ทนาย“วันชัย บุนนาค”จี้อสส.ทำคดีฟอกเงินกรุงไทยให้ครบ เหตุดีเอสไอแยกสำนวน-ส่อไม่สั่งฟ้อง“ชัยณรงค์-อุตตม”

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายวันชัย บุญนาค ทนายความและนักวิชาการด้านกฎหมาย ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดในคดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับหนังสือ

หนังสือระบุใจความสรุปว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษที่ 36/2550 ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2550 โดยกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยที่อนุมัติสินเชื่อทั้ง 5 คน จะต้องเป็นผู้ต้องหาในคดีแล้ว ถ้าดีเอสไอจะขยายผลต้องทำสำนวนคดีนี้ให้ครบทุกคนที่รับเงินไป จนต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินว่ากรรมการบริหารที่ลงนามอนุมัติสินเชื่อผิดและถูกจำคุกไป 3 คน ส่วนอีก 2 คน คือนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ และนายอุตตม สาวนายน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คนปัจจุบัน) กลับไม่ถูกฟ้อง เห็นว่าไม่มีกฎหมายยกเว้นว่าไม่ผิดฐานฟอกเงิน ดังนั้นดีเอสไอต้องทำการสอบสวนกรรมการทั้งหมด อีกทั้งในคดี36/2550ที่ถึงเเม้ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาไปเเล้ว เเต่ก็ไม่ใช่ว่าคดีระงับหรือคดีจบแล้วเนื่องจากยังไม่มีการดำเนินคดีครบทุกคนเเละคดีดังกล่าวก็ยังไม่ขาดอายุความ ในครั้งนั้นเเม้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งเห็นควรฟ้องหรือไม่ฟ้องไปในสำนวนที่สรุปมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 13 คน ส่งพนักงานอัยการไปแล้วนั้น แต่ทราบว่าดีเอสไอไม่ได้ทำคำสั่งทางคดีกับกรรมการอนุมัติสินเชื่อให้ครบทั้ง 5 คน ของธนาคารกรุงไทยทั้งหมด

หนังสือระบุต่อไปว่า ดีเอสไอจะต้องเรียกตัวผู้อนุมัติสินเชื่อทั้งหมดที่ทำให้เงินปล่อยกู้ที่ผิดกฎหมายนำไปสู่การฟอกเงินมาสอบสวนดำเนินคดีทั้งหมด และต้องทำความเห็นทางคดีว่าเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องส่งให้อัยการพิจารณาคดีตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าดีเอสไอไม่ทำตามขั้นตอนนี้ ส่อว่าช่วยเหลือนายชัยณรงค์และนายอุตตมให้ไม่ถูกดำเนินคดีฟอกเงิน แต่ทางดีเอสไอเองกลับไปตั้งคดีฟอกเงินกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่การรับเงินหรือรับเช็คธนาคารกรุงไทย หรือรับเงินจากบัญชีธนาคารกรุงเทพ ที่ทำการกระจายเงิน โดยแยกสำนวนคดีพิเศษที่ 25/2560 ทั้งๆ ที่ความจริงเเล้วดีเอสไอจะต้องทำการสอบสวนรวบรวมว่าธนาคารกรุงเทพ รับเงินไปเท่าใด ใครบ้างที่รับเงินทั้ง 9,900 ล้านบาท ไม่ควรแยกสำนวนคดี คดีนี้จะฟ้องใครฟอกเงินหรือไม่ต้องจบที่พนักงานอัยการ จึงมาร้องเรียนต่ออัยการสูงสุดให้พิจารณาดำเนินคดีกับทุกคนที่รับเงินปล่อยกู้ผิดกฎหมายทั้งธนาคารกรุงเทพ บุคคล และนิติบุคคล อย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ด้านนายประยุทธ กล่าวว่า จะนำเรียนต่ออัยการสูงสุด หากสำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการจะได้ส่งเรื่องไปรวมเพื่อประกอบการพิจารณาโดยเร็ว หรือถ้าต้นเรื่องมีการส่งจากดีเอสไอมายังพนักงานอัยการแล้วคงจะส่งไปรวมประกอบการพิจารณาต่อไป

Advertisement

ต่อมา นายวันชัย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า คดีนี้มีอะไรที่ผิดสังเกตไม่ได้รับการพิจารณา และไม่มีหลักฐานการสอบสวนว่าสั่งไม่ฟ้อง เช่นนายชัยณรงค์และนายอุตตม ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ว่าพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ตนมองว่าในส่วนของ 2 คนนี้คดียังไม่ระงับ และจะขาดอายุความ?ในวันที่ 9 ธันวาคม 2561 โดยเรื่องนี้กระทบต่อสถาบันการเงินและเศรษฐกิจ ตนยื่นเรื่องนี้ต่อดีเอสไอหลายครั้งแล้ว ความคืบหน้าเป็นไปอย่างล่าช้า และทราบมาว่าที่ผ่านมามีการสรุปสำนวนเพียง 13 คน ไม่ได้ปฏิบัติอย่างทั่วถึงในการส่งสำนวนมาที่อัยการ ตนจึงมาร้องเรียนต่ออัยการให้พิจารณาสั่งการสอบสวนเพิ่มเเละไม่ควรที่จะแยกสำนวน ส่วนจะขยายผลถึงใครก็ควรทั่วถึงเท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นคดีเดียวกับที่มีการกล่าวหานายพานทองแท้ ชินวัตร หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีปล่อยสินเชื่อ 9,900 ล้านบาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีเดียวกันกับคดีที่ศาลฎีกาตัดสินแล้ว ซึ่งเป็นหลักที่พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการสอบสวนบุคคลตามที่มีมติรับไว้ คือกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยอย่างน้อย ให้ครบทั้ง 5 คน ส่วนจะขยายผลถึงใครต่อไปก็ย่อมทำได้

“คดีหลักเลขดำที่ 36/2550 ไม่มีข้อความใดปรากฏว่าได้ทำการสอบสวนกรรมการธนาคารกรุงไทยในขณะนั้น ให้ครบทั้ง 5 คน และมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องส่งพนักงานอัยการ เเต่มีการแยกสำนวนคดีออกมาซึ่งส่อว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ คดีนี้ตามกฎหมายจะจบที่ดีเอสไอไม่ทำสำนวนส่งอัยการไม่ได้ ต้องจบที่อัยการมีความเห็นสั่งหรือไม่ฟ้อง หากเห็นสั่งฟ้องก็ต้องจบที่ศาล”นายวันชัยกล่าว และว่า ส่วนสำนวนที่จะมีการเตรียมกล่าวหานายพานทองแท้กับพวกเป็นสำนวนคดีที่แยกในปี 2560 ออกมาเป็นคดีที่ 25/2560

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image