ทช.ลุยชุมพร ตรวจทำประมงผิดกฎหมาย เผยจับแล้ว 129 คดี ผู้ต้องหา 130 คน

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีทช. ให้เป็นผู้บัญชาการการปฏิบัติการในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไดร่วมกับนายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ จ.ชุมพร ลงพื้นที่ตรวจเรือประมงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ที่ จ.ชุมพร เพื่อเป็นการปฏิบัติงานเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล และเป็นการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตรวจสอบเรือประมง ประมาณ 4-5 ลำ นายโสภณ ได้นำเรือตรวจการเข้าเทียบพร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดรวมทั้งตรวจสอบเครื่องมือทำการประมง ลูกเรือ เป็นต้น ส่วนใหญ่ไม่พบการทำผิดกฎหมาย

นายโสภณ กล่าวว่า ทช.รับผิดชอบงานป้องกันระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่รับผิดชอบ 23 จังหวัด โดยการตรวจลาดตระเวน ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการทำการประมง ซึ่งแบ่งชุดเรือตรวจการณ์ตามแผนบูรณาการออกลาดตระเวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการตรวจเรือประมงในท้องที่ที่รับผิดชอบ โดยมีผลการดำเนินการตรวจเรือประมง ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2559 – 20 กันยายน 2560 จำนวน 1,215 ลำ แรงงาน 16,070 คน สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ 129 คดี ได้ผู้ต้องหา 130 คน

นายจตุพร กล่าวว่า ทช. เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือ ศรชล. ซึ่ง ศรชล. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2558 ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายหรือศปมผ. การจัดตั้ง ศปมผ. ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย จากมาตรการแจ้งเตือนสถานะใบเหลืองโดยสหภาพยุโรป (EU) เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาทรัพยากรทางทะเลให้สมบูรณ์และยั่งยืนสืบต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการและนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเรือประมงไร้สัญชาติ การตรวจความถูกต้องของเครื่องมือประมง การตรวจการเข้า – ออก ของเรือประมง การตรวจอุปกรณ์เครื่องมือในระบบติดตามเรือ กับเรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป การตรวจใบอนุญาตแรงงานชาวต่างด้าว รวมถึงการสอดส่องเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ไทยหลุดพ้นจากการให้ใบเหลืองของ EU ได้ในที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image