250 ปีเสียกรุงศรีอยุธยา สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560 หลากแง่มุมประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจลืมเลือน

มหาชนล้นหลามอย่างไม่ต้องสงสัยเฉกเช่นทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา สำหรับงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ซึ่งปีนี้จัดที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ย่านตลิ่งชัน ในหัวข้อ “250 ปีเสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 2310-2560” เนื่องในโอกาสครบรอบ 250 ปี ที่กษัตริย์กรุงเก่าแพ้พ่ายแก่หงสา ก่อนที่พระเจ้าตากสินจะสร้างกรุงธนบุรีริมฝั่งเจ้าพระยา หลังรบพุ่งสุดกำลังกระทั่งกอบกู้บ้านเมืองขึ้นมาอีกครั้ง

บรรยากาศมากมายไปด้วยนักวิชาการสายสังคมศาสตร์ นักศึกษา ประชาชนคนไทยผู้ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ ไหนจะเซเลบรุ่นเล็ก กลาง ใหญ่ ที่ไม่พลาดมาร่วมงานสำคัญนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้รับเกียรติจาก แมรี โจ. แบร์นาร์โด-อารากน เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย อีกด้วย

‘แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี’

ภาษิตคุ้นหูที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เพ็ชรี สุมิตร ราชบัณฑิต ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หยิบยกขึ้นกล่าวในการเปิดงาน โดยคาดหวังสร้างทัศนคติทางการศึกษา ขยายพรมแดนความรู้ เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา

“กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมานานถึง 417 ปี สร้างความเจริญรุ่งเรือง เป็นอาณาจักรสำคัญ ส่วนกรุงธนบุรี แม้มีช่วงเวลาเพียง 15 ปี แต่เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพในการกู้ชาติจากพม่า การศึกษาประวัติศาสตร์ให้รอบด้าน ต้องอาศัยการค้นคว้าเพิ่มเติมด้านวิชาการให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์ ในการนี้มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส จำกัด ร่วมกับมูลนิธิโครงการตำราฯ จึงจัดเสวนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้น สนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าในการค้นคว้า วิจัย หาข้อมูลเพิ่มเติมด้านวิชาการต่อไป”

Advertisement

ด้าน ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย ก็มองไกลออกไปนอกเส้นพรมแดน โดยกล่าวว่า นี่คือกิจกรรมที่มูลนิธิโตโยต้ามีโอกาสร่วมอย่างจริงจังเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ให้ครอบคลุมสาขาต่างๆ โดยเฉพาะการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่รวมถึงอาเซียน โดยหวังว่าจะทำให้มีความเข้าใจ และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ

ผู้สนใจร่วมงานเต็มหอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา กระตุ้นความคึกคักในแวดวงการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์อย่างดียิ่ง

จากนั้น ถึงไฮไลต์ที่หลายคนรอคอย นั่นคือการปาฐกถานำ โดย ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ทว่าอาจารย์ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จึงสวมผ้าซิ่นลายสวยรับหน้าที่อ่านคำปาฐกถาแทน ก่อนเข้าสู่การอภิปราย

เมืองตาก ไม่ใช่ (ตัว) เมืองตาก
กับนัยจาก 3 นามพระเจ้ากรุงธนฯ

ในภาคเช้า มีการอภิปรายหัวข้อ “เสียกรุงศรีอยุธยา สถาปนากรุงธนบุรี” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงประเด็นคำว่า “เมืองตาก” ของพระเจ้าตาก ว่าไม่ใช่ตัวเมืองตาก หรือเทศบาลเมืองตากอย่างที่มักเข้าใจผิดกัน แต่คือ “บ้านตาก” ต่างหาก โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางเดินทัพพระเจ้าตากใน พ.ศ.2317 กลับจากเชียงใหม่ แม่ทา แม่สัน ห้างฉัตร พระบรมธาตุลำปาง นายาง ท่าเรือ เมืองเถิน ใช้เวลา 2 วันถึงพระตำหนักเมืองตาก วันพฤหัสบดี ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 ย่ำฆ้องค่ำ ประทับ ณ หาดทรายบ้านตาก พระยาเชียงทองทูลว่าพม่าเข้ามาทางด่านแม่ละเมา พระเจ้าตากสั่งให้ส่งคนลงไปบ้านระแหง บอกให้กองทัพหนึ่งยกไปตีสกัด

Advertisement

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ยังระบุว่า แม้ไทยจะตำหนิพม่ามากมาย แต่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ เราได้รู้เรื่องราวของอยุธยาจากฝั่งพม่าเป็นจำนวนมาก รวมถึงแผนที่พระนครหลวงกรุงธนบุรี ซึ่งเขียนขึ้นโดยสายลับพม่าอีกด้วย

บรรยากาศการอภิปรายในช่วงเช้า หัวข้อ “เสียกรุงศรีอยุธยา สถาปนากรุงธนบุรี”

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ขึ้นเวทีบอกว่า อยุธยาก่อนล่มสลายถือว่าร่ำรวยมาก แต่ไม่รู้จักการจัดการความมั่งคั่งของตัวเอง เมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสิน ทรงถูกจีนซึ่งเป็นชาติที่ต้องการให้ผู้อื่นพินอบพิเทาทางการเมืองเรียกในนามต่างๆ กัน ได้แก่ “กันเอินชื่อ” (พ.ศ.2311) ซึ่งมีความหมายในเชิงที่ยังไม่ยอมรับและตำหนิ

ต่อมา เอกสารจีนเรียกพระเจ้าตากว่า “พีหย่าสิน” (พญาสิน ? พ.ศ.2313) ซึ่งยังมีความ “ก้ำกึ่ง”

จากนั้นจึงค่อยเป็นที่ยอมรับชื่อแซ่จากจีน โดยเรียกว่า “เจิ้งเจา” หรือแต้เจียว

หลักฐานเอกสารชี้ให้เห็นว่า จีนได้รับการติดต่อจากพระเจ้าตากอยู่ตลอด แต่ในช่วงแรกๆ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากจีน ต่อมาจึงค่อยได้รับการยอมรับในภายหลังเมื่อถูกเรียกว่า เจิ้งเจา “น้ำเสียง” ในเอกสารจีนเริ่มเปลี่ยนไปในทางบวก

เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จีนยังชื่นชมว่าสยามไม่ว่างเว้นการถวายบรรณาการ

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ยังทิ้งท้ายว่า พระเจ้าตากสินซื้อกระทะจากจีนเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าอาจใช้ในการนำมาหลอมปืนใหญ่ และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่สนุกยิ่ง

เปิดเอกสารฮอลันดาเล่าบรรยากาศ ‘ก่อนกรุงแตก’
ระบุพม่า ‘ทำทุกอย่าง อย่างเยือกเย็น’

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องถ้วยอันดับต้นๆ ของเมืองไทย กล่าวว่า การมองประวัติศาสตร์อยุธยา อย่ามองเฉพาะประเทศไทย แต่ต้องดูความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วย สิ่งที่อยุธยาสูญเสียหลังพ่ายแพ้แก่กองทัพพม่าไม่ใช่เพียงซากปรักหักพัง แต่เป็นอารยธรรมที่งดงามตระการตา นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์ผลกระทบจากเหตุการณ์เมืองจีนสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งทำให้กลุ่มคนจีนลี้ภัยมาตั้งรกรากในดินแดนสยาม เกิดการขาดแคลนสินค้าจีน รวมถึงมีการค้าขายกับกลุ่ม “ล้มชิงกู้หมิง” อีกทั้งสำเภาสยามที่ค้าขายในระบบบรรณาการก็ได้ผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ โดยในยุคพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบว่าอยุธยามีการรับคนจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก มีการส่งเครื่องกระเบื้องจีน 2,288 ชิ้น ไปพร้อมบรรณาการแก่ฝรั่งเศส ซึ่งในยุคนั้นสยามคือ “มหานครแห่งบูรพา” ของที่ส่งไปเป็นสินค้านานาชาติ มีของล้ำค่าจากดินแดนต่างๆ มากมาย

มาถึงคิว ผศ.ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงหลักฐานจากเอกสารฮอลันดา โดยระบุว่า พ่อค้าช่วยส่งผ่านความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมไทยได้มาก สิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในปีท้ายๆ ของกรุงศรีอยุธยาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ พม่าทำทุกอย่างอย่างเยือกเย็น โดยสยามไม่ได้พยายามหยุดยั้ง ในขณะที่พม่าติดปืนบนเรือ ตั้งค่ายเตรียมการโจมตี ต่อมาได้ทำลายหมู่บ้านแถวปากแม่น้ำ โกดังสินค้าของบริษัทวีโอซี ทำให้สูญเสียสินค้าจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเล่าอีกว่าผู้คนมากมาย ทั้งเจ้านายและคนธรรมดาหอบข้าวของหนีไปกัมพูชา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

จากนั้นในภาคบ่าย เป็นการแบ่งห้องสัมมนาหัวข้อเฉพาะ ได้แก่ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา : ว่าด้วยวรรณกรรมคำทำนาย กับการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและการเมืองแห่งยุคสมัย”, “พระเจ้าอุทุมพร กับชาวอโยธยาในพม่า”, “อวสานพระเจ้าตาก” และ “เศรษฐกิจและสังคมสยามจากอยุธยาถึงกรุงธนบุรี”

แต่ละห้องคนเนืองแน่นจนเบียดร่างแทรกได้ยากยิ่ง

หนังสือวิชาการมากมายที่เกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์, มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ด้วยความคาดหวังที่จะขยายพรมแดนความรู้ สร้างความเข้าใจอันนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
คำทำนายที่เกาะกุมใจไทยทุกยุค

ในงานนี้ยังมีโมเมนต์ที่ทำเอาขนลุกเกรียวกันทั้งหอประชุม เมื่อมีการขับเสภาให้ฟังกันสดๆ พร้อมเครื่องดนตรีปี่พาทย์ประโคมเร้าอารมณ์จับขั้วหัวใจทั้งเสียงร้องและเนื้อหาจาก “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ที่ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ใช้หลักโวหารศาสตร์ในการไขปม โดยระบุว่าความโน้มน้าวอยู่ที่การใช้โวหารเปรียบเทียบเชื่อมโยงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น “มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด มิใช้เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ”

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวได้ตั้งคำถามว่า มีอะไรที่ทำให้เพลงยาวไม่ถึง 100 บรรทัดที่เกาะกุมจิตใจคนไทยมาถึงทุกวันนี้ ทั้งที่การโหนปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไม่น่าจะทำให้ถูกท่องจำสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ขับเสภาเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

นอกเหนือจากธรรมชาติ ยังมีความวิปริตในสังคม ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในสังคมกลายเป็นความวิปริตไปด้วย อย่างท่อนที่ว่า “ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์ ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย”

ชูศักดิ์ยังระบุว่า เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ไม่ได้พูดถึงแค่การล่มสลาย แต่ยังชี้ถึงความหวังว่าอยุธยาเป็นเมืองที่ “เกษมสุข” ทว่าในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เช่นนั้นเสียทีเดียว

ด้าน ดร.กฤษฏิ์ เลกะกุล จาก โซแอส ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ นักมานุษยดนตรีวิทยา มองว่า การใช้กวีนิพนธ์เป็นศิลปะที่เข้ามาประกอบกับคำทำนายเป็นยุทธวิธีทางการเมืองสมัยพระนารายณ์ที่มีผลต่อความคิดของประชาชน ซึ่งในปัจจุบันเราก็ยังใช้วิธีนี้อยู่ ฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงก็มีการใช้เพลงที่มีความแตกต่างกัน

“ศิลปะ ดนตรี ปัจจุบันก็เกี่ยวข้องกับการเมือง เรายังคงใช้วิธีเดิมกับการเมือง นำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และได้ผล อย่างการนำบทประพันธ์ หรือเพลงดนตรีมาใช้ประโยชน์ทุกทางทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง บทกวี ดนตรี มีพลังในการสื่อสาร รับรู้ และขับเคลื่อน สังคม เพลงยาวพยากรณ์กับเหตุการณ์สมัยอยุธยา และปัจจุบันคือการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง” ดร.กฤษฏิ์สรุป

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาสัมมนาสุดเข้มข้นซึ่งยังมีประเด็นน่าสนใจอีกมากมาย ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://textbooksproject.org และ www.facebook.com/textbooksproject4th

แผนที่กรุงธนบุรี เขียนโดยสายลับพม่า ถูกจำลองมาจัดแสดงในวันงานอย่างชวนตื่นตา
นิทรรศการ 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา สถาปนากรุงธนบุรี ซึ่งเคยจัดแสดงในวันงานสัมมนา ถูกย้ายมาติดตั้งให้ชมฟรีแล้วตั้งแต่วันนี้ที่ทางเข้าหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image