กลเกม การเมือง “การศึก” มิหน่าย “เล่ห์” “ชาติไทยพัฒนา”

เห็นท่าทีของ นายประภัตร โพธสุธน เห็นท่าทีของ นายวราวุธ ศิลปอาชา ณ เบื้องหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

พาดหัวข่าวของ “สื่อ” หลายฉบับไปในทางเดียวกัน

หากไม่สรุปว่า “ปลาไหล” ซบ “คสช.” ก็มองว่าเส้นทางการต่อท่ออำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินไปอย่างราบรื่น

เข้าทำนอง “ฉลุย” ในแบบ “มาดเฉลา”

Advertisement

และเมื่อประสบเข้ากับการออกมา “แก้ต่าง” ไม่ว่าจะมาจาก นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ไม่ว่าจะมาจาก นายนิกร จำนง หลายคนอาจงุนงง

ทั้งๆ ที่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเรื่อง “การเมือง”

เป็นบรรยากาศแห่งการหาเสียงอย่างแน่นอน แต่ก็เป็นไปอย่างที่สำนวนจีนสรุปออกมาอย่างรวบรัดยิ่งว่า

Advertisement

“นอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละเรื่อง”

 

เร็วเกินไปที่จะฟันธงว่าพรรคชาติไทยพัฒนาจะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องเป็นอย่างนี้ แม้ว่าคนพูดจะเป็น นาย วราวุธ ศิลปอาชา หรือ นายประภัตร โพธสุธน

จากความจัดเจนระดับ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

“ในเมื่อ คสช.ไม่ให้นักการเมืองทำกิจกรรม ไม่ให้มีประชุมพรรค แล้วจะมาบอกว่าเป็นความเห็นของพรรคคงจะไม่ได้ ถือเป็นความเห็นส่วนตัว”

โป๊ะเชะ ชัดเจน

หากย้อนไปศึกษา “คำพูด” ของ นายบรรหาร ศิลปอาชา ต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หากย้อนไปศึกษา “กระบวนท่า” ของพรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งแต่ยังใช้ชื่อว่าพรรคชาติไทย ก็จะมีความเข้าใจในท่วงทีและลีลาได้

ทั้งหมดนี้เสมอเป็นเพียงการเริ่มต้นของ “ปี่กลอง” ในทางการเมือง

เป็นการเริ่มต้นไม่ว่าจะมองผ่าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการเริ่มต้นไม่ว่าจะมองผ่าน นายวราวุธ ศิลปอาชา

เพราะคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ “การเลือกตั้ง”

 

ต้องยอมรับว่าพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติไทย ยืนยันในหลักการอันเรียกว่า “สัจนิยม” ไม่เคยทรยศไม่เคยหักหลังต่อเพื่อนมิตรทางการเมือง

ถามว่าอะไรคือ “บรรทัดฐาน” ในการตัดสินใจ

คำตอบที่แม้กระทั่งพรรคไทยรักไทยก็ยอมรับ คำตอบที่แม้กระทั่งพรรคพลังประชาชนก็ยอมรับคำตอบที่แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยก็ยอมรับ

คือ คำตอบจาก “การเลือกตั้ง”

อาจจะดูประหนึ่งว่า พรรคชาติไทยก็ดี พรรคชาติไทยพัฒนาก็ดี จะสามารถหลอมตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลได้เสมอ

แต่นั่นก็ประเมินจาก “ความชอบธรรม” ของแต่ละ “สถานการณ์”

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า คสช.จะกำหนด “วันเลือกตั้ง” เมื่อใด และที่แหลมคมกว่านั้นก็คือ ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร

หากชัยชนะเป็นของ “คสช.” ก็เป็นไปตามนั้น

กรณีของพรรคชาติไทยพัฒนาจึงต้องดูกันอีกยาว เหมือนกับการนิยามความหมายของความเป็นพรรค ความหมายของการเป็นคน

คนต้องคนให้ทั่ว คนตั้งแต่หัวถึงตีน จึงจะเรียกว่าคน

พรรคการเมืองหนึ่ง จึงมิได้อยู่ที่การเคลื่อนไหวในลักษณะอันเป็น “ปรากฏการณ์” จักต้องดูที่การตัดสินใจในยามหน้าสิ่วหน้าขวานทางการเมือง จึงจะพิสูจน์พรรคการเมืองนั้นได้

อย่าลืมอนุศาสน์ “การศึกมิหน่ายเล่ห์” เป็นอันขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image