ถนนทุกสายมุ่งสู่อีอีซีž จุดประกายประตูสู่เอเชียž

หมายเหตุ – หนังสือพิมพ์มติชนร่วมกับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกรศ.) จัดสัมมนา อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลกŽ โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน มีภาคธุรกิจ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและประชาชนเข้าร่วมกว่า 700 คน

ประเทศอยู่ในห้วงการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมีการเดินหน้านโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเรื่องใหญ่และเป็นของใหม่ที่ต้องการความเข้าใจ รัฐบาลต้องการความเห็นชี้แนะจากคนไทยด้วยกันว่านโยบายต่างๆ ทำแล้วได้อะไร จะมีมาตรการเยียวยาประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากภายนอกประเทศและภายในประเทศในหลายมิติ จากภายนอกโลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่ชัดเจนมาก คือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเป็นการเปลี่ยนตัวขับเคลื่อนสำคัญ เรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยีแทรกซึมไปในทุกพื้นที่ ทุกวันนี้คนทำธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว หนังสือพิมพ์ก็ต้องปรับตัว เพราะรูปแบบการเสพข่าวสารเปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป วิธีหาข้อมูลและวิธีสื่อสารเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่นำมาซึ่งความท้าทายและโอกาสของทุกประเทศในโลกนี้

แน่นอนว่าประเทศไทยด้วยเช่นกัน

Advertisement

ยกตัวอย่าง อินเตอร์เน็ตเมื่อ 20 ปีก่อน ใช้ค้นคว้าข้อมูลเท่านั้น เพราะอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นมาจากแวดวงการศึกษา คนทำวิจัยใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อเสาะหาข้อมูล แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องของไอโอที คือการใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การผลิต การให้บริการ ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนเร็ว ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนไม่ทัน จะอยู่รอดหรือไม่ยังเป็นคำถาม เมื่อก่อนโทรศัพท์มือถือใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารพูดคุย บริษัทที่ผลิตโทรศัพท์มือถือก็คิดว่าจะผลิตโทรศัพท์มือถือมาขายให้คนใช้ไปประมาณ 10 ปี ปรากฏว่าวันนี้โทรศัพท์มือถือไม่ใช่เพียงเครื่องมือการพูดคุยเท่านั้น แต่ยังมีการส่งผ่านข้อมูลและกลายเป็นเครื่องมือใช้วิเคราะห์ข้อมูล โมเดลบริษัทมือถือก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป เช่น โนเกียออกแบบมือถือมาให้ใช้ 10 ปี แต่เมื่อไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไป สิ่งที่เคยคิดไว้ไม่ตอบโจทย์ โมเดลธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนไป

ขณะที่รถยนต์ ปัจจุบันไทยมองไปที่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และวันนี้รถยนต์ไม่ใช่เพียงยานพาหนะที่ขับเคลื่อนพาไปยังจุดหมาย แต่ภายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทรถยนต์จะกลายเป็นบริษัทที่ใช้ไอโอที สะท้อนว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปในระดับที่กระทบกับชีวิตและกระทบในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังมีการเมืองเข้ามาผสม ทั้งภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรปมีการเบร็กซิท ขณะที่เอเชียถูกจับตาเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ดังนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องบริหารจัดการ

สำหรับภายในประเทศก็ต้องมีการบริการจัดการ ทำอย่างไรให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยปรับเปลี่ยนให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น จากฐานการส่งออกที่ใช้เป็นเครื่องจักร เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วและต้องทำต่อไป วันนี้ต้องกลับมาให้ความสนใจภายในมากขึ้น ต้องสร้างความแข็งแกร่งจากในประเทศ ซึ่งอีอีซีเป็นหนึ่งในโครงการที่จะตอบโจทย์ประเทศไทยได้ว่าจะสร้างความเข้มแข็งจากภายในอย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจมีความสมดุลทั้งภายในและภายนอก เมื่อก่อนพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก หากเกิดเหตุการณ์ที่ผันแปร โดยเฉพาะในโลกยุคใหม่ผลกระทบจะรุนแรง ถ้าเศรษฐกิจภายในแข็งแกร่งก็จะลดผลกระทบลงได้และยังเติบโตต่อไปได้ ขณะที่ปัญหาที่สะสมของประเทศไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ช่องว่างทางรายได้ ช่องว่างการเข้าถึงโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา โอกาสทางด้านอาชีพ ต่อไปจะบั่นทอนความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยด้วยกันเอง
ความท้าทายทั้งภายในและภายนอกที่เกิดขึ้น จึงต้องมาร่วมกันทำยุทธศาสตร์ชาติ คือแผนของประเทศไทยว่าต้องการเดินไปทางไหน เดินไปแล้วในอนาคตจะเติบโตได้ต่อเนื่องยั่งยืนหรือไม่ ขอเน้นคำว่า ยั่งยืนŽ ที่ผ่านมาเติบโตแบบแกว่ง จีดีพีขึ้นลง สะท้อนว่าไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ในอนาคตไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรประเทศไทยต้องโตได้อย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน ซึ่งต้องรับฟังกันและเดินไปด้วยกัน ดังนั้น จึงต้องมีรูปแบบโมเดลในการพัฒนาภายใต้ประเทศไทย 4.0 หรือที่เป็นโรดแมปในการปรับเปลี่ยน ปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข ทั้งนี้ ภาครัฐต้องเป็นผู้เปลี่ยนแปลงก่อน และตามด้วยส่วนอื่นของประเทศ

Advertisement

วันนี้โลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเป็นขั้นตอน ไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปให้ถึงระดับ 4.0 คือระดับที่ประเทศสามารถแข่งขันได้ในโลก มีความเข้มแข็งในตัวเอง เป็นเศรษฐกิจที่มีความสมบูรณ์และเป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ทำให้ประเทศแข่งขันได้ ทั้งนี้ 4.0 ไม่ได้พูดเฉพาะอีอีซี อุตสาหกรรมเท่านั้น หัวใจสำคัญคือเรื่องคน เพราะทำเพื่อคนไทย และให้มั่นใจว่าคนไทยมีทักษะ มีองค์ความรู้ที่จะนำพาประเทศไปได้อย่างยั่งยืน

การเดินหน้าอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม ตั้งแต่หุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้แปลว่าจะมุ่งแต่อุตสาหกรรม แต่ต้องให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรที่เป็นพื้นฐานของประเทศด้วย แต่เป้าหมายหลักคือ การมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเกษตร คือการใช้ผลผลิตการเกษตรต้นทางมาแปรรูปสร้างเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่อาหารไปจนไบโอชีวภาพ ประเทศไทย 4.0 คือเดินไปข้างหน้า แต่ต้องไม่ทิ้งของเก่าที่เป็นฐาน

อีอีซีเป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลมีแนวคิดมาจากประเทศไทย 4.0 ที่ยึดโยงมาจากยุทธศาสตร์ชาติ จึงจำเป็นต้องมีโครงการแบบนี้ อีอีซีไม่ได้เกิดมาจากสุญญากาศ และชี้ว่าจะเอาอย่างนี้อย่างนั้น แต่มีเหตุผล มีความเป็นมาว่า ต้องการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ต้องการสร้างเศรษฐกิจที่สมดุล

อีอีซีจะเป็นพื้นที่นำไปสู่การขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจสำคัญ และการสร้างการต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เกษตร การผลิต อาทิ ยานยนต์สู่ยานยนต์ไฟฟ้า ปิโตรเคมีสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง อาหารไปสู่อาหารเฉพาะทาง เพื่อเพิ่มการเติบโตของอุตสาหกรรม

อีอีซีเป็นพื้นที่ที่ทำให้สามารถโฟกัสได้ว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน หมายความว่าต้องมีการลงทุนใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศต้องการ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตแบบผันผวนและเติบโตช้าลง อาการแบบนี้อาจจะรู้สึกว่าวันนี้อยู่ได้ พรุ่งนี้อยู่ได้ จะต้องไปปรับเปลี่ยนทำไม แต่ที่สุดแล้วต้องปรับเพราะโลกเปลี่ยน ถ้าไม่ปรับขนานใหญ่แบบอีอีซี ไทยจะเสียโอกาสและไม่สามารถจัดการกับความท้าทายใหม่ๆ ได้

อีอีซีเป็นพื้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เกิดในไทยมานานกว่า 30 ปี ที่ผ่านมาไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ที่เป็นระบบแบบนี้ ผมอยากเห็นประเทศไทยก้าวหน้าไป ดังนั้นจึงเกิดอีอีซีขึ้น โดยในหลักการของรัฐบาลกำหนดให้อีอีซีมีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่อื่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดพื้นที่อื่นด้วย การเกษตรมีผลผลิตอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ การสนับสนุนการเกษตรแปรรูปสู่ไบโออีโคโนมี่ก็จะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นของประเทศด้วย การพัฒนารถไฟความเร็วสูงไม่ได้อยู่แต่ในอีอีซี แต่มีแผนเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอื่นและเชื่อมโยงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าผลักดันอีอีซีให้สำเร็จก็สะท้อนความสามารถการพัฒนาประเทศทั้งประเทศด้วย อีอีซีเป็นไปได้ถ้าร่วมมือกัน อีอีซีไม่ได้เริ่มจากศูนย์แต่เชื่อมโยงมาจากการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ของไทยเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การพัฒนาอีอีซีใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีแผนงานรองรับอยู่แล้ว

ในพื้นที่อีอีซีมีท่าเรือ สนามบิน รถไฟอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ เพื่อพัฒนาอีอีซีให้กลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับภูมิภาคและประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียนและทั่วโลก นอกจากนี้ การพัฒนาอีอีซียังให้ความสำคัญในทุกมิติ แม้วันนี้จะพูดถึงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม แต่การพัฒนาอีอีซีเป็นการสร้างเมืองใหม่ และพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งเมือง สังคม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ด้านสาธารณสุข การศึกษา ทุกอย่างจะต้องยกระดับมาตอบโจทย์ เช่น โรงเรียนต้องมีให้พอ หากสร้างเพื่อให้คนเข้ามาในพื้นก็ต้องมีระบบการศึกษารองรับ การสาธารณสุข โรงพยาบาล ต้องมีรองรับคนในพื้นที่ และต้องรักษาวิถีชุมชนของชุมชนเดิม เพื่อสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนที่มีอยู่ได้ จะไปเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือทันทีไม่ได้ ต้องพัฒนาไปในแนวทางที่สอดรับกัน เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ขอย้ำว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ต้องเกิดขึ้น

สำหรับการลงทุน รัฐบาลกำลังเชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก ล่าสุดมีคณะนักลงทุนจากญี่ปุ่น 500 ราย และรัฐบาลจะเร่งเชิญชวนนักลงทุนชาติอื่นๆ เข้ามา เน้นดึงเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาในพื้นที่ นอกจากนี้ จะสร้างเครือข่ายการศึกษา สร้างบุคลากรสายวิชาชีพ โดยวันที่ 23-24 กันยายน กระทรวงศึกษาธิการจะจัดงานพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานอีอีซีจะลงพื้นที่ร่วมด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงอยู่ระหว่างร่วมกับญี่ปุ่นจัดตั้งหลักสูตรการศึกษาแบบยืดหยุ่น โดยจะประสานกับหน่วยงานการศึกษาและเอกชนของ 2 ประเทศเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านอาชีวะมาป้อนอีอีซี

สำนักงานอีอีซีได้มีการลงพื้นที่เพื่อรับความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดมาแล้วถึง 8 ครั้ง และตลอด 2 ปีมีความคืบหน้า มีทีมทำงานที่บูรณาการ มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีระบบศุลกากร กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ มีระบบดิจิทัลอำนวยความสะดวกต่างๆ

ล่าสุด ในด้านกฎหมายมีความคืบหน้า เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.อีอีซีเพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื้อหากฎหมายจะมีการดูแลประชาชน สภาพแวดล้อม และมีสิทธิประโยชน์สำคัญต่างๆ ต่างชาติกำลังจับตาความคืบหน้าด้านกฎหมาย จึงถือเป็นข่าวดี หรือกระบวนการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ในโครงสร้างพื้นฐานก็มีความคืบหน้าเช่นกัน คาดว่าจะเห็นการประมูลได้ช่วงต้นปีหน้า

วันนี้ไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชี้ทางว่า ควรลงทุนอุตสาหกรรมไหน เพื่อให้ประเทศก้าวหน้าอย่างยั่งยืนไม่ถอยหลัง โดยไทยเป็นส่วนหนึ่งของเอเชียที่กำลังเติบโต สิ่งสำคัญคือคนไทยจะทำอย่างไรให้ประเทศเกิดแรงจูงใจ ทำอย่างที่จะอาศัยแรงส่งของเอเชียในการเติบโตหลังจากนี้ ด้วยความร่วมมือกับภาคเอกชนจะเป็นในรูปแบบประชารัฐ ที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนา สนับสนุนงานพัฒนาต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image