สุดยอดเด็กไทย! อนาคต “นักบินอวกาศ” นาซา

“อวกาศ” ไม่เพียงแต่เป็นดินแดนอันกว้างใหญ่ ไร้จุดสิ้นสุด แต่บนอวกาศยังเปี่ยมไปด้วยความรู้อันไม่สิ้นสุดรอการค้นคว้าอยู่เช่นกัน

ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และไทยแลนด์ สเปซ แอนด์ เอโรโนทิกส์ รีเสิร์ช จัดตั้งโครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย ให้เหล่าเด็กและเยาวชนร่วมชิงทุนการศึกษาด้านการสำรวจอวกาศครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นปีที่สอง

ซึ่งผู้ชนะจะได้ศึกษาหลักสูตรสำรวจอวกาศเบื้องต้นแบบเร่งรัด 10 วัน ที่ศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ที่ฐานทัพเรดสโตน อาร์เซนอล ในเมืองฮันส์วิลล์ มลรัฐอลาบามา และยังได้รับทุนการศึกษาปริญญาตรีจาก สจล.ด้วย โดย กลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าว ณ อเมริกัน ฮับ ชั้น 9 อาคารวิทยุทาวเวอร์ เอ

กลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนสมาคมศิษย์เก่าศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ เล่าว่า สเปซแคมป์ถือเป็นหลักสูตรสำรวจอวกาศเบื้องต้น โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ซึ่งเปิดรับเด็กจากทั่วโลกเข้าไปศึกษาทดลองใช้ชีวิตก่อนบิน ศึกษาจรวดรุ่นใหม่ในโครงการเดินทางไปยังดาวอังคาร ฝึกการเดินอวกาศแบบไร้น้ำหนัก ฝึกการนำยานสำรวจลงจอดที่สถานีอวกาศเคนเนดี้ บังคับยานสำรวจอวกาศต่างๆ รวมไปถึงการฝึกดำน้ำในชุดอวกาศในสภาพไร้น้ำหนัก ที่จะทำให้เด็กๆ มีประสบการณ์และได้ใช้ความรู้ที่มีแก้ปัญหาอย่างเต็มที่

Advertisement
กฤษณ์ คุนผลิน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้เหล่ารุ่นพี่แชมป์ปีแรกมาบอกเล่าประสบการณ์ด้วย

เริ่มต้นด้วยที่หนึ่งของโครงการ เจิ้น-ธีรเมธ กันต์พิทยา ชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เล่าว่า เหมือนกับเด็กหลายๆ คนที่ชอบเรื่องราวของไดโนเสาร์ แล้วก็สงสัยว่าทำไมพวกมันถึงตาย ทำให้เราไปศึกษาเรื่องเอเลี่ยนต่อ จนรักในเรื่องราวของวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะฟิสิกส์ และสมัครไปร่วมโครงการนี้ ซึ่งก็ได้ประสบการณ์หลายอย่าง ในแคมป์จะแบ่งทีมร่วมกับเพื่อนชาติต่างๆ อย่างสหรัฐ ออสเตรเลีย ได้นำความรู้แก้ปัญหาตามภารกิจแต่ละวัน เช่น สร้างเครื่องกันความร้อนของยานอวกาศของเราให้ใช้ได้จริง หรือออกไปซ่อมอุปกรณ์ตามคำสั่งเพื่อน

เจิ้น-ธีรเมธ กันต์พิทยา

“วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนได้ การไปร่วมแคมป์ก็ทำให้ได้เห็นว่าการศึกษาแต่ละที่ดีมาก ทุกคนเรียนรู้เพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตจริงๆ ทำให้เราต้องศึกษาเพิ่มเติม รวมถึงด้านภาษาอังกฤษที่สำคัญอย่างมากด้วย” เจิ้นเผย

Advertisement

อีกหนึ่งผู้ชนะ ชญานิษฐ์ โอภาสเสรีผดุง ชั้น ม.6 โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ผู้หญิงหนึ่งเดียวจากไทย เล่าว่า ด้วยความที่คุณพ่อชอบดูสารคดี ทำให้กลายเป็นคนชอบดูสารคดีวิทยาศาสตร์โดยปริยาย เพราะเข้าใจง่าย ภาพสวย จนโตขึ้นเมื่ออยากรู้อะไรก็เข้าไปค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตได้ ชอบทฤษฎีฟิสิกส์ต่างๆ และคิดว่าการได้ไปนาซาน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดี

ชญานิษฐ์ โอภาสเสรีผดุง

“เมื่อไปถึงก็ได้เปิดโลกมากกว่าที่คิด ได้ดำน้ำ คิดโปรเจ็กต์ปล่อยจรวด ใส่ชุดนักบินอวกาศไปซ่อมดาวเทียมต่างๆ ซึ่งโชคดีที่ได้เป็นไฟลต์ เอ็นจิเนียร์ ที่ได้ซ่อมจริงๆ ยังได้รู้ว่าผู้หญิงก็ทำอะไรได้เหมือนกับผู้ชาย แม้อวกาศจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่แท้แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัว หากเราศึกษาจริงจัง ก็จะนำเอาความรู้มาสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้” ชญานิษฐ์กล่าว 


ซึ่งในปีที่ผ่านมา นอกจากจะมีผู้ชนะ 3 คนจากโครงการแล้ว ยังมีคนไทยอีก 2 คนที่ไปร่วมฝึกประสบการณ์ที่สเปซแคมป์ด้วยทุนส่วนตัว

หนึ่งในนั้นคือ มอส-ติณหพัชร์ ปฏิมาวิรุจน์ วัย 10 ขวบ ที่ไปร่วมแคมป์มา 2 ครั้ง เผยว่า ด้วยความที่ชื่นชอบเรื่องอวกาศตั้งแต่ 5 ขวบ จึงได้ไปดูพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับอวกาศทั้งไทยและต่างประเทศ ได้เห็นความก้าวหน้าที่มุ่งจะไปดาวอังคารของนาซา เรียนรู้โลกต่างๆ ทำให้รู้ว่าความรู้เป็นสิ่งไม่สิ้นสุด เหมือนกับอวกาศที่กว้างใหญ่

มอส-ติณหพัชร์ ปฏิมาวิรุจน์

เด็กๆ ที่สนใจ จะต้องมีอายุ 12-30 ปี ไม่จำกัดสัญชาติ ซึ่งทั้งหมดต้องสอบข้อสอบสเปซ แคมป์ แอพติจูด เทสต์ จำนวน 100 ข้อ 180 นาที ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 21 คน แบ่งเป็นชายและหญิง จะได้เข้าแข่งขันรอบ สเต็ม แคมป์ ที่ สจล. โดยต้องแข่งประดิษฐกรรมและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อหา 3 คนสุดท้ายที่เป็นตัวแทนประเทศไทย สมัครได้ตั้งแต่วันนี้-15 ตุลาคม ที่ www.spacecampthailand.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image