โรงเรียนนิติบุคคล : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ว่ารัฐบาลนี้มีเวลาจำกัด อยากให้ทำเรื่องโครงสร้างให้ชัดเจนภายใน 1 ปี โดยไม่ได้ขยายความในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร จึงเป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระฯไปคิดมานำเสนอให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจ

เท่าที่ผมติดตามความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำแถลงของ คุณไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานคณะอนุกรรมการโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการศึกษา จำลองภาพโครงสร้างการบริหารการศึกษาเป็นรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ แบ่งโครงสร้างออกเป็นสองระดับ ระดับส่วนกลางหรือระดับบนกับระดับล่างหรือระดับพื้นที่ จังหวัด ถึงสถานศึกษาซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการ

โครงสร้างระดับบนสัปดาห์ก่อนว่ากันไปแล้ว มาถึงระดับล่าง ข้อเสนอที่สำคัญคือ ปรับเปลี่ยนสถานะของโรงเรียนให้เป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ

ประเด็นโรงเรียนนิติบุคคลจึงกลับมาเป็นเรื่องฮอตฮิตในแวดวงบริหารการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

นักการศึกษาส่วนใหญ่ล้วนเห็นด้วยในหลักการ ควรจะทำมานานแล้ว เพื่อให้เกิดการกระจาย
อำนาจให้โรงเรียนมีความอิสระ คล่องตัวในการจัดให้มีบริการทางการศึกษา

ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจาย
อำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550 ต่อมามีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางปฏิบัติตามโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน เพื่อส่งเสริมการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษารองรับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557

ทั้งกฎกระทรวงและคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว ล้วนเป็นเครื่องมือเพื่อเกิดการกระจายอำนาจ และนำไปสู่โรงเรียนนิติบุคคลในที่สุดนั่นเอง

Advertisement

แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ไม่เกิดผลจริงจัง เหตุเพราะความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่วนกลางหรือส่วนบนปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่กฎกระทรวงและคำสั่งดังกล่าวยังคงมีผลใช้อยู่ ไม่ได้ถูกเลิกไป แต่เนื่องจากไม่มีบทกำหนดโทษใดๆ กับใครทั้งสิ้น เลยกลายเป็นไม่ปฏิบัติไปในที่สุด

ประเด็นการกระจายอำนาจบริหารการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ บริหารบุคคล งบประมาณและการจัดการทั่วไป กับโรงเรียนนิติบุคคล จึงท้าทายผู้คนในแวดวงการศึกษาทุกระดับอีกครั้ง ดังที่กำลังดำเนินไปขณะนี้

จนเกิดคำถามว่า ปฏิรูปโดยทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลเที่ยวนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ส่วนกลางจะยอมคายอำนาจและกระจายออกไปแค่ไหน ยังไม่มีหลักประกัน เพราะผู้กำหนดนโยบายกับผู้ปฏิบัติยังไม่เกิดเอกภาพอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ขอบเขตการกระจายอำนาจในแต่ละเรื่องกระจายแค่ไหน โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคล โรงเรียนมีโอกาสเลือกครูตามความต้องการและความจำเป็นแค่ไหน

ยังเห็นต่างกันในรายละเอียด ประเภท ขนาด และจำนวนโรงเรียนที่จะพัฒนาเป็นโรงเรียนนิติบุคคล และยังมีอำนาจหน้าที่ซ้อนทับกันอยู่ระหว่างกลไกการบริหารการศึกษาอีกบางส่วน

ขณะที่ประเด็นหลัก ความเห็นต่างเรื่องทิศทาง จุดเน้น การจัดลำดับยุทธศาสตร์ที่ควรปฏิรูปก่อนหลัง ยังดำรงอยู่ ระหว่าง ปฏิรูปการเรียนรู้ ปฏิรูปครู ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปโครงสร้าง อะไรคือจุดคานงัด ที่ควรเร่งรัดดำเนินการก่อน และผลตกถึงนักเรียนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักการศึกษาส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับหลักการทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล แต่ก็ยังมีประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของตัวละครที่สำคัญ ควรพิจารณานั่นคือ กรรมการสถานศึกษา

ควรมีบทบาทแค่ไหน ในกระบวนการทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลและเมื่อโรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้วจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นไปตามหลักจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ตามยุคสมัยการศึกษา 4.0 ที่พูดๆ กัน

ที่ผ่านมา กรรมการสถานศึกษาถูกปฏิบัติในลักษณะเป็นไม้ประดับ สถานศึกษาทั้งหมดหลายหมื่นแห่ง ใช้คนกลุ่มนี้คุ้มค่าจริงๆ มีเป็นส่วนน้อย

ส่วนใหญ่ถูกใช้ไม่คุ้มกับศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่มี สาเหตุมาจากหลายส่วน ทั้งฝ่ายบริหารสถานศึกษา ทั้งกรรมการสถานศึกษาเอง และบทบาทของส่วนกลาง

ทั้งๆ ที่มีกฎกระทรวงเกี่ยวกับการได้มา คุณสมบัติ ภาระหน้าที่ ของกรรมการสถานศึกษา บังคับใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2546 กำหนดภารกิจ ทั้งวิชาการ ระดมทรัพยากร กำหนดนโยบายและแผนพัฒนา เห็นชอบแผนปฏิบัติการ เห็นชอบผลการดำเนินงานก่อนเสนอต่อสาธารณชน เห็นชอบการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฯ โดยให้ประชุมอย่างน้อยภาคเรียนละ 2 ครั้ง

ในทางที่ควร น่าจะประชุมเป็นประจำสม่ำเสมอทุกเดือน ซึ่งต้องยึดหลักไม่ไปสร้างปัญหาหรือเป็นภาระให้กับโรงเรียนเพิ่มขึ้นด้วย

ที่ผ่านมาโรงเรียนได้งบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ เอกสารประกอบการประชุมปีละ 5,000 บาท เพิ่งเพิ่มขึ้นในปี 2560 ตามขนาดโรงเรียน โรงเรียนละ 11,100-18,300 บาทต่อปี นอกนั้นสถานศึกษาต้องช่วยเหลือตัวเอง

การผลักดันแนวทางโรงเรียนนิติบุคคลเที่ยวนี้จึงน่าจะเริ่มต้นจากการทำให้บทบาทของกรรมการ
สถานศึกษา เป็นจริงเป็นอันดับแรกก่อนเลย

สมาคมกรรมการสถานศึกษาซึ่งรวมตัวกันเป็นทางการมานานแล้วน่าจะมีส่วนร่วมสะท้อนปัญหา แนวทางการพัฒนากรรมการสถานศึกษาและสถานศึกษาเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน

ประเด็นอยู่ที่ว่าระหว่างกรรมการอิสระกับสมาคมกรรมการสถานศึกษา ใครจะยื่นมือไปหาใครก่อน เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image