สภามรภ.บุรีรัมย์ยอมถอย ทบทวนตั้ง’มาลิณี’รักษาการอธิการบดี25ก.ย. 

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นายสุชาติ เมืองแก้ว นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)บุรีรัมย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่สภามรภ.บุรีรัมย์มีมติแต่งตั้งนางมาลิณี จุโฑปะมา อดีตอธิการบดี ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 หลังจากที่ศาลปกครองนครราชสีมามีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติสภามรภ.บุรีรัมย์ที่มีมติแต่งตั้งนางมาลิณี เป็นอธิการบดีมรภ.บุรีรัมย์และให้ยกเลิกมติสภาที่แต่งตั้งนางมาลิณี เป็นรักษาการอธิการบดีระหว่างที่รอนำรายชื่อนางมาลิณีเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 ตามที่นายปัญญา เจริญพจน์ ผู้สมัครอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ ฟ้องร้องนั้น ว่า สภามรภ.บุรีรัมย์ยืนยันมติแต่งตั้งนางมาลิณี ดำรงตำแหน่งอธิการบดีและรักษาการอธิการบดีถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้มีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ผลเป็นอย่างไรแล้วแต่การตัดสินของศาลปกครองสูงสุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ศาลปกครองนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติสภาที่แต่งตั้งนางมาลิณีเป็นรักษาการอธิการบดี การที่ประชุมสภามีมติเมื่อวันที่ 10 กันยายนให้แต่งตั้งนางมาลิณี กลับมาเป็นรักษาการอธิการบดีอีกครั้งถือเป็นการท้าทายอำนาจของศาลหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า สภาจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมสภาวันที่ 25 กันยายนเพื่อหารือว่ามติดังกล่าวขัดกับกฎหมายหรือไม่ หรือควรต้องชะลออย่างไรหรือไม่

ด้านนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่า กรณีที่ถามว่าการที่สภามรภ.บุรีรัมย์มีมติแต่งตั้งนางมาลิณี เป็นรักษาการอธิการบดีทั้งที่ศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติแต่งตั้งนางมาลิณีเป็นอธิการบดีและรักษาการอธิการบดี ถือว่าเหมาะสมหรือไม่นั้น สกอ.ไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจถูกจัดสรรไปให้สภามหาวิทยาลัยแล้ว ดังนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภามรภ.บุรีรัมย์ซึ่งตนทราบมาว่าสภาก็ได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตามการแต่งตั้งรักษาการจากผู้ที่ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาว่าขัดกฎหมาย ก็อาจนำมาสู่ประเด็นฟ้องร้องตามมาอีกได้ ส่วนตัวจึงมองว่าเพื่อความปลอดภัย ก็ควรแต่งตั้งรักษาการอธิการบดีจากผู้ที่ไม่มีข้อสังสัยว่าจะขัดกับประเด็นกฎหมาย ทั้งนี้เป็นเรื่องที่สภาแต่ละแห่งจะต้องไปพิจารณากันเองเพราะแต่ละแห่งอาจมีการเขียนข้อบังคับเพิ่มเติมแตกต่างกัน เช่น บางแห่งเขียนข้อบังคับเพิ่มเติมว่าตำแหน่งอธิการบดีต้องเป็นศาตราจารย์ บางแห่งเขียนให้คนนอกเป็นอธิการบดีได้ซึ่งถ้าเป็นคนนอกก็ไม่ได้จำกัดเรื่องอายุ เป็นต้น ในส่วนของมรภ.บุรีรัมย์ตนไม่ทราบรายละเอียดข้อบังคับ อาจมีการเขียนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ สภาถึงเห็นว่าตั้งนางมาลิณี เป็นรักษาการอธิการบดีได้

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาเรื่องแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณไม่ได้หนึ่งเคสแล้ว ก็อาจทำให้ที่อื่นๆ หยิบยกคำพิพากษาของศาลแห่งนี้ไปเป็นอ้างในการฟ้องร้องกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีการแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณตามมาได้ ทั้งที่การพิพากษาของศาลในเรื่องนี้เป็นเรื่องของรายบุคคล ไม่สามารถใช้กับทุกแห่งได้ เพราะแต่ละแห่งเขียนข้อบังคับเพิ่มเติมไม่เหมือนกัน แต่แน่นอนว่าหลักๆ เหมือนกันตามที่พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันศึกษาอุดมศึกษา(ก.พ.อ.)ซึ่งเป็นกฎหมายกลางบัญญัติไว้ อาทิ กำหนดให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ดอกเตอร์และรองศาสตราจารย์ดอกเตอร์สามารถต่ออายุราชการหรือเป็นข้าราชการได้ถึง 65 ปี ตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ทั้งนี้ไม่อาจดำรงตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย เช่น อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี เป็นต้น ซึ่งกฎหมายก.พ.อ.กำหนดว่าต้องเป็นข้าราชการพลเรือนหรือพนักงานมหาวิทยาลัย เท่านั้น เป็นต้น ฉะนั้นการพิจารณาเรื่องแต่งตั้งอธิการบดีจากผู้เกษียณว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายแห่ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image