำลำคลองทั้ง 2 ฟากฝั่ง มีทั้งชุมชนเก่าสืบเนื่องจากอดีต และชุมชนใหม่ที่มีแบบแผนต่างๆ หลากหลาย และมีธรรมชาติเหมือนกันและไม่เหมือนกัน ชวนท่องเที่ยวอย่างร่มเย็น

ข้อเสียคือขาดการจัดการอย่างเคารพธรรมชาติให้เป็นสถานที่ชวนเที่ยว

แต่บางแห่งจัดการล้นเกิน จนทำลายความเป็นธรรมดาแบบบ้านๆ เลยไม่ชวนเที่ยว

Advertisement

ไม่ชวนรู้

แม่น้ำลำคลองมีประวัติศาสตร์ทั้งในแง่ธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่สังคมไม่ชวนรู้ทั้งด้านธรรมชาติและมนุษย์สร้าง

ธรรมชาติ แม่น้ำลำคลองมีเปลี่ยนเส้นทางไหลของน้ำเป็นธรรมชาติ มีตัวอย่างดังนี้

แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อไหลถึงเขตอ่างทอง-อยุธยา ยุคดั้งเดิมจะแยกเป็น 2 เส้นทาง

  1. ไหลไปทางทิศตะวันออก เรียกคลองบางแก้ว อ่างทอง ฯลฯ ทุกวันนี้ยังมีให้เห็นเส้นยาวตั้งแต่อ่างทองถึงอยุธยา
  2. ไหลไปทางทิศตะวันตก เรียกคลองบางบาล อยุธยา ฯลฯ ใต้ปากคลองบางบาลลงไปมีแม่น้ำ แต่ที่เห็นทุกวันนี้เป็นแม่น้ำขุดใหม่ (มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก จะไม่เขียนตรงนี้ให้สับสนและเสียเวลา)

มนุษย์สร้าง แม่น้ำลำคลองมีบ้างที่มนุษย์ขุดใหม่ เพื่อควบคุมธรรมชาติ มีตัวอย่างดังนี้

เกาะเมืองอยุธยาเดิมไม่เป็นเกาะ แต่เป็นทางน้ำคดโค้งหลายสายทั้งใหญ่และน้อย มีแม่น้ำป่าสักไหลโค้งไปทางทิศตะวันออก

บริเวณหัวรอถึงหน้าวัดพนัญเชิง แต่เดิมเป็นทางน้ำเล็กๆ เรียกคูน้ำ หรือคูขื่อหน้า

ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาให้ขยายเมืองถึงคูขื่อหน้า แล้วขุดคูน้ำให้กว้างขึ้นเบิกทางน้ำไหลลง ทำให้แควป่าสักทะลักไหลทางตรงลงคูขื่อหน้ากลายยเป็นแม่น้ำป่าสักทุกวันนี้

เรื่องราวเหล่านี้มีหลักฐานประวัติศาสตร์ทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นคำบอกเล่า แต่ไทยละทิ้งมาแสนนาน

และจำนวนไม่น้อยที่สังคมไทยพากันถมทำลายหมดแล้วเพื่อยึดเป็นส่วนตัว หลักฐานประวัติศาสตร์จึงไม่เหลือให้เห็น

ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น

การศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญภูมิประเทศ ดังนั้นแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศจึงไม่อยู่ในหัวใจและสายตา อย่างมากเอาไว้อวดแค่เม้าท์มอยแล้วก็หมางเมินหมดไป

สถาบันการศึกษา ไม่ว่าส่วนกลางหรือท้องถิ่น ก็อีหรอบเดียวกัน ไม่สนใจความรู้ท้องถิ่นแท้จริงทั้งประวัติศาสตร์สังคมและภูมิประเทศ

ที่อยุธยายิ่งถูกเมิน ดูจากคลองประวัติศาสตร์ในเกาะเมือง ซึ่งสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์สังคมอยุธยาและต่อการท่องเที่ยวปัจจุบัน แต่ไม่มีข้อมูลเชิงวิชาความรู้ จึงกลายเป็นที่รกรุงรัง หรือเป็นที่คนและหมาเยี่ยวรด

นานๆ ก็เอางบประมาณไปทำความสะอาดบ้าง เพื่อรักษาประเพณีเงินทอน ไม่ใช่เพื่อรักษาประวัติศาสตร์

ดังนั้น ยังมีเหลือให้เห็นก็เป็นบุญกุศลนักหนาแล้ว แม่น้ำลำคลองกรุงศรีอยุธยา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image