เสียงจากชาวประมงพื้นบ้าน เมื่อทะเลใกล้วิกฤต สู่แนวคิด ‘ธนาคารปูม้าชุมชน’

วิกฤตทางทะเล นับเป็นปัญหาสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุจากภัยคุกคามทางธรรมชาติ และภัยคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสารพิษ มลพิษ รวมถึง “การทำประมงเชิงพาณิชย์”

ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเลถูกทำลาย ปริมาณสัตว์น้ำที่เคยมีมากมายมหาศาลลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง บางชนิดถึงขั้นสูญพันธุ์ไปก็มี

สำหรับ ต.ระวะ อ.ระโนด จ.สงขลา เริ่มมองเห็นปัญหานี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มชาวประมงที่จับสัตว์น้ำได้ลดลง

จากเดิมในช่วงปี 2550 ชาวประมงจับปูม้าได้ครั้งละ 30-40 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 70 บาท และจับปลาทูได้ครั้งละประมาณ 100 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 20-30 บาท แต่ในปี 2560 ชาวประมงจับปูม้าได้เพียงครั้งละ 5-6 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 300 บาท และจับปลาทูได้ครั้งละ 1 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 80 บาท

Advertisement

ชาวประมงบางคนถึงขั้นต้องเลิกอาชีพ และอพยพออกจากชุมชนไปทำงานในตัวเมืองแทน

ชาวประมงพื้นบ้าน บ้านระวะ

เดือนสิงหาคม ปี 2559 ชาวประมงกลุ่มหนึ่งจึงร่วมมือกันหาแนวทางฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับคืนมา เป็นที่มาของ “กลุ่มธนาคารสัตว์น้ำชุมชน ประมงพื้นบ้าน บ้านเลค่าย อ.ระโนด จ.สงขลา” ซึ่งเป็น “ธนาคารปู” แห่งแรกของอำเภอระโนด โดยมีเครือข่ายพันธมิตรมาช่วยเหลือและให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) และหน่วยงานภาคเอกชน อย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยทีมกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาสนับสนุนแนวคิดการอนุรักษ์ทำธนาคารปู

นพพร นิลพงศ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการประมงโดยชุมชน เจ้าบ้านครั้งนี้ พาคณะเข้าเยี่ยมชมพร้อมเล่าถึงที่มาของ “ธนาคารปู” แห่งนี้ว่า ตำบลระวะมีคนที่ทำอาชีพประมงพื้นบ้านประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวนั้นยึดอาชีพประมงพื้นบ้านมาตั้งเเต่บรรพบุรุษ มีปูให้จับมาโดยตลอด เเต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาปูเริ่มน้อยลงมาก จนเริ่มน่าวิตกกังวล เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกัน คือ 1.ภาวะโลกร้อน 2.การทำประมงเกินศักยภาพ 3.ความไม่เข้าใจของชาวประมงว่าทำไมต้องดูแลรักษาและอนุรักษ์ เช่น การจับปูไข่นอกกระดองไปขาย

Advertisement

“ดังนั้น แนวทางการอนุรักษ์ คือ ถ้าจับปูไข่นอกกระดองได้ จะเอามาพักไว้ที่ “ธนาคารปู” เพื่อให้ฟักไข่ปูก่อน แล้วค่อยคืนแม่ปูกับชาวประมงที่เป็นเจ้าของ ส่วนลูกปูก็จะปล่อยลงทะเล เพื่อเป็นดอกเบี้ยให้กับชาวประมงในอนาคต” นพพรอธิบาย

นพพร นิลพงศ์

สำหรับ “ธนาคารปู” ก่อตั้งเป็นอาคารขนาดเล็ก ภายในมีถังเพาะฟักลูกปูสีฟ้าวางเรียงรายกันหลายสิบใบ แต่ละใบมีแม่ปูไข่นอกกระดอง มีสายยางเส้นเล็กต่อเข้ากับเครื่องผลิตออกซิเจน นพพรหยิบแม่ปูที่มีไข่อยู่เต็มตะปิ้งขึ้นมาพร้อมอธิบายว่า เริ่มแรกไข่ปูจะเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม ประมาณ 7 วันจากนั้นจะเป็นสีเทา อีกประมาณ 4 วันจะเป็นสีดำ จากนั้น 1-2 วันไข่จะหลุดออกมา จะเรียกว่าระยะซูเอี้ย อายุ 1-10 วัน จะเข้าสู่ระยะเมกาโลปา อายุ 10-15 วัน ก่อนจะเป็นลูกปูม้าวัยอ่อน (Young Crab) อายุ 15-25 วัน และจะเป็นลูกปูม้า เมื่ออายุ 4 เดือน จากนั้นจะสามารถสืบพันธุ์ได้ระยะตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ซึ่งปูม้าแต่ละตัวสามารถผลิตไข่ จำนวนมากกว่า 2 ล้านฟอง

“สำหรับธนาคารปู เราจะปล่อยปูบริเวณชายทะเลในระยะซูเอี้ย ที่ต้องปล่อยตั้งแต่ระยะแรกเพราะเราไม่มีงบประมาณด้านอาหาร หากทิ้งไว้นานมันจะกินกันเอง ซึ่งเรามองว่าจำนวนของไข่ปู 1 ตัว ถ้ามีโอกาสรอด 10% จะได้ปูมากกว่า 2 แสนตัว”

ไข่ปูม้านอกกระดองระยะแรก มีสีเหลืองหรือสีส้ม
ไข่ปูม้านอกกระดองระยะสุดท้ายจะมีสีดำ ใช้เวลา 1-2 วันไข่จะเริ่มหลุดเข้าสู่ระยะซูเอี้ย
ปูม้าระยะซูเอี้ย ก่อนปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

นพพรบอกอีกว่า หลังปล่อยปูระยะหนึ่งเริ่มเห็นผลชัดเจน มีลูกปูเพิ่มขึ้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์จากเดิม แต่ปริมาณก็ยังน้อยอยู่ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ตอนนี้ต้องรอให้ลูกปูโตแล้วค่อยจับ คือวิธีชาวประมงพื้นบ้าน จะเว้นระยะให้สัตว์น้ำเจริญเติบโต ตอนนี้ปูยังไม่โตก็ออกไปจับปลาข้างนอก พอปลาที่โตเต็มวัยหมดก็ค่อยมาจับปูเพื่อรอให้ปลาโต สลับกันไปเป็นวงจร

“แต่ตอนนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันอยู่ อย่างเรือประมงพาณิชย์ มีการลากอวนปูทีหนึ่ง 200-300 กิโล ติดปูที่ไข่นอกกระดองไปเยอะ ดังนั้น ต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ ในเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเล เพราะตอนนี้ทรัพยากรที่เคยมีน้อยลงจนน่าวิตกแล้ว”

นพพรบอกอีกว่า เพื่อแก้วิกฤตทรัพยากรทางทะเลและอนุรักษ์ปูม้า ทางกลุ่มจึงได้ผลักดันโครงการ “1 ตำบล 1 ธนาคารปู” ขึ้นมา โดยเริ่มต้นในปี 2560 ตอนนี้เริ่มขยายไปเกือบทุกตำบลที่ติดชายฝั่งทะเลในอำเภอระโนดแล้ว แต่ความหวังก็อยากให้โครงการนี้เป็นโมเดลของจังหวัด ขยายไปทุกอำเภอของจังหวัดสงขลา

“แต่ผมมองว่าการก่อตั้งธนาคารปูยังไม่ใช่ความสำเร็จ เป้าหมายของผมอยู่ที่ชาวประมงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นพพรอธิบาย

เตรียมนำปูม้าระยะซูเอี้ยปล่อยลงทะเล
ปล่อยปูม้าระยะซูเอี้ยลงทะเล

เพราะในฐานะตัวแทนประมงพื้นบ้าน นพพรมองว่า อาชีพประมงเป็นอาชีพที่น่าสงสาร มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีความมั่นคง ไม่มีสวัสดิการ ปีหนึ่งออกเรือได้แค่ 100 กว่าวัน ที่เหลือ 200 กว่าวันที่ทำประมงไม่ได้ ก็ไม่มีใครช่วยเหลือชดเชย หรือประกันราคาให้ แล้วชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่ไม่มีอาชีพเสริม หลายคนไม่มีที่ไป ไม่มีที่นา ไม่มีสวน มรดกที่ตกทอดมามีแต่บ้านกับเรือและท้องทะเล เท่านั้น

“แถมยังมีภาระต้องใช้จ่าย ต้องลงทุน เช่น ซื้อน้ำมัน ซ่อมเเซมเรือ รวมถึงอวน ที่ต้องเปลี่ยนทุกปี ใช้เงินไม่ต่ำกว่าแสนบาท บางปียังไม่ได้ทุนค่าอวนด้วยซ้ำ ดังนั้น ชาวประมงกว่า 90% จึงเป็นหนี้ ผมจึงหวังว่าธนาคารปูที่เกิดขึ้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มความมั่นคงให้กับชาวประมง”

“นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่ช่วยอนุรักษ์ปลา เช่น โครงการทำบ้านปลา โครงการปะการังเทียม เพื่อให้ปลามีบ้าน มีที่เพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ปลาด้วย เพราะขณะนี้ทรัพยากรทางทะเลลดลงทุกชนิดไม่ใช่เเค่ปู แต่ปลาก็น้อยลง ดังนั้น เราจึงขอความร่วมมือให้บ้านปลาเป็นจุดห้ามทำประมง เป็นเขตอนุรักษ์ เพื่อให้ลูกปูและลูกปลาขนาดเล็กได้เข้ามาอยู่” นพพรทิ้งท้าย

ด้วยความหวังว่าอนาคตท้องทะเลจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image