สทน.ให้ “รอสอะตอม” สร้างเครื่องไซโคลตรอนไทย

เครื่องเร่งอนุภาคแบบไซโคลตรอน MCC-30/15 (ภาพ-ROSATOM)

บริษัทพลังงานนิวเคลียร์รอสอะตอม ซึ่งเป็นบริษัทนิวเคลียร์ของประเทศรัสเซีย และบริษัท ไคเนติคส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมก่อสร้างเครื่องเร่งอนุภาคแบบไซโคลตรอนและห้องปฏิบัติการวิจัยเคมีกัมมันตรังสีสำหรับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)

โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ด้วยเนื้อที่มากกว่า 5,400 ตารางเมตร มีเครื่องเร่งอนุภาคแบบไซโคลตรอนและห้องปฏิบัติการวิจัยสำหรับใช้ผลิตเภสัชภัณฑ์รังสี เพื่อพัฒนาทางการแพทย์และเป้าหมายอื่นๆ นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการวิจัยจะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีรังสีและนวัตกรรม ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะเริ่มต้นทำงานได้ภายใน 3.5 ปี


วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560 ปีที่ 40 ฉบับที่ 14437 มติชนรายวัน
สทน.ให้”รอสอะตอม” สร้างเครื่องไซโคลตรอนไทย
แบบจำลองอาคารสำหรับเครื่องเร่งอนุภาคแบบไซโคลตรอนและห้องปฏิบัติการวิจัยของ สทน. (ภาพ-ROSATOM)

ดร.สมชาย เอื้อพิพัฒนากูล ประธานกรรมการบริหารบริษัทไคเนติคส์กล่าวว่า “ปัจจุบันไอโซโทปทั้งหมดของ SPECT ในประเทศไทยถูกนำเข้าจากต่างประเทศ โดยไอโซโทป PET บางชนิดสามารถผลิตได้ในโรงพยาบาลในประเทศไทย แต่ปริมาณที่ได้ยังคงไม่เพียงพอ ดังนั้น เครื่องเร่งอนุภาคแบบไซโคลตรอนใหม่ที่จัดหาโดยบริษัทหุ้นส่วนรัสเซียของเรา จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตไอโซโทปได้เองเพื่อใช้ช่วยชีวิตและพัฒนานวัตกรรมในประเทศของเรา”

ดร.สมชายกล่าวต่อว่า โครงการนี้จะช่วยการวิจัยและพัฒนาทางด้านการแพทย์นิวเคลียร์และการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมพร้อมกันไปด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแบบไซโคลตรอน MCC-30/15 ที่มีกำลัง 30 MeV ที่รอสอะตอมก่อสร้าง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ดังกล่าว เครื่องนี้จะใช้ในการผลิตไอโซโทป PET และ SPECT สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ เนื้องอก และระบบประสาทที่ถูกต้อง ในหลายๆ กรณี การใช้ไอโซโทป PET และ SPECT เป็นวิธีการเดียวที่จะช่วยกำหนดการรักษาที่เหมะสม

Advertisement

“เรารู้สึกเป็นเกียรติสำหรับความไว้วางใจจากคู่ค้าชาวไทยและลูกค้าของเราในด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์รัสเซียของรอสอะตอมซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมมากว่า 70 ปี รวมถึงการออกแบบและการผลิตโซลูชั่นยารักษาโรคด้วยนิวเคลียร์โดยมีโรงงานผลิตไอโซโทปกัมมันตรังสี 14 แห่งในประเทศรัสเซีย” นายเอกอร์ ซีโมนอฟ หัวหน้าของรอสอะตอมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image