อาสาสมัครทหารพราน (1)

หมู่นี้ข่าวการสูญเสียของอาสาสมัครทหารพรานดูเหมือนจะถี่ขึ้น แต่ผมไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านสักกี่คนจะรู้เรื่องอาสาสมัครทหารพรานอย่างพิสดารเพียงใด ขอสารภาพว่าผมเป็นคนหนึ่งที่รู้เรื่องอาสาสมัครทหารพรานน้อยมาก และเมื่อได้ข่าวว่าอาสาสมัครทหารพรานเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบ่อยครั้งเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมก็คิดว่าผมควรจะรู้เรื่องเกี่ยวกับอาสาสมัครทหารพรานให้มากขึ้น และถ้าสามารถที่จะตอบแทนบุญคุณอาสาสมัครทหารพรานที่ไปสละชีวิตเพื่อบ้านเมืองอย่างไรได้บ้างผมก็จะทำ

จากการค้นคว้าศึกษาด้วยตนเอง ผมทราบว่าอาสาสมัครทหารพรานตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2521 เพื่อแก้ปัญหาการก่อการร้าย โดยเฉพาะการก่อการร้ายของคอมมิวนิสต์ในบริเวณชายแดนของประเทศ และตั้งขึ้นเพื่อลดภาระของทหารประจำการเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนั้นถูกส่งเข้าไปและถูกตรึงอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน จนเป็นที่วิตกว่าหากมีการรุกรานจากภายนอก กองทัพจะไม่สามารถเผชิญกับปัญหาได้อย่างเต็มภาคภูมิ กองทัพบกจึงขอและได้รับอนุมัติให้ตั้ง โครงการชุดปฏิบัติการพิเศษทหารพรานชายแดน ไทย-กัมพูชาŽ ขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2521 โครงการดังกล่าวนี้ได้รับอนุมัติอย่างเป็นทางการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2521 กองทัพบกจึงถือว่าวันที่ 18 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยทหารพราน

ปรากฏว่าเมื่อตั้งขึ้นแล้วหน่วยทหารพรานสามารถยับยั้งการขยายอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และสามารถลดระดับการต่อสู้ด้วยอาวุธของผู้ก่อการร้ายลงได้จนเป็นที่น่าพอใจ กองทัพบกจึงมอบหมายให้หน่วยทหารพรานร่วมกับหน่วยทหารประจำการทำการป้องกันประเทศตามแนวชายแดน และก็ปรากฏว่าหน่วยทหารพรานสามารถปฏิบัติภารกิจนั้นได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งยังใช้งบประมาณน้อยด้วย กองทัพบกจึงได้จัดตั้งหน่วยทหารพรานขึ้นให้มีฐานะเช่นเดียวกับหน่วยทหารทั่วๆ ไป

หลังจากนั้นหน่วยทหารพรานจึงได้รับอนุมัติให้รับสมัครและจัดตั้งประชาชนเข้าไปเป็นอาสาช่วยรบทหารพราน (อชร.ทพ.) ซึ่งต่อมากลายเป็นอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) ดังที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบัน

Advertisement

การรับสมัครอาสาสมัครทหารพรานนั้น กองทัพบกให้กระจายทำทั่วทุกภาค เพื่อให้ได้คนในพื้นที่เข้าไปเป็นอาสาสมัคร เนื่องจากเห็นว่าคนในพื้นที่จะรู้จักประชาชนและปัญหาของท้องถิ่นนั้นๆ ดีกว่า ผู้สมัครต้องมี สัญชาติไทย อายุ 18-30 ปี มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมปีที่ 3 และต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 30 วันก่อนจะได้รับการส่งไปปฏิบัติหน้าที่

อาสาสมัครทหารพรานไม่มีเงินเดือนมีแต่ค่าตอบแทนชั้น 1 เป็นเงินเดือนละ 4,630 บาท ชั้น 13 เงิน 8,040 บาท (ทั้งหมด 13 ชั้น) นอกนั้นยังได้รับค่าเสบียงสนามและเบี้ยเลี้ยงสนาม 75 บาท ค่าครองชีพชั่วคราวชั้น 1 เป็นเงิน 3,070 บาท ถึงชั้น 13 เงิน 1,500 บาท และได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองและครอบครัวด้วย ข้อมูลข้างต้นนี้เป็นของอาสาสมัครทหารพรานนาวิกโยธินกองทัพเรือ เชื่อว่าตัวเลขสำหรับอาสาสมัครทหารพรานสังกัดอื่นก็คงไม่แตกต่างกันนัก

จะเห็นว่าค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่อาสาสมัครทหารพรานได้รับนั้นมีปริมาณพอสมควร และไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับอาสาสมัครทหารพราน ปัญหาที่แท้จริงนั้นคือปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่สนาม โดยเฉพาะในด้านยุทธวิธีของอาสาสมัครทหารพราน

Advertisement

อันเป็นเรื่องค่อนข้างยาวและจะขอนำไปเขียนในสัปดาห์หน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image