‘กคช.’ มุ่งพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อ ‘ผู้อาศัย’ ตอบโจทย์ความต้องการครบครัน

พื้นที่ส่วนกลางกว้างขวาง เน้นให้มีพื้นที่ใช้สอยของชุมชน

เพราะ ที่อยู่อาศัย จัดเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่มนุษย์พึงมีในการดำรงชีวิต

หรืออีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า บ้าน เป็นส่วนหนึ่งของ ชีวิต

โดยบางส่วนจากพันธกิจของ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) คือการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี บริหารและพัฒนาชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัย

ดังจะเห็นได้ว่า บทบาทอันสำคัญยิ่งของ กคช. คือการพัฒนา “ที่อยู่อาศัย” เพื่อ “ผู้อาศัย” อย่างแท้จริง

Advertisement

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กคช.ได้จัดกิจกรรมให้บรรดาสื่อมวลชนเยี่ยมชม โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 1 และ 2 หนึ่งในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 พ.ศ.2557 และ 2558

โดยโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 พ.ศ.2557-2559 เป็นโครงการหนึ่งที่อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) ของ กคช. ที่รัฐบาลอนุมัติให้เร่งดำเนินการจัดสร้าง เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่สามารถผ่อนชำระได้

โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 2

โครงการดี ทำเลงาม ตอบโจทย์ความต้องการผู้อาศัย

ตัว โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 1 และ 2 อยู่บริเวณถนนสายเชียงใหม่-พร้าว ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ บนที่ดินกว่า 70 ไร่

Advertisement

แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 1 เป็นบ้านแฝด 2 ชั้น 2 ห้องนอน ขนาดที่ดินประมาณ 22.75 ตารางวา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% และมีผู้สนใจจองเต็มโครงการแล้ว

ส่วนไฮไลต์อยู่ที่ โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหาร) ระยะที่ 2 เป็นบ้านแฝด 2 ชั้น 2 ห้องนอน ขนาดที่ดินประมาณ 22.75 ตารางวา 390 หน่วย พื้นที่ใช้สอยประมาณ 49 ตารางเมตร ราคาขาย 630,000 บาท

ก่อสร้างไปแล้วประมาณ 90% โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถส่งมอบให้ผู้อาศัยได้ประมาณเดือนมกราคม 2561

ด้าน ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ อธิบายว่า เชียงใหม่เองมีโครงการอยู่กว่า 12 โครงการ 12,000 หน่วย ที่ตั้งทำเลดี และเป็นที่ต้องการของผู้อาศัย ซึ่ง กคช.เริ่มมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เปลี่ยนหน้าต่างบานเกล็ดเป็นอะลูมิเนียม กระทั่งการทาสีที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

“สภาพอย่างนี้ในระดับราคาเช่นนี้เรียกว่าหายากแล้ว เมื่อกี้ผ่านตรงหมู่บ้านหนึ่ง ติดทะเลสาบขาย 18 ล้านบาท ของเราหลักแสนเอง ซื้อติดกัน 10 หลังก็ยังไม่เท่า (หัวเราะ)”

 

ส่วนจุดเด่นอีกอย่างที่ ดร.ธัชพลภูมิใจนำเสนอคือ “ส่วนกลาง” เนื่องจากการจัดพื้นที่ส่วนกลางค่อนข้างกว้างขวาง ผู้อาศัยทุกวัยสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ มีสนามเด็กเล่น สนามฟุตบอล และสวนสาธารณะรองรับ

รวมถึงในปีหน้า ผู้ว่าการ กคช.ยังมีโครงการจัดตั้ง สถาบันพัฒนานักบริหารชุมชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้ความเข้าใจในหลักการบริหารชุมชนอย่างแท้จริง

แก้ไข ปรับเปลี่ยน เพื่อสิ่งที่ดีกว่า

ประเด็นล่าสุดที่ ดร.ธัชพลบอกกล่าวคือ มติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) จากเดิมที่ กคช.ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ.2559-2568)

พร้อมอธิบายว่า เนื้อหาที่บรรจุอยู่ในนั้นระบุถึงเรื่อง กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และ การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (พีพีพี)

“ตัวกองทุนเอง เราจัดตั้งขึ้นเพื่อปล่อยสินเชื่อให้ผู้อาศัยที่ต้องการมีบ้าน แต่กู้แบงก์ไม่ผ่าน แต่ว่าต้องเสียดอกเบี้ยด้วย ซึ่งดอกเบี้ยคงถูก เนื่องจากเงินที่ได้มาเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาล”

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ

ส่วนโครงการพีพีพีนั้น ดร.ธัชพลกล่าวว่า ล่าสุดได้รับนโยบายของ ท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เรื่องบ้านคนจน ซึ่ง กคช.ทำโครงการร่วมกับกรมธนารักษ์และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยมีการหารือกันบางส่วนแล้ว

“แนวทางที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีคือต้องร่วมทุน ส่วนนี้จะเป็นบ้านประชารัฐจำนวนประมาณล้านห้า ซึ่งภายใน 20 ปี เราต้องหาวิธีการทำให้ได้ตามเป้าที่รัฐบาลกำหนดไว้

“อีกแนวทางหนึ่งคือการร่วมกับท้องถิ่น โดยเอกชนเองอาจมีกำลังในระดับภาคนครหลวง ซึ่งท้องถิ่นเองอีกหน่อยคงมีหน้าที่ในการสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนมากขึ้น”

ในอนาคต บทบาทของ กคช.คงเปลี่ยนไปเป็นผู้กำกับนโยบาย ซึ่งอาจสร้างด้วยบางส่วน แต่อีกส่วนกำกับนโยบาย หรืออาจไปร่วมทุนกับเอกชน แต่ไม่ต้องสร้างเอง

คืบหน้า ‘แฟลตดินแดง’

จากปัญหาการปรับปรุงและพัฒนา “แฟลตดินแดง” เรื้อรังนานนับสิบปี

วันนี้ ผู้ว่าการ กคช.ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า ขณะนี้การก่อสร้างในเฟสแรก แปลง G บริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิต ตัดถนนอโศก-ดินแดง คืบหน้าไปแล้วกว่า 20% โดยก่อสร้างขึ้นไปถึงประมาณชั้น 8 และเป้าหมายตามที่แจ้งต่อท่านนายกรัฐมนตรีคือแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561

“ผู้อาศัยเดิมสามารถขึ้นไปบนตึกได้ภายในเดือนสิงหาคม จากนั้นเราจะรีบดำเนินการในเฟสที่ 2, 3, 4 ต่อไป เป็นการรองรับผู้อาศัยเดิมที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 6,200 หน่วย และผู้อาศัยใหม่ที่จะเข้ามาอีก 13,000 หน่วย”

โดยตอนนี้มีการพาผู้อาศัยในข่ายที่จะย้ายเข้าแฟลต 18-22 เข้าอบรมเรียนรู้กฎกติกามารยาท รวมถึงพิจารณากฎเกณฑ์ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เช่น ห้ามทิ้งขยะในที่ห้ามทิ้ง จัดระเบียบการจอดรถ การเลี้ยงสัตว์

“กลุ่มนี้เป็นกลุ่มตัวอย่างแรกที่ขึ้นไป หลังจากนั้นโครงการในระยะ 2,3,4 เรารีบดำเนินการ เพราะรับบัญชาจากท่านนายกฯมาแล้วว่าให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว”

อีกไม่นานเกินรอ

ดร.ธัชพลขณะพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมบ้านตัวอย่าง
โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ใช้เวลา 8 ปี จำนวน 20,292 หน่วย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image