ไทยร่วมลงนาม-ให้สัตยาบันสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์กับ51ชาติสมาชิกยูเอ็น

ท่ามกลางสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง สมาชิกของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 51 ชาติ ได้เริ่มการลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ว่าด้วยการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ในวันที่ 20 กันยายน ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่บรรดาชาติที่มีนิวเคลียร์ในครอบครองต่างไม่เห็นด้วย รวมทั้งสหรัฐอเมริกา และชาติที่พึ่งพาการคุ้มครองทางอาวุธนิวเคลียร์จากประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ทั้งหลาย แต่นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการลงนามในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ที่ครอบคลุมระดับโลก

เนื้อความของสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ได้รับการยอมรับจาก 122 ประเทศในยูเอ็น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังการเจรจาที่นำโดยออสเตรีย บราซิล เม็กซิโก แอฟริกาใต้และนิวซีแลนด์ คอสตาริกา และไทย โดยบรรดาชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองต่างคว่ำบาตรไม่ร่วมในการเจรจาด้วย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือและอิสราเอล อย่างไรก็ตาม การอบนนิวเคลียร์ดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แต่อย่างใด

สมาชิกร่วมในพิธีลงนามในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ ที่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 กันยายน (AFP / DON EMMERT)

นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น และนายมีโรสลัฟ ไลชัก ประธานสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้ร่วมกันทำการเปิดพิธีลงนามขึ้นที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็น พร้อมยกย่องว่าเป็นย่างก้าวที่สำคัญ สำหรับสนธิสัญญาการปลดอาวุธร่วมกันหลายฝ่ายครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม นายกูแตร์เรสเองรู้ดีว่าจะต้องทำงานกันอีกมากถึงจะสามารถกำจัดหัวรบนิวเคลียร์ที่มีอยู่ถึง 15,000 หัวทั่วโลก

Advertisement

นายมิเชล เตเมร์ ประธานาธิบดีบราซิลเป็นคนแรกที่ลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวระหว่างพิธีที่จัดขึ้นนอกรอบการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็น 1 ใน 51 ชาติที่ร่วมลงนามและเป็น 1 ใน 3 ชาติที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่ในวันนี้ร่วมกับนครรัฐรัฐวาติกัน และกายอานา อย่างไรก็ดีสนธิสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ได้จริงก็ต่อเมื่อมีผู้ให้สัตยาบันครบ 50 ประเทศแล้ว

สาระสำคัญของสนธิสัญญาดังกล่าว คือการห้ามมี ห้ามใช้ ห้ามการทดลอง ไปจนถึงจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ชาติที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อยู่แล้วหากมีความประสงค์จะเข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวในอนาคตก็สามารถทำได้ โดยต้องมีการทำลายอาวุธนิวเคลียร์ในความครอบครองภายใต้กรอบเวลาที่มีการตกลงกัน ซึ่งถือว่ามีความยืดหยุ่นเพื่อที่สนธิสัญญาดังกล่าวจะได้มีผลบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติไม่ใช่เพียงทฤษฎีเท่านั้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image