ผลการตัดสินสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นประจำปี 2561

ผลการตัดสินสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นประจำปี 2561 กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานท่ายางบ้านลาดพัฒนาคว้ารางวัลที่ 1 ในการมีส่วนร่วมในหลายกิจกรรม รวมทั้งการปลูกและคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวป้อนกรมการข้าว รวมทั้งปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ โดยใช้น้ำปุ๋ยจากบ่อเลี้ยงปลาส่งทางท่อแล้วปลูกผักในสายท่อ  ตามด้วยกลุ่มผู้ใช้น้ำวังหว้า และพนมทวน อันดับ 2  และ 3 ตามลำดับ

สุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยผลการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี 2561 รอบตัดสินว่า อันดับ 1 เป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานท่ายางบ้านลาดพัฒนา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทาน (สชป.) ที่ 14  ได้รับรางวัลโล่พระราชทานในวันพืชมงคล ปี 2561 และเงินรางวัล 100,000 บาท  อันดับ 2 กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน ต.วังหว้า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ สชป.9 เงินรางวัล 70,000 บาท อันดับ 3 กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลอง 11 ขวา-1 ซ้าย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพนมทวน สชป.13 เงินรางวัล 50,000 บาท 

อันดับ 4 รับเงินรางวัล 30,000 บาท มี 3 โครงการ ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานคลองตะเคียน โครงการชลประทานสงขลา สชป.16  กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล สชป.11 และกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานห้วยตลาด โครงการชลประทานบุรีรัมย์ สชป.8 และรางวัลชมเชยอีก 10 รางวัล โดยมีนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้มอบรางวัล

เกณฑ์ในการตัดสินอาศัยกรอบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ ได้แก่ ความคิดริเริ่ม ความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อกลุ่ม กิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Advertisement

สำหรับกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานท่ายางบ้านลาดพัฒนาที่ได้รับรางวัลที่ 1 จัดตั้งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2549 สมาชิกแรกเริ่ม 29 คน ปัจจุบัน 1,653 คน จุดเด่นนอกเหนือจากสมาชิกร่วมกันตัดสินใจและรู้จักการบริหารจัดการน้ำ และบำรุงรักษาระบบชลประทาน มีการกำหนด วางแผน ควบคุม ตรวจสอบพื้นที่ ขอบเขตการส่งน้ำ ส่งเสริมสมาชิกปลูกพืชใช้น้ำน้อย ผลตอบแทนสูง และร่วมวางแผนการส่งน้ำในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมกำหนดแผนการเพาะปลูกก่อนการส่งน้ำในแต่ละฤดูกาลแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปลูกและคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวป้อนกรมการข้าว การปลูกผักลักษณะไฮโดรโพนิกส์ โดยใช้น้ำที่เป็นปุ๋ยจากบ่อเลี้ยงปลาส่งมาทางท่อและปลูกผักในสายท่อ

“การประกวดเป็นการกระตุ้นและให้กำลังใจแก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ นอกจากมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาน้ำสร้างความยั่งยืนผ่านเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (คสป.) แล้ว ทำให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำเองตระหนักถึงพลังของพวกเขาเองในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ เป็นความภาคภูมิใจ และเป็นแบบอย่างแนวทางสำหรับคนอื่นๆ ด้วย” นายสุจินต์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image