แนวทางรักษา‘มะเร็ง11กลุ่มโรค’ ลดความเหลื่อมล้ำคนไข้ ช่วย รพ.เบิกจ่ายคล่องตัว

การออกมาตรฐานการรักษา (Protocol) โรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด/รังสีรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทย เนื่องจากจะช่วยให้โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการให้บริการและเบิกจ่ายค่ารักษาได้อย่างไม่ติดขัด และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

ทั้งนี้ ศ.พญ.ลักษณา โพชนุกูล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนามาตรฐานหน่วยบริการที่ให้บริการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด/รังสีรักษา ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 จะมีการประกาศมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษาให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการให้บริการและเบิกจ่าย

“ตั้งแต่ก่อกำเนิดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และระบบบัตรทอง ถือว่ามีประโยชน์กับประเทศไทยและผู้ป่วยมะเร็งเป็นอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ป่วยมะเร็งจะไม่มีคนดูแล แต่ปัจจุบันคนไข้ทุกคนมีเจ้าของแล้ว นั่นก็คือ สปสช. อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งนั้นไม่ใช่ว่าหน่วยบริการทุกแห่งจะสามารถดำเนินการได้ เพราะแม้บางแห่งอยากจะรักษาและอยากจะพัฒนาศักยภาพตัวเองขึ้นมาเพื่อให้การรักษา แต่ก็มักประสบปัญหาคือไม่รู้ว่าจะต้องรักษาในทิศทางใด หรือคุณภาพของหน่วยบริการเป็นอย่างไร ฉะนั้นเมื่อมีการตั้งมาตรฐานขึ้นมาว่า

โรงพยาบาลที่จะรักษามะเร็งได้นั้นต้องทำแบบนี้ๆ คือมีการกำหนดเกณฑ์อย่างชัดเจน ไว้ใจได้ว่าจะทำประโยชน์ให้กับคนไข้โดยไม่มีอันตรายอะไร ย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่ว่าการฉายแสง ไม่ว่าการผ่าตัด และไม่ว่าการให้เคมีบำบัด ถ้าเป็นคนไม่รู้จริงก็จะทำไม่ได้” ศ.พญ.ลักษณากล่าว และว่า คณะกรรมการชุดนี้ตั้งเกณฑ์ของโรงพยาบาลทุกระดับในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะไปดูถึงระดับโรงพยาบาลชุมชนด้วย เพราะมีหลักการว่า ในระดับชุมชน คนไข้จะต้องไม่เดินทางไกล หรือห่างบ้าน ซึ่งจะทำให้คนไข้สุขภาพจิตดี มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรค แต่ถ้าใกล้บ้านแล้วไม่มีคุณภาพ ก็เกรงว่าจะทำให้คนไข้เกิดอันตรายมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

Advertisement

ศ.พญ.ลักษณากล่าวอีกว่า ขั้นตอนในขณะนี้อยู่ระหว่างรอให้ สปสช.แต่งตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะเริ่มประชุมจัดทำมาตรฐาน ซึ่งเดิมมาตรฐานการรักษาก็มีอยู่แล้ว มาตรฐานเคมีบำบัดก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้จะเอามารวมกันแล้วประกาศออกมาให้ประชาชนรับรู้อย่างทั่วถึงว่าเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลขนาดเล็ก โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ใครอยากจะทำการรักษา ถ้ามีมาตรฐานเช่นนี้ เรายินดี เพราะจะทำให้คนไข้เข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ต้องห่วงว่าการจัดทำมาตรฐานการรักษาจะเป็นการจำกัดการรักษา เพราะข้อเท็จจริงการรักษาที่เกินเลยก็ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การรักษาที่เป็นมาตรฐานย่อมได้ประโยชน์มากกว่า โดยผู้เชี่ยวชาญทุกคนในคณะกรรมการชุดนี้จะนำประสบการณ์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมายำรวมกัน แล้วประเมินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยและประเทศไทย

ทางด้าน พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา รองผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งว่า ในปีงบประมาณ 2561 สปสช.จะประกาศมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งทั้งสิ้น 11 กลุ่มโรค รวม 21 โปรโตคอล เพื่อใช้กับหน่วยบริการทุกระดับ ประกอบด้วย มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งหลังโพลงน้ำดี มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระดูก มะเร็งโรคเลือดผู้ใหญ่ และมะเร็งในเด็ก

พญ.สุดสวาทกล่าวว่า ในอดีตแนวทางการรักษาโรคมะเร็งที่ทำกันมากๆ คือการให้ยาเคมีบำบัด แต่ปัจจุบันมีการรักษาในรูปแบบอื่น โดยเฉพาะการให้ยามุ่งเป้า ซึ่งแม้ว่าจะมีราคาแพงและอยู่ในต่างประเทศทั้งสิ้น แต่ก็มีประสิทธิภาพสูงและช่วยให้คนไข้มีชีวิตที่ยืนยาวได้มากขึ้น ขณะนี้ สปสช.สามารถต่อรองราคาจนนำยามุ่งเป้าบางชนิดมาใช้รักษาในระบบหลักประกันสุขภาพได้ เช่น ยารักษาโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งค่าใช้จ่ายประมาณ 5 แสนบาทต่อปีต่อราย หรือยารักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่จะมีประสิทธิภาพสูงเมื่อใช้ร่วมกับเคมีบำบัด โดยราคาประมาณ 4-5 แสนบาทต่อชุดการรักษา

Advertisement

“การบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทำมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 10 ปี โดยหลักการใหญ่ที่ สปสช.สนับสนุนให้มีการพัฒนาการรักษาคือ 1.ต้องการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการบริการรักษาโรคมะเร็ง 2.การรักษาต้องมีมาตรฐาน คือมีมาตรฐานทั้งสถานพยาบาล บุคลากร งบประมาณ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนจะมี สปสช. คนไข้โรคมะเร็งต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือต้องใช้ระบบสังคมสงเคราะห์ของแต่ละโรงพยาบาลซึ่งจะไม่เท่าเทียมกัน กระทั่งมีการพัฒนาระบบรักษามะเร็งมาเรื่อยๆ จนมีการทำมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งต่างๆ ที่พบบ่อยๆ ในประเทศ มะเร็งตับ ปอด ลำไส้ใหญ่ เต้านม ปากมดลูก มีการศึกษาและหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยคิดหามาตรฐานการรักษา หรือสูตรการให้ยาที่เป็นแนวทางเดียวกัน” พญ.สุดสวาทกล่าว

ขณะที่ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตลอด 15 ปีของระบบบัตรทอง เป็นที่ประจักษ์และยอมรับถึงคุณภาพการรักษาโรคมะเร็งว่ามีสูงเป็นมาตรฐานเดียว โดยกองทุนบัตรทองต้องรับผิดชอบประชากร 50 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามสนับสนุนงบประมาณ แต่ก็มีข้อจำกัด ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย เพื่อบริหารงบอันจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากเรื่องค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องสังคม ที่ต้องมาช่วยกันว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่การรักษาให้หายจากโรค แต่มีคุณภาพชีวิตตกต่ำ

ขณะเดียวกัน ต้องมีการส่งเสริมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ให้เกิดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่ถ้าเกิดป่วยเป็นโรคนี้จริง อย่างน้อยก็สร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาชนจะได้รับการบริการที่ดีที่สุด และมีมาตรฐานอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image