เสียงสะท้อนจากนิทานเรื่องมดน้อย ของลุงตู่ ต่อการปฏิรูปการศึกษา : โดย เพชร เหมือนพันธุ์

เรื่องนี้ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 เมื่อ พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัตร ผู้ช่วยโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี นำข้อความจากการประชุม ครม. ออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้นำนิทานเรื่อง มดน้อย มาเล่าให้ที่ประชุม ครม.ฟัง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลทุกคนได้กลับไปทบทวนปรับใช้ในการทำงานในกระทรวงของตนเอง นิทานที่นายกฯนำมาเล่านี้หนังสือพิมพ์มติชนและอีกหลายฉบับได้นำออกเผยแพร่แล้ว แต่อยากนำเสนอเป็นแนวคิดในการปฏิรูปการศึกษาและต้องยกเครดิตให้แก่ท่านนายกรัฐมนตรีลุงตู่ ที่เอานิทานมาเป็นบทเรียน

ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการกำลัง “ปิ๊งไอเดีย” รื้อโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการอยู่ทุกวันนี้ ช่างละม้ายคล้ายกับนิทานเรื่องนี้อย่างแท้จริง ปัญหายิ่งใหญ่ที่ยังแก้ไขไม่ตกของกระทรวงศึกษาธิการคือ การปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลผลิตสอดคล้องกับบริบทของสังคมในยุคดิจิทัล ให้สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคคน Millenniam หรือคน Jen Y ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันนี้ดูแล้วคุณภาพของผลผลิตยังห่างไกลไปจากเป้าหมาย ไปไม่ทันยุคทันสมัย ตกยุคไปแล้ว ทั้งๆ ที่กลไกทุกส่วนขององค์กรทำงานอย่างเต็มกำลัง แต่ไม่เกิดผลผลิตตามที่ต้องการ ดูแล้วเหมือนคนโง่ขยัน เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศชาติ

กระทรวงศึกษาธิการคือหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อผลผลิต โดยมีโรงเรียน คือสถาบันการศึกษาคือครูบาอาจารย์ทั่วประเทศเป็นเครื่องมือ มีหน้าที่สร้างเยาวชนคนรุนใหม่ให้มีคุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการก็เปรียบเสมือนสิงโต มีหน้าที่เป็นหัวหน้างาน ส่วนโรงเรียนและครูก็คือมดน้อย ที่จะต้องทำงานให้เกิดผลผลิตอย่างสนุกสนาน ส่วนเจ้าหน้าที่ในสำนักงานต่างๆ ที่อยู่ในตำแหน่งที่เหนือโรงเรียนขึ้นไปก็มีหน้าที่ติดตามควบคุมตรวจสอบกำกับการทำงานของโรงเรียน แต่ไม่ได้สร้างผลผลิตได้เอง ในนิทานก็คือ แมลงสาบ ควาย เห็บหมา หอยทาก ตัวเงินตัวทอง (ตัวเหี้ย)

โจทย์คำถามที่ควรจะเป็นโจทย์ของประเทศหรือของสังคมคือ ทำไมโรงเรียน (โรงงานอุตสาหกรรมสร้างคุณภาพมนุษย์) ในประเทศนี้ จึงผลิตสินค้าไม่มีคุณภาพออกมาสู่ตลาดได้ตลอดเวลา ทำไมไม่ปล่อยให้มดน้อยได้ทำงานได้อย่างสนุกสนานเหมือนเดิม เพื่อให้สามารถเพิ่มคุณภาพของผลผลิตได้ด้วยตัวของเขาเอง ไอเดียที่รัฐบาลหรือเจ้ากระทรวง “ปิ๊ง” ออกมาแต่ละครั้ง มันกลายเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับมดน้อย ทำให้ครูต้องห่างจากนักเรียนออกไกลไปเรื่อยๆ

Advertisement

น่าคิดนะครับ

ถ้ารัฐบาลกล้า “ปิ๊งไอเดีย” ตัดนายบางตำแหน่งออกไปแล้วทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ปล่อยให้โรงเรียนมีส่วนในการตัดสินใจเองแก้ปัญหาได้เอง หรือให้สามารถควบคุมดูแลกันเองโดยตรง จะไม่ดีกว่าหรือครับ ปัจจุบันนี้ นายบางตำแหน่งมีแต่หน้าที่แต่ไม่มีอำนาจ บางตำแหน่งมีอำนาจแต่ไม่มีหน้าที่ เช่น ศึกษาธิการจังหวัดเกิดขึ้นมามีอำนาจบริหารงานบุคคล แต่เข้าไปดูแลได้ไม่ถึงโรงเรียน เพราะมีสำนักงานเขตพื้นที่ดูแลอยู่ ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่มีหน้าที่ดูแลโรงเรียน แต่ไม่มีอำนาจจะบังคับบัญชา หรือไม่มีอำนาจ “บังคับ” และไม่มีอำนาจ “บัญชา” ไม่สามารถ “ให้คุณ ให้โทษ” ได้แล้วจะเดินเข้าไปในโรงเรียนได้อย่างไร ส่วนครูและโรงเรียนที่เป็นมดน้อยก็ขาดแรงบันดาลใจ ไร้แรงขับเคลื่อน เพราะยังสับสนกับ โครงสร้างใหม่นี้อยู่
แรงขับแรงบันดาลใจในการทำงานมักจะเกิดขึ้นจากแรงขับภายในของแต่ละบุคคลแต่ละองค์กร แต่จะให้เกิดขึ้นจากอิทธิพลภายนอกนั้นจะเกิดได้ยาก ปัจจัยที่จะผลักดันให้แรงบันดาลใจเกิดขึ้นจากภายในจะเป็นแรงปรารถนาของพวกเขาเอง งานจึงจะเดินต่อได้ต่อเนื่อง ประณีต ละเอียด มีคุณภาพ ส่วนปัจจัยจากภายนอก ถ้าหยุดกระตุ้นหยุดแรงส่งงานก็จะหยุดลงทันทีเหมือนเราลากเข็นรถ ถ้าเราหยุดลากเข็นรถ รถมันก็จะหยุดเคลื่อนที่ แต่แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นภายในนั้นจะเปรียบเสมือนพลังที่เกิดขึ้นในตัวเอง เหมือนเราปล่อยนกให้บินไปในท้องฟ้า พอเราโยนมันขึ้นไปในอากาศแล้วนกมันก็จะสามารถบินต่อไปได้ด้วยตัวของมันเอง

ขอยกเอานิทานเรื่อง มดน้อย ของนายกฯลุงตู่ กลับมาเล่าสู่ท่านที่ยังไม่ได้ฟังหรือฟังแล้วได้ฟังอีกครั้งดังนี้ครับ …

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วยังมีมดน้อย (มดงานตัวน้อย) มาทำงานแต่เช้าทุกวัน เมื่อมาถึงหน้างานก็ลงมือทำงานทันทีโดยไม่รอช้า มดน้อยสร้างผลงานได้มากมายและก็มีความสุขกับการทำงานมาก สิงโตซึ่งเป็นหัวหน้างานก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมมดน้อยจึงทำงานได้ผลงานที่มีคุณภาพอย่างมากมายโดยไม่ต้องมีหัวหน้ามาควบคุมการทำงานได้เช่นนี้ และคิดต่อไปว่าถ้ามดน้อยมีหัวหน้างานมากำกับดูแลงานจะทำให้ผลงานมีคุณภาพยอดเยี่ยมขนาดไหน

แล้ววันหนึ่งสิงโตก็เกิด “ปิ๊งไอเดีย” ขึ้นมา “คิดใหม่ทำใหม่” โดยอาศัยสมมุติฐานที่ว่า ขนาดมดน้อยไม่มีหัวหน้ามาดูแลยังทำงานได้ขนาดนี้ ถ้ามดน้อยมีหัวหน้าขึ้นมาควบคุมดูแลให้คำปรึกษา มดน้อยต้องทำงานได้อย่างมากมายโดยไม่ต้องสงสัย คิดได้แล้วลงมือทำเลย สิงโตจึงไปจ้างแมลงสาบมาเป็นหัวหน้างานของมดน้อย แมลงสาบเป็นหัวหน้างานที่มีความสามารถในด้านการเขียนรายงานอย่างยอดเยี่ยมมาก เมื่อมาถึง แมลงสาบจึงเริ่มต้นปรับปรุงการทำงานใหม่ด้วยการติดตั้งระบบการลงเวลาทำงานของมดน้อย ติดตั้งเครื่องตอกบัตร มดน้อยจะไปไหนมาไหน จะลา มาสาย หรือไปธุระส่วนตัว ไปกินอาหารกลางวัน จะต้องทำบันทึกขออนุญาต งานเริ่มเพิ่มความสลับซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้น แมลงสาบจึงต้องการผู้ช่วย เพื่อให้มาช่วยพิมพ์งาน ชงกาแฟ เดินเอกสาร ส่งจดหมาย และคอยควบคุม (จับผิด) การทำงานมดน้อย

เมื่อมีการเขียนรายงานเพิ่มมากขึ้น แมลงสาบจึงไปขอสิงโตให้จ้างควายมาเป็นเลขาฯส่วนตัว สิงโตปลื้มกับการทำรายงานของแมลงสาบมาก ที่ได้รายงานถึงแนวโน้มต่างๆ ขององค์กรไปให้พิจารณา จนทำให้แมลงสาบได้หน้า

เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน แมลงสาบจึงขอซื้อคอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เน็ตเพื่อนำมาบันทึกข้อมูลทำรายงานให้สิงโต แน่นอนต้องมีแผนกไอทีตามมา แมลงสาบจึงขอจ้างตัวเห็บหมามาเป็น IT Manager ตัวเห็บหมาเองก็ต้องจ้างลูกมือและจัดซื้ออุปกรณ์ซ่อมบำรุงมาพร้อม

หลังจากนั้นมามดน้อยเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้กับการทำงานในระบบใหม่ที่มัวแต่ทำรายงานเอกสารมากมาย และมัวแต่ทำรายงานการประชุม เสียเวลาไปโดยผลงานไม่เกิด

แมลงสาบสังเกตเห็นมดน้อยทำงานช้ากว่าเดิม เพราะต้องทั้งประชุมและเขียนรายงาน จึงได้ขอสิงโตให้ช่วยจัดหาหัวหน้าแผนกมาคอยดูแลและจดรายงาน สิงโตจึงไปจ้างเอาตัวทากมาเป็นหัวหน้าแผนกงานของมดน้อย ตัวทากทำงานเชื่องช้ามาก แต่ดูเหมือนว่าทำงานละเอียด แต่ความจริงแล้วคือทำงานช้าๆๆ มากๆๆ ตัวทากออกกฎใหม่ ห้ามมดงานพูดคุยหัวเราะกันในขณะที่ทำงาน ให้มุ่งทำงานอย่างเดียว

จากนั้นมามดน้อยก็ทำงานไร้เสียงหัวเราะ ไร้แรงบันดาลใจ ไร้ทัศนคติ รู้สึกเบื่อหน่าย ทั้งต้องรายงาน ทั้งต้องประชุมทุกวัน แผนกของมดน้อยจึงทำงานได้น้อยลง ตัวทากเห็นปัญหาจึงได้ของบประมาณสำรวจสภาพการทำงานที่เหมาะสมจากสิงโต จึงไปจ้างตัวเหี้ย (ตัวเงินตัวทอง) มาเป็นที่ปรึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของมดน้อย ตัวเหี้ยสรุปได้โดยทันทีว่า ที่แผนกของมดน้อยมีการจ้างคน (มด) มากเกินไป ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดี สินค้าไม่มีคุณภาพ สาเหตุเกิดจากปัญหาในแผนกของตัวมดน้อยนั่นเอง

ตัวทากสรุปว่า มดน้อยเป็นมดงานที่ไร้แรงจูงใจและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทำงาน สมควรลงโทษ มดน้อยจึงเป็นเหยื่อที่จะต้องถูกปลดออกจากงานเป็นตัวคนแรก ลาก่อนมดน้อย

กระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นขณะนี้คือ การปฏิรูปการศึกษาจะต้องปฏิรูปที่ตัวครูก่อน แล้วท่านจึงเกิด “ปิ๊ง” ไอเดียใหม่ คือ จัดคูปองการศึกษาอบรมให้ครู ให้ครูไปแสวงหาความรู้เข้ารับการอบรมทักษะใหม่ๆ ได้เองในช่วงของการหยุดเรียน เสาร์-อาทิตย์ หรือปิดภาคเรียน ไม่ให้เขตพื้นที่หรือกระทรวงศึกษาธิการจัดอบรมครูอีก บัดนี้ได้เกิดหลักสูตรการจัดอบรมครูในสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ หลักสูตรได้รับการอนุมัติแล้วกว่า 4,000 หลักสูตร มีข่าวว่ามีบางหลักสูตรมีเงินทอนด้วย จริงไม่จริงยังไม่ทราบ ผลการฝึกอบรมตามคูปองต้องรอดูผลในปีหน้า

วิธีปฏิรูปการทำงานดูแล้วก็คล้ายๆ กับในนิทานเรื่องมดน้อย คิดใหม่ทำใหม่ โดยเอาปัญหาจากหน้างานมาคิดการมาวางแผน คงจะต้องแก้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จนกว่าจะหาคนผิดพบ

ครับ.. การสร้างบ้านคงไม่ต้องหวังพึ่งนายช่างก่อสร้างบ้านเพียงอย่างเดียวนะครับ เจ้าของบ้านต้องมีเป้าหมายก่อนว่าจะสร้างบ้านแบบไหน แบบบ้านชาวเขา แบบบ้านญี่ปุ่น แบบบ้านจีน แบบบ้านสเปน หรือแบบบ้านฝรั่ง หรือแบบบ้านที่ล้ำหน้าอนาคต เมื่อหาได้ได้แบบที่เหมาะสมแล้วจึงจะคิดหาช่างก่อสร้างที่มีความชำนาญตามแบบบ้านมาลงมือก่อสร้าง (ปกติช่างก่อสร้างก็มีอยู่ในสังคมอยู่แล้ว) ได้แบบบ้าน ได้ช่างก่อสร้างแล้ว จึงไปหาคนมาคอยควบคุมงานก่อสร้าง มาตรวจสอบกำกับและประเมินผลการทำงาน

แบบบ้านก็เปรียบได้กับหลักสูตรการศึกษา นายช่างก่อสร้างก็เปรียบได้กับครูอาจารย์ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ควบคุมงานก็คือ กระทรวงศึกษาธิการหรือเขตพื้นที่การศึกษาหรือศึกษาธิการจังหวัด ส่วนจะออกแบบวางแผนการควบคุมอย่างไรก็ต้องดูว่าจะใช้ผู้ควบคุมกี่คน จะตรวจสอบติดตามการทำงานก่อสร้างอย่างไรจึงจะอำนวยความสะดวกให้ช่างก่อสร้าง จะใช้สัดส่วนคนควบคุมงานต่อนายช่างเป็นสัดส่วนเท่าใด กี่คนจึงจะควบคุมถึง หรือจะได้ไม่เป็นอุปสรรคหรือเป็นการเพิ่มภาระให้กับช่าง

ครับอ่านแล้วฟังแล้ว อย่าให้นิทานของท่าน นายกฯลุงตู่ ต้องเสียของ

เพชร เหมือนพันธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image