สนช.รับหลักการ กม.ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด

แฟ้มภาพ

เมื่อเวลา 10.00น. วันที่ 21 กันยายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ..ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญเพื่อให้มีกลไกในการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนในเชิงบูรณาการอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคณะกรรมการการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด จำนวน 22 คน ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 16 คน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ เป็นต้น และอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นเลขานุการ นอกจากนี้ยังมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน ที่รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านละ 1คน ได้แก่ ด้านการคุ้มครองเด็ก ด้านการศึกษา ด้านจิตวิทยา ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านสาธารณสุขและด้านสิทธิมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 3 ปี

โดยคณะกรรมการมีหน้าที่เสนอนโยบายและแผนในการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดให้สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนต่อคณะรัฐมนตรี ให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดหรือเสนอแนะแนวทาง กลยุทธ์ และมาตรการในการบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด กำหนดแนวทางดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเพื่อมิให้กลับไปกระทำผิดอีกฯ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังได้กำหนดห้ามไม่ให้เจ้าพนักงานพินิจใช้เครื่องพันธนาการแก่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าพนักงานพินิจ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คือ เพื่อป้องกันการหลบหนี เมื่อนำตัวเยาวชนออกมานอกสถานที่ควบคุม หรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กหรือเยาวชนหรือบุคคล

ในกรณีที่เด็กและเยาวชนมีบุตรอายุต่ำกว่า 3 ปี ติดมาระหว่างถูกควบคุมตัวหรือรับการฝึกอบรมหรือคลอดบุตรในระหว่างรับการควบคุมตัวหรือรับการฝึกอบรม หากไม่มีผู้ใดจะเลี้ยงดูเด็กผู้อำนวยการจะอนุญาตให้บุตรของเด็กอยู่ในสถานที่ควบคุมได้เฉพาะกรณีที่จำเป็น หรือส่งบุตรนั้นไปยังหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่การสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพหรือพัฒนาฟื้นฟูเด็ก สำหรับบทกำหนดโทษนั้นกำหนดว่า ผู้นำสิ่งของต้องห้ามเข้าไปในสถานที่ควบคุมไม่ว่าด้วยวิธีใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพินิจต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ต้องโทษเป็น 3 เท่า

Advertisement

จากนั้น ได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว และได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ..วาระ 1 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 177 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 21 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image