ประธานกสม. ยกเหตุเซตซีโร่กสม.ขัดพระราชอำนาจ ยื่นบิ๊กตู่ ชงศาลรธน.วินิจฉัย

ประธาน กสม. ยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ชงศาล รธน.วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.กสม. ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เผยเหตุผลขัดพระราชอำนาจ และให้ต่างชาติมีอิทธิพลเหนือรัฐไทย ชี้ร่างมาตรา 24 วรรคสอง ยังเปิดช่องต่างชาติแทรกแซง กสม.ได้อีกด้วย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 148(2) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ…. (ร่าง พ.ร.ป.กสม.) ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ประธาน กสม.ได้ส่งหนังสือให้นายกฯพิจารณามาแล้วฉบับหนึ่ง

โดยหนังสือของประธาน กสม.ระบุว่า ร่าง พ.ร.ป.กสม.มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ปัญหาการให้ กสม.พ้นจากตำแหน่งทันทีทั้งหมด(เซตซีโร่) ตามร่างมาตรา 60 โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล(หลักการปารีส) เกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง กสม. ทั้งๆ ที่ กสม.ชุดปัจจุบันได้รับการสรรหามาโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย รวมทั้งคำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตลอดจนได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ชุดปัจจุบัน และได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งมาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 2558 การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้เหตุผลโดยอ้างหลักการปารีสที่เป็นของต่างประเทศมาเซตซีโร่ กสม. ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเช่นนี้ เป็นการให้ความสำคัญแก่ต่างชาติจนเข้ามามีอิทธิพลอยู่เหนือแผ่นดินไทย ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมในส่วนของหลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะของบุคคล

ข่าวแจ้งว่า 2.การให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาให้ กสม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะตามมาตรา 40 วรรคสาม ประกอบมาตรา 20(4) และวรรคสาม, มาตรา 21 ของ พ.ร.ป.กสม. เป็นการถอดถอน กสม. ซึ่งเป็นอำนาจของศาลฎีกาตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ และขัดต่อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามตามมาตรา 246 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

Advertisement

และ 3.ข้อห้าม กสม.รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.ป.กสม. ห้ามเฉพาะรับจากองค์กรเอกชน(เอ็นจีโอ) แต่ไม่ได้ห้ามรับจากองค์การระหว่างประเทศ รัฐต่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ขณะเดียวกันในวรรคสอง กลับมีข้อยกเว้นให้ กสม.สามารถรับเชิญจากองค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศไปประชุมหรือสัมมนาโดยผู้เชิญออกค่าใช้จ่ายให้ได้ ทั้งที่จะต้องมีข้อห้ามในวรรคหนึ่งก่อนจึงจะมีข้อยกเว้นในวรรคสองได้ อนึ่ง การมีบทบัญญัติในเรื่องนี้ในร่าง พ.ร.ป.กสม. จะเป็นการตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ กสม.ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 247 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ

ข่าวแจ้งว่า ตามขั้นตอนหลังจาก สนช.ประชุมลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.กสม. ตามร่างของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายในวันที่ 14 ก.ย.แล้ว ต่อมาวันที่ 15 ก.ย. เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.กสม.ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งตามมาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญ นายกฯมีระยะเวลา 25 วันเพื่อพิจารณากรณีตามมาตรา 148 ถ้านายกฯสงสัยก็ให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธาน สนช.ทราบโดยไม่ชักช้า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.ป.กสม.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และข้อความดังกล่าวเป็นสาระสําคัญ ก็ให้ร่างนั้นเป็นอันตกไป หรือถ้าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่ข้อความสำคัญ ก็ให้เฉพาะข้อความนั้นตกไป และให้นายกฯนำร่าง พ.ร.ป.กสม.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81 ต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image