‘อีอีซี’ อนาคตใหม่เศรษฐกิจไทย ชูญี่ปุ่น..แม่เหล็กดึงทั่วโลกปักฐาน

ผ่านไปสดๆ ร้อนๆ กับงานสัมมนา “อีอีซี แม่เหล็กเศรษฐกิจไทยเชื่อมโลก” จัดโดยมติชน เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันฉายภาพความคืบหน้าการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างคับคั่ง

งานนี้นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ยืนยันว่าอีอีซีคืบหน้ามาเป็นลำดับตั้งแต่การจัดทำแผนงานและนโยบาย ตั้งสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) มาได้ 6 เดือนแล้ว จนขณะนี้ชักจูงให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน หากการลงทุนครั้งนี้ขยายตัวได้ 10% เชื่อว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวได้ถึง 5% ต่างจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนขยายตัวเพียง 3% ทำให้จีดีพีขยายตัวเพียง 2-3% ที่เน้นดึงดูดต่างชาติให้มาลงทุนอีอีซีไม่ใช่เพราะคนไทยไม่มีเงินทุน แต่เพราะต้องการให้ต่างชาติมาลงทุน พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยด้วย

จากข้อมูลของ สกรศ.ระบุว่า อีอีซีเป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาและยกระดับเชิงพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่อยอดจากอีสเทิร์น ซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ซึ่งทำมาตลอด 30 ปี

เป้าหมายการลงทุนในอีอีซีมี 4 กลุ่ม 15 โครงการ และ 5 โครงการหลัก ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 โครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมี 10 อุตสาหกรรม กลุ่มที่ 3 ท่องเที่ยว และกลุ่มที่ 4 การสร้างเมืองใหม่ โดย 15 โครงการจะกระจายไปอยู่ใน 4 กลุ่มหลัก ในส่วน 5 โครงการหลัก จะเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญระยะแรกที่ต้องทำให้เกิดขึ้นก่อน ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง รถไฟความเร็วสูง อุตสาหกรรมไฮเทคสำหรับอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและการสร้างเมืองใหม่

Advertisement

-คลอดพ.ร.บ.อีอีซีเอื้อลงทุน
ในส่วนของการโหมให้เกิดการลงทุนจริงนั้น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบริหารการพัฒนาอีอีซี ระบุว่า ในวันที่ 28 กันยายนนี้ รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … (พ.ร.บ.อีอีซี) เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบเร็วที่สุดคือ ปลายปีนี้ และช้าสุดคือ ต้นปีหน้า

“รัฐบาลมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากทั่วโลกที่สนใจอีอีซีอยู่แล้ว เกิดความเชื่อมั่น และมีจำนวนนักลงทุนขนาดใหญ่ของโลกเข้ามาลงทุนในอีอีซีภายในปีนี้ประมาณ 30 บริษัท”

นายอุตตมย้ำว่า อีอีซีไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมที่เราแข็งแกร่งอยู่ก่อนแล้ว เช่น จากอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ยานยนต์ไฟฟ้า ปิโตรเคมีสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง ขณะเดียวกันจะมีอุตสาหกรรมบางอย่างที่มีจุดเริ่มในอีอีซี เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งในพื้นที่อีอีซีมีท่าเรือ สนามบิน รถไฟอยู่แล้ว แต่ต่อไปจะเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองใหม่ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

Advertisement

-เร่งพีพีพีดึงเม็ดเงินลงอีอีซี
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เพื่อให้การลงทุนแบบพีพีพีในพื้นที่อีอีซีเกิดเร็วขึ้นกว่าพีพีพีปกติ มีการลดระยะเวลาดำเนินการลงเหลือ 10 เดือน จาก 20 เดือน ตั้งแต่เตรียมโครงการถึงทำสัญญาก่อสร้าง คาดว่าระเบียบของพีพีพีในอีอีซีจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนกันยายนนี้ โดยจะหยิบโครงการสำคัญขึ้นมาทำก่อน ได้แก่ โครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง โครงการก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบังส่วนต่อขยาย รวมมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ในขั้นตอนการออกทีโออาร์ คาดจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า คัดเลือกเอกชนให้เสร็จกลางปีหน้า และเริ่มลงทุนก่อสร้าง

ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังเร่งเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ล่าสุดเมื่อวันที่ 11-13 กันยายน นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) นำคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 500 ราย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน และลงพื้นที่ศึกษาดูงานอีอีซี ถือเป็นคณะดูงานที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์

-ยุ่นดันฮับซัพพลายเชนจ์เออีซี
โดยก่อนหน้านี้นายฮิโรชิเกะมองว่าเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ประสบความสำเร็จได้ คือ คอนเนกเต็ด อินดัสทรี (Connected Industry) คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยระบบฐานข้อมูลหรือดาต้า แนวทางนี้ญี่ปุ่นจะนำมาใช้กับไทย เป้าหมายในลำดับต่อไป คือ การผลักดันไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ซัพพลายเชนจ์ของภูมิภาคอาเซียน

นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) มองว่า ไทยกำลังกลับมาเป็นเป้าหมายในการลงทุนของอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม 4.0 มีเครื่องมือสำคัญ คือ อีอีซี เชื่อว่านโยบายนี้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนไทยแล้ว และกำลังจะเข้ามาลงทุนหลังจากนี้

นายโซจิ ซาคาอิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ พบว่าประมาณ 40% ของบริษัทสมาชิกแสดงความสนใจที่จะลงทุนในอีอีซี และมีแนวโน้มจะลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต หากโครงการลงทุนของรัฐบาลมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนารถไฟความเร็วสูงในพื้นที่ ญี่ปุ่นมองว่าไทยมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น จึงมีความเป็นไปได้ที่ทางญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนด้านอาหารเสริมและอาหารสุขภาพ อย่างไรก็ตามในระยะแรกอาจเป็นลักษณะการเข้ามาตั้งบริษัทซื้อขายสินค้าเพื่อสำรวจตลาดก่อน จากนั้นจึงจะพิจารณาว่าจะมีการตั้งโรงงานหรือไม่

-ญี่ปุ่นแม่เหล็กดึงชาติอื่นลงทุน
ด้านภาคเอกชนของไทย นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า หอการค้าไทยประเมินการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอีอีซีของภาครัฐเฉลี่ย 3 แสนล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปี รวมกับการลงทุนต่างๆ จากภาคเอกชนแล้ว จะทำให้จีดีพีเพิ่มประมาณ 1-1.5% ต่อปี ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ดียิ่งขึ้น ขณะนี้พบว่าเริ่มมีนักลงทุนต่างชาติให้ความเชื่อมั่นและประกาศแผนการลงทุนในอีอีซีบ้างแล้ว เช่น แอร์บัส โบอิ้ง และอาลีบาบา

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ระบุว่า การมาเยือนของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และความชัดเจนของการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ทำให้ภาคเอกชนมั่นใจ และเป็นการส่งสัญญาณไปถึงประเทศอื่นๆ ที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยได้เร็วขึ้น เชื่อว่าการพบปะครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดในอนาคตและเป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาล โดยเฉพาะการผลักดันอีอีซีให้บรรลุตามแผนเป็นรูปธรรมได้เร็วที่สุด เชื่อว่าจากนี้การลงทุนจากญี่ปุ่นและทั่วโลกจะเข้าไทยมากขึ้น ช่วยดึงเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้เกิน 4% ต่อปี

ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังยืนยันว่า ขณะนี้มีบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นจะเริ่มลงทุนในอีอีซีแล้ว เช่น บริษัท เด็นโซ่ จากญี่ปุ่น จะพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ใช้อินเตอร์เน็ตในการดำเนินการทั้งระบบ และบริษัท ฮิตาชิ มีความสนใจพัฒนาบิ๊กดาต้าในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้บริการบริษัทที่เข้าลงทุนในอีอีซี

-เดินหน้าโรดโชว์ชักจูงญี่ปุ่น
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ได้รับการตอบรับที่ดี ยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดใกล้ระดับ 4 แสนล้านบาทแล้ว จากเป้าหมายทั้งปีนี้ 6 แสนล้านบาท ปัจจัยสำคัญมาจากการปรับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ที่สอดรับกับนโยบายสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบกับการกำหนดพื้นที่ลงทุนในอีอีซี เชื่อว่าผลจากการเยือนไทยของญี่ปุ่นจะทำให้ยอดขอลงทุนจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นแน่นอน ปัจจุบันสัดส่วนการขอส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติอันดันหนึ่งยังคงเป็นญี่ปุ่น คิดเป็น 54% และมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในอนาคต

“มาตรการส่งเสริมลงทุนในอีอีซีที่บีโอไอจะทำแพคเกจใหม่ เพื่อทดแทนแพคเกจปัจจุบันที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้ ขณะนี้ยังไม่ได้ออกรายละเอียดของแพคเกจ กำลังศึกษาปรับปรุงให้ดีที่สุดก่อน ในส่วนแผนการโรดโชว์ไปญี่ปุ่น เพื่อชักจูงการลงทุนมาในพื้นที่อีอีซี จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมต่อเนื่องไปจนสิ้นปีนี้ โดยจะไปหลายเมืองหลัก เช่นโตเกียว โอซาก้า นาโกย่า และกระจายไปยังเมืองอื่นๆ ที่ยังไม่ค่อยได้ไป เช่น ฟุกุโอกะ มิเอะ เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยส่งเสริม ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ และวัตถุดิบอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง” นางหิรัญญากล่าว

อีอีซีถือเป็นก้าวสำคัญของอนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย การลงทุนจากญี่ปุ่นจะเป็นส่วนสำคัญให้อีอีซีเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่จะเกิดขึ้นจริงมากน้อยเพียงใด ยังต้องติดตาม!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image